January 22, 2025

ปั้นอุทัยธานีโมเดล ส่งเสริมปลูกผักปลอดภัย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการนำมาตรฐาน GAP มาใช้เป็นแนวทางในการผลิตพืชผักปลอดภัย พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรลดละการใช้สารเคมีทางการเกษตร และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค และยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นที่ต้องการของตลาด

จังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ป่าสงวนหวงห้ามของรัฐ โดยนำที่ดินในเขตพื้นที่ตำบลระบำ อำเภอลานสัก 3,239-2-39 ไร่ มาจัดสรรแบ่งให้ชาวบ้าน 486 ราย เข้าอยู่อาศัย และจัดเป็นแปลงเกษตรให้รายละ 4.5 ไร่ และส่งเสริมให้เกษตรกร ในพื้นที่รวมกลุ่มจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งทาง คทช. จังหวัดอุทัยธานี ได้อนุญาตให้สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด เช่าที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งยกเว้นค่าเช่า 3 ปี เพื่อให้สหกรณ์บริหารจัดการ ในรูปแบบแปลงรวม ใช้ระบบสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมามอบหนังสือสัญญาเช่าที่ดินให้กับสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559

ปัจจุบัน พื้นที่ คทช. ตำบลระบำ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พื้นที่ที่เคยเป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง กลับพลิกฟื้นกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยมีสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการตลาด การผลิต และการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงให้เป็นที่พึ่งของเกษตรกรสมาชิก เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการ พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกร ในพื้นที่ตำบลระบำ ซึ่งพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ได้มีการวางระบบการผลิตรวมกันให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต มีการบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนพื้นที่ตำบลระบำ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืชผัก หม่อนไหม พืชไร่ ทำประมง และเลี้ยงสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเสริมให้สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ใช้หลักตลาดนำการผลิต เป็นแนวทางในการส่งเสริมด้านการเกษตรให้กับสมาชิก

โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ ได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางอมรรัตน์ ปัญญาสิทธิ์ ซึ่งก่อนที่จะเข้ามาร่วมโครงการนี้ เคยอยู่ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พืชที่ปลูกเสียหาย ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ เพราะมีช้างป่าและสัตว์ป่าลงมากินผลผลิต ต่อมาได้ลงมาอยู่ในพื้นที่ คทช. ลองปลูกบวบ ในพื้นที่ 1 ไร่ ในเวลา 45 วัน เก็บผลผลิตขายได้ 82,746 บาท ตอนนี้กำลังขยายการผลิตด้วยการทำผักกางมุ้ง และปลูกพืชผักรอบๆ บ้าน ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ทั้งรายได้รายวัน รายเดือน และรายปี มีเงินเก็บเล็กๆ น้อยๆ สะสมไว้ลงทุนรอบหน้า

 

ส่วน นายวีรชาติ ช้างชุ่ม เรียนจบ ชั้น ป.6 เริ่มทำการเกษตรตั้งแต่ออกจากโรงเรียน แต่เดิมอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยคต เป็นพื้นที่ป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ ทำเกษตรโดยปลูกมันสำปะหลังกับข้าวโพด ใช้เวลา 10 เดือน ได้เงินไม่ถึง 10,000 บาท ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อได้ที่ดินในพื้นที่ คทช. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นโฉนดรวมของ ส.ป.ก. แม้จะขายสิทธิ์ไม่ได้ แต่สามารถทำกินไปจนชั่วลูกชั่วหลาน จึงหันมาปลูกผัก ทดลองปลูกมะระจีนผสมผสานกับพืชผักชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ 2 ไร่ ขุดสระ ใช้น้ำระบบสปริงเกลอร์ เพี่อเป็นการประหยัด สารชีวภาพและปุ๋ยหมักบำรุงดิน ลงทุนเพียง 15,000 บาท ใช้เวลา 45 วัน เก็บขายได้ 90,000 บาท ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง แม้บางครั้งราคาพืชผลของพืชบางชนิดจะตก ก็ยังมีพืชชนิดอื่นมาทดแทน ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ได้เชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด สนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ คทช. ระบำ ปลูกผัก ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีเกษตรกร 25 ราย หันมาทำแปลงผัก ปลูกบวบ แตงร้าน ถั่วฝักยาว แฟง ฟักทอง และกวางตุ้ง ใช้ระยะเวลา 3 เดือน เกษตรกรจะรวบรวมผักทุกชนิดส่งขายที่ตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน ตั้งแต่ ปี 2561 วงเงิน 1,983,000 บาท เพื่อเป็นจุดรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตจากสมาชิกและเกษตรกรในชุมชนสู่ผู้บริโภคหรือพ่อค้า โดยสหกรณ์ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ และบริหารตลาดให้เกิดความยุติธรรมในการซื้อ-ขาย โดยเปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ภายในตลาดมีเกษตรกรรายย่อย 15 ราย นำผักจากแปลงของตนเองมาวางขาย และยังมีเกษตรกรอีกกว่า 60 ราย รวบรวมผักบรรจุใส่ถุงขนาดใหญ่มาขายส่งให้กับพ่อค้าและผู้บริโภค เบื้องต้น คาดว่าปริมาณผักที่จะจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ ประมาณ 5 ตัน/วัน ในอนาคตทางสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด จะส่งเสริมให้สมาชิกทั้งสองสหกรณ์ปลูกผักได้มาตรฐาน GAP ทุกแปลง และจะพัฒนาแพ็กกิ้งให้สวยงาม น่าซื้อและคงความสดใหม่ของผักให้อยู่ยาวนาน รวมถึงจะเชื่อมโยงกับห้างโมเดิร์นเทรดเพื่อส่งผักของสมาชิกสหกรณ์ไปจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด และสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด เป็นการสร้างเครือข่ายแบบพี่ช่วยน้อง ทั้งด้านการผลิตและการตลาด มีการจัดการระบบที่ดีและสร้างมาตรฐานให้ดี สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจเกษตรกรในพื้นที่ว่า เมื่อปลูกมีที่ขายแน่นอน เนื่องจากมีตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้โดยใช้เวลาผลิตในระยะสั้น หากเกษตรกรปลูกพืชผักหมุนเวียน ก็จะมีรายได้ทุกวัน ทำให้มีเงินใช้จ่ายในครอบครัวและช่วยลดปัญหาเรื่องหนี้สินให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายและเน้นเรื่องส่งเสริมการนำมาตรฐาน GAP มาใช้เป็นแนวทางในการผลิตพืชผักปลอดภัย พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรลดละการใช้สารเคมีทางการเกษตร และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค และยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นที่ต้องการของตลาด และในอนาคตหากมีปริมาณผักมากพอ อาจเชื่อมโยงกับห้างโมเดิร์นเทรดเพื่อกระจายผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ในนาม “ผักปลอดภัยอุทัยธานี”

“หลังจากที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่ปี 2559 วันนี้ได้มาติดตามผลการดำเนินงานและเก็บรวบรวมความเป็น “อุทัยธานีโมเดล” ที่มีการส่งเสริมการผลิตแบบครบวงจร มีการรวมกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ในตอนนี้พบว่าเกษตรกรมีความพร้อมในเรื่องของการผลิตที่ได้คุณภาพ และการเปิดตลาดครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการเปิดแห่งแรกที่จะมีการรวบรวมสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังตลาดในกรุงเทพฯ ซึ่งตลาดสินค้าเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายสินค้าในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งหลังจากที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมสนับสนุนด้านการพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกสหกรณ์ จนถึงขณะนี้เกษตรกรสามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ซึ่งภาครัฐเป็นเพียงผู้เริ่มต้น ความสามัคคีกลมเกลียวอยู่ที่สหกรณ์เป็นผู้ขับเคลื่อน ที่สำคัญการดำเนินโครงการครั้งนี้จะขยายผลไปสู่การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่อีกด้วย ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในอำเภอลานสักแล้วจับจ่ายซื้อสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพในตลาดแห่งนี้ได้ ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายอุทัยธานีโมเดลไปยังจังหวัดอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรทุกพื้นที่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” นางสาวมนัญญา กล่าว

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 03 September 2019 14:06
ชนารดี ชัยศิริเมฆินทร์

Author : เกาะติดข่าวเกษตร วิถีของเกษตรพอเพียงแนวทางสู่ความยั่งยืน เกษตรผสมผสาน ทฤษฎีแห่งการใช้น้ำ การเลี้ยงสัตว์ การเพาะพันธ์ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เครื่องมือเครื่องจักรเกษตร ฯลฯ

Related items

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM