December 03, 2024

KI Sugar GROUP ลงทุน 4 พันลบ. ขยายกำลังการผลิตครั้งใหญ่

บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด หรือ กลุ่มน้ำตาลเคไอ ชูแผนลงทุนต่อเนื่องกว่า 4,000 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิต ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำเชื่อมพิมาย และธุรกิจในเครือเคไอ พร้อมเร่งส่งเสริมเกษตรกรปลูกอ้อย สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยรางวัลต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษจากทส.

นายมงคล เสถียรถิระกุล

นายมงคล เสถียรถิระกุล รองกรรมการผู้จัดการโรงงาน บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด โรงงานน้ำตาลพิมาย เปิดเผยว่า ทางโรงงานฯ ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกอ้อย ด้วยการให้วัตถุดิบทุกอย่างจนถึงกระบวนการเข้าหีบ แล้วเมื่อได้ผลกำไรก็ค่อยมาหักค่าใช้จ่าย โดยทางโรงงานฯ คิดเพียงแค่ 7% ต่อปี ถ้าไปปลูกอย่างอื่นอาจต้องไปกู้เงินนอกระบบที่อาจต้องเสียดอกเบี้ย 5 บาทต่อเดือน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้อย่าทำเลยไม่มีทางคุ้ม เป้าหมายในการทำธุรกิจแน่นอนคือกำไร แต่ทางบริษัทไม่ยึดถือกำไรสูงสุดอะไรมากมาย ขณะนี้โรงงานมีการเพิ่มกำลังหีบอ้อยต่อวันเป็น 49,000 ตันต่อวัน ด้วยงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท

ส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนเพิ่มคือการก่อสร้างโรงน้ำเชื่อม

ปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตประมาณ 23,969 ตันอ้อยต่อวัน และมีหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของโครงการ โดยบริษัทฯมีโครงการแผนการดำเนินการขยายกำลังผลิตเป็น 36,469 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โรงงานน้ำตาลพิมาย ดำเนินการผลิตน้ำตาล โดยมีหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำอยู่แล้ว แต่เนื่องจากโรงงานน้ำตาลมีการขยายกำลังการผลิตจึงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มมากขึ้น

 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตของหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตของการบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งจะมีการติดตั้งหม้อไอน้ำใหม่ ขนาด 200 ตันต่อชั่วโมง

โดยการใช้กากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงหลักและใช้ชิ้นไม้สับเป็นเชื้อเพลิงเสริมส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นจะมีการเพิ่มจำนวน 2 ชุด ขนาด 22 เมกะวัตต์และขนาด 35 เมกะวัตต์ จำนวนอย่างละ 1 ชุด สำหรับไฟฟ้าที่ได้จากการผลิตจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล 1 ส่วนและจำหน่ายแก่การไฟฟ้าอีก 1 ส่วน ส่วนไอน้ำที่ได้จากการผลิตจะจ่ายให้กับโรงงานน้ำตาลเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ภายหลังขยายกำลังการผลิตโครงการจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 99 เมกะวัตต์ ซึ่งกลุ่มน้ำตาลพิมาย บริษัทอุตสาหกรรมโคราช มีกำลังการผลิต 4,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงงานที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ขยายกำลังการผลิตเป็น 12,500 ตันอ้อยต่อวัน

นายสุรเชษฐ์ สู้ณรงค์ กับรางวัลโรงงานต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษ "ระดับทอง" ประจำปี 2563

ด้าน นายสุรเชษฐ์ สู้ณรงค์ ผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมโคราชจำกัด เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลพิมาย ได้รับรางวัลต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษจากทส. โดยการบริหารจัดการเรื่องของมลพิษน้ำเสียทางบริษัทเองได้ได้แบ่งการจัดการออกเป็น 2 ส่วนคือ การจัดการน้ำเสียความสกปรกสูง และการจัดการน้ำเสียความสกปรกต่ำ ซึ่งมีการแยกอย่างชัดเจนในการบริหารจัดการ ส่วนน้ำเสียที่ทางโรงงานบำบัดเสร็จแล้วก็จะนำมาหมุนเวียนบำบัดใช้ภายในโรงงานโดยไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกไปสู่ภายนอก และในส่วนของการบริหารจัดการมลพิษด้านอากาศ ในส่วนของโรงไฟฟ้าของโรงงานก็มีระบบบำบัดแบบ ESP ในส่วนของโรงไฟฟ้าเก่าก็มีการใช้ระบบบำบัดอย่างดี มีความเป็นมาตรฐาน ในส่วนของการลงชุมชนในพื้นที่ซึ่งมีแผนในการลงพบปะชุมชนทุกปีและมีการแนะนำข้อมูลในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอากาศของเสียหรือน้ำเสียให้ความรู้กับชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ซักถามในข้อสงสัย ถึงมาตรการของทางโรงงาน ว่ามีมาตรการในการดูแลอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานคนในพื้นที่ให้เข้ามาทำงานเพื่อที่จะได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้คนในพื้นที่มีรายได้ไว้จุนเจือครอบครัว

นอกจากนี้รางวัลที่ได้รับมา ก็จะมีการต่อยอดในทุกปีและจะมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นด้านมลพิษน้ำและอากาศและอุตสาหกรรมและจะมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงงานกับชุมชน ในส่วนมาตรการที่จะทำภายในปีนี้จะมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดน้ำแบบอัตโนมัติ เพื่อที่จะ monitor รายงานเพื่อที่จะเก็บผลและมีการรายงานแบบ real time ทุกวัน โดยจะนำข้อมูลในส่วนนี้เผยแพร่ให้กับชุมชนได้รับรู้ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบต่อไป

ส่วนเรื่องของการตัดอ้อยสด ที่จะนำเข้ามาภายในโรงงาน ทางโรงงานจะมีมาตรการที่จะดูแลคือในส่วนแรกส่งเสริมให้ชาวไร่มีรถตัด เป็นของตัวเองโดยทางโรงงานให้สินเชื่อ รวมแล้วประมาณ 70 คัน ในส่วนของโรงงานเองจะมีอยู่ประมาณ 20 คัน ก็จะสามารถลดในเรื่องของการเผาอ้อยลงได้ค่อนข้างเยอะ ส่วนอีกมาตรการมีการหักเงินอ้อยไฟไหม้ที่นำเข้ามาขาย เพื่อนำมาให้อ้อยสดแทน นี่ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งเพื่อช่วยในการลดมลพิษทางอากาศ จะฝากถึงพี่น้องชาวไร่อ้อยให้ร่วมกันรณรงค์เรื่องการตัดอ้อยสดโดยจะได้อ้อยที่มีคุณภาพเพื่อจะส่งเข้าโรงงานและน้ำตาลจะมีคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตก็จะดียิ่งขึ้นและน้ำตาลต่อตันอ้อยที่ผลิตจากโรงงานก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นก็จะทำให้มีการแบ่งรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น

บางส่วนของผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย จากกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด

บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาล โดยบริษัทฯ จำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศ 20 % และส่งออกไปยังต่างประเทศ 80 % ด้วยประสบการณ์ในการบริหารงานที่มีมากกว่า 30 ปี และได้รับรองระบบมาตรฐาน ISO 9001:2000, ISO 14001:2004, GMP, HALAL มีบริษัทในเครือคือ บริษัท เค.ไอ.เอทานอล จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่าย เอทานอลบริสุทธิ์ 99.5 % โดยใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล(โมลาส) กำลังการผลิต 100,000 ลิตร/วัน รวมถึงการผลิตพลังงานก๊าซชีวภาพ (ก๊าซมีเทน) ที่เหลือจากเอทานอล (น้ำกากส่า) มาเป็นพลังงานทดแทน และยังมีบริษัทในเครืออีก 2 บริษัท คือ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.สุรินทร์



รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
เพิ่มเพื่อน

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 20 January 2021 14:04
ปิญานันท์ เอกรัตนไพบูลย์

Author : เกาะติดข่าวสินค้าฟุ่มเฟือย, ร้านค้าปลีก, อาหารและเครื่องดื่ม, Fast-moving consumer goods, แฟชั่น, เครื่องประดับ, ความงาม, การดูแลสุขภาพ, สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ

Latest from ปิญานันท์ เอกรัตนไพบูลย์

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM