January 21, 2025

กลุ่มน้ำตาลเคไอ มุ่งพัฒนาการดำเนินงานสู่การผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน

KI Sugar Group มุ่งมั่นสร้างสรรค์มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพบนหลักการแห่งความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ด้วยวิสัยทัศน์ของกลุ่มน้ำตาลเคไอ “แค่คุณภาพไม่พอ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมต้องดี และพนักงานต้องมีสุขภาพดีด้วย”

นายมงคล เสถียรถิระกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด, โรงงานน้ำตาลพิมาย หรือ กลุ่มน้ำตาลเคไอ เปิดเผยว่า ตอนนี้เป็นช่วงเปิดหีบอ้อยโรงงานน้ำตาลพิมาย ทางกษตรกรชาวสวนได้เร่งตัดอ้อยเพื่อป้อนส่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยโรงงานจะจ่ายเงินค่าอ้อยต้นให้ก่อนในราคา 1,070 บาทต่อตัน สำหรับอ้อยค่าความหวาน 10 CCS และมีค่าความหวานเพิ่มเติมอีก 64.20 บาท/CCS และประกันราคาอ้อยสด 3 ปี ตันละ 1,000 บาท (ไม่รวม ซี.ซี.เอส.) ทั้งปีการหีบนี้ และปีหีบหน้า 2565/66 รวมถึงไม่ดำเนินการหักเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อย เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้มีรายได้ใช้จ่ายในการดำรงชีพและใช้ประกอบการปลูกอ้อยต่อไป ส่วนปัญหาด้านฝุ่นละอองที่กระทบต่อชุมชนรอบโรงงานน้ำตาลพิมายนั้น บริษัทฯได้มีการแก้ใขปัญหาด้วยการนำตาข่ายมาขึงรอบบริเวณโรงงาน เพื่อดักกรองฝุ่นละอองไม่ให้ฟุ้งกระจายอีกด้วย

โดยการผลิตนั้น โรงงานน้ำตาลพิมาย ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวไร่อ้อยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ในการร่วมส่งอ้อยคุณภาพเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยตัวเลขในปีการผลิต 2564/65 ณ วันที่ 9 มีนาคม 2565 เฉลี่ยกำลังหีบวันละประมาณ 50,000 ตัน
มีตัวเลขหีบรวมสะสมกว่า 4 ล้านตัน มี C.C.S. เฉลี่ยที่ 13.29 และได้ปริมาณน้ำตาลต่อต้นอ้อยเฉลี่ยที่ 117.69 กิโลกรัม/ตันอ้อย ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงใช้มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพบนหลักการแห่งความยั่งยืน 3 ประการ ได้แก่ ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยวิสัยทัศน์ของกลุ่มน้ำตาลเคไอ “แค่คุณภาพไม่พอ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมต้องดี และพนักงานต้องมีสุขภาพดีด้วย”

บริษัทฯ จึงได้มุ่งมั่นในการผลิตทั้งส่วนของน้ำตาลทราย ไฟฟ้า และเอทานอล ให้มีคุณภาพควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตคู่กันไปอย่างยั่งยืน

ด้านโครงการขยายกำลังผลิตเป็น 36,469 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทางโรงงานน้ำตาลพิมายได้ดำเนินการผลิตน้ำตาล โดยมีหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำอยู่แล้ว แต่เนื่องจากโรงงานน้ำตาลมีการขยายกำลังการผลิตจึงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตของหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตของการบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งจะมีการติดตั้งหม้อไอน้ำใหม่ ขนาด 200 ตันต่อชั่วโมงโดยใช้กากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงหลักและใช้ชิ้นไม้สับเป็นเชื้อเพลิงเสริมส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นจะมีการเพิ่มจำนวน 2 ชุด ขนาด 22 เมกะวัตต์และขนาด 35 เมกะวัตต์ จำนวนอย่างละ 1 ชุด

สำหรับไฟฟ้าที่ได้จากการผลิตจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล 1 ส่วนและจำหน่ายแก่การไฟฟ้าอีก 1 ส่วน ส่วนไอน้ำที่ได้จากการผลิตจะจ่ายให้กับโรงงานน้ำตาลเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ภายหลังขยายกำลังการผลิตโครงการจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 99 เมกะวัตต์ ซึ่งกลุ่มน้ำตาลพิมาย บริษัทอุตสาหกรรมโคราช มีกำลังการผลิต 4,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงงานที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ขยายกำลังการผลิตเป็น 12,500 ตันอ้อยต่อวัน ไปเรียบร้อยแล้ว

ด้านสิ่งแวดล้อม ทางโรงงานน้ำตาลพิมาย ได้บริหารจัดการเรื่องของมลพิษน้ำเสียทางบริษัทเองได้ได้แบ่งการจัดการออกเป็น 2 ส่วนคือ การจัดการน้ำเสียความสกปรกสูง และการจัดการน้ำเสียความสกปรกต่ำ ซึ่งมีการแยกอย่างชัดเจนในการบริหารจัดการ ส่วนน้ำเสียที่ทางโรงงานบำบัดเสร็จแล้วก็จะนำมาหมุนเวียนบำบัดใช้ภายในโรงงานโดยไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกไปสู่ภายนอก และในส่วนของการบริหารจัดการมลพิษด้านอากาศ ในส่วนของโรงไฟฟ้าของโรงงานก็มีระบบบำบัดแบบ ESP ในส่วนของโรงไฟฟ้าเก่าก็มีการใช้ระบบบำบัดอย่างดี มีความเป็นมาตรฐาน ในส่วนของการลงชุมชนในพื้นที่ซึ่งมีแผนในการลงพบปะชุมชนทุกปีและมีการแนะนำข้อมูลในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอากาศของเสียหรือน้ำเสียให้ความรู้กับชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ซักถามในข้อสงสัย ถึงมาตรการของทางโรงงาน ว่ามีมาตรการในการดูแลอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานคนในพื้นที่ให้เข้ามาทำงานเพื่อที่จะได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้คนในพื้นที่มีรายได้ไว้จุนเจือครอบครัว

อนึ่ง บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาล โดยบริษัทฯ จำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศ 20 % และส่งออกไปยังต่างประเทศ 80 % ด้วยประสบการณ์ในการบริหารงานที่มีมากกว่า 30 ปี และได้รับรองระบบมาตรฐาน ISO 9001:2000, ISO 14001:2004, GMP, HALAL มีบริษัทในเครือคือ บริษัท เคไอเอทานอล จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่าย เอทานอลบริสุทธิ์ 99.5 % โดยใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล(โมลาส) กำลังการผลิต 100,000 ลิตร/วัน รวมถึงการผลิตพลังงานก๊าซชีวภาพ (ก๊าซมีเทน) ที่เหลือจากเอทานอล (น้ำกากส่า) มาเป็นพลังงานทดแทน และยังมีบริษัทในเครืออีก 2 บริษัท คือ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.สุรินทร์ สร้างผลิตภัณฑ์จากอ้อยสู่มาตรฐานโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อสังคงและความมั่งคงขององค์กรต่อไป

โดยบริษัทฯได้วิจัยและพัฒนาสำหรับการจัดการไร่ครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการเลือกพื้นที่ การเตรียมดิน จนถึงกระบวนการตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานน้ำตาล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่ รวมถึงนำองค์ความรู้ทางวิธีการจากหน่วยงานภาครัฐ มาปรับทดลองและใช้ให้เหมาะสมกับภูมิศาสตร์และสภาพพื้นที่ เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับชาวไร่อ้อยในการศึกษาวิธีการจัดการไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนต่อไร่อย่างยั่งยืน

ไบโอก๊าซ บริษัทอุตสาหกรรมโคราช จำกัด

สำหรับเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะมีอากาศที่ระบายออกจากหม้อไอน้ำอาจเป็นหนึ่งในข้อกังวลของชุมชน เราจึงได้เลือกสรรเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศมาใช้กับระบบบำบัดอากาศ อาทิ ระบบดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (ESP) ของบริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด ระบบดักจับฝุ่นแบบเปียก (Wet Scrubber) ของ บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด เป็นต้น เพื่อควบคุมให้ปริมาณฝุ่นละอองที่ระบายออกจากโรงงานต่ำกว่าค่าควบคุมที่กฎหมายบังคับใช้ โดยน้ำที่ออกจากกระบวนการผลิต

ในส่วนของกระบวนการผลิตน้ำตาลได้ใช้ระบบการบำบัดภายในและวนกลับไปใช้ใหม่โดยไม่มีการปล่อยออกภายนอกหรือเรียกได้ว่าเป็น Zero Discharged น้ำจากกระบวนการผลิตเอทานอล (Spent Wash) นำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพด้วยระบบถังกวนผสมแบบสมบูรณ์ (Complete Stirred Tank Reactor) และระบบบ่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Modify Cover Lagoon) หรือน้ำที่ออกจากกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพเรายังมีการใช้เทคโนโลยีลดปริมาณน้ำโดยใช้เทคโนโลยีแบบการต้มระเหย (Evaporation) ก่อนนำไปเป็นสารปรับปรุงดินทั้งชนิดของเหลวและของแข็งต่อไป

ด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงผันผวนสูงจากสถานการณ์การสู้รบในรัสเซียและยูเครนเนื่องจากทำให้ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลให้บราซิลที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลกได้มีการนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้น จึงส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขยับขึ้นเล็กน้อยจากเฉลี่ย 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยราคาส่งมอบเดือน มี.ค.2566 อยู่ที่ 19.45 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังคงต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะมีทิศทางอย่างไรแน่

สำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูหีบปี 2564/65 ของ 57 โรงงานที่เริ่มทยอยตั้งแต่ 7 ธ.ค. 64 จนถึงปัจจุบันมีผลผลิตอ้อยแล้วกว่า 84 ล้านตัน ซึ่งล่าสุดโรงงานประมาณ 8-9 แห่ง ได้ปิดหีบแล้วที่เหลือส่วนใหญ่จะทยอยปิดจนถึงช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้จะเหลือเพียงบางแห่งในบางพื้นที่เช่น อีสาน ภาคตะวันตก เนื่อง จากเผชิญกับฝนตกต่อเนื่องทำให้การเก็บเกี่ยวล่าช้า ดังนั้น เบื้องต้นคาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 87-88 ล้านตัน

"คาดว่าโรงงาน 90% จะปิดหีบสิ้นเดือนนี้จะมีบางส่วนที่ยังเหลืออยู่ โดยผลผลิต ปีนี้ยอมรับว่าหากไม่มีปริมาณฝนตกบ่อย อาจจะได้สูงกว่านี้ เพราะฝนที่ตกมาเร็วทำให้ ค่าความหวานลดลงและมีผลต่อสิ่งเจือปน ภาพรวม ณ วันนี้จึงมองว่าอ้อยเข้าหีบน่าจะอยู่ราว 87-88 ล้านตัน ซึ่งหากเทียบกับฤดูหีบปี 2563/64 ซึ่งได้รับผลกระทบภัยแล้งค่อนข้างหนักมีผลผลิตอ้อยเพียง 66.66 ล้านตัน ก็นับว่าเริ่มกลับมาสู่ภาวะที่ปกติ" นายนราธิปกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่มาเร็ว ประกอบกับโรงงานประกาศประกันรับซื้ออ้อยสดตั้งแต่ฤดูหีบปี 2565/66-2567/68 ในราคา 1,200 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 12.63 ซี.ซี.เอส. รวมถึงราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกทรงตัวระดับสูง 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก็จะทำให้ผลผลิตอ้อยของไทยในฤดูหีบปี 2565/66 มีโอกาสที่จะแตะระดับ 90-100 ล้านตัน ได้เช่นกันโดยผลผลิตอ้อยของไทยเคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 134.93 ในปี 2560/61



รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
เพิ่มเพื่อน

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 18 March 2022 11:20
ปิญานันท์ เอกรัตนไพบูลย์

Author : เกาะติดข่าวสินค้าฟุ่มเฟือย, ร้านค้าปลีก, อาหารและเครื่องดื่ม, Fast-moving consumer goods, แฟชั่น, เครื่องประดับ, ความงาม, การดูแลสุขภาพ, สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ

Latest from ปิญานันท์ เอกรัตนไพบูลย์

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM