December 22, 2024

'ตากฟ้า 6' ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาลธรรมชาติพันธุ์แรกของไทย

กรมวิชาการเกษตร ปลุกกระแสผ้าฝ้ายไทย โชว์ผลงานวิจัยฝ้ายพันธุ์ใหม่ ตากฟ้า 6 ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาลธรรมชาติพันธุ์แรกของไทยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม เพิ่มมูลค่าผลผลิต และนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสิ่งทอเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดเป็น green product ยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ฝ้าย จัดเป็นพืชที่มีความสำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะในภาวะโลกร้อนเช่นปัจจุบัน เพราะสามารถดูดซับเหงื่อได้ดีและระบายความร้อนออกจากเส้นใยได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจุบันพื้นที่การปลูกฝ้ายของประเทศไทยจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีพืชแข่งขันอื่นที่ทำรายได้สูงกว่า และปัญหาด้านมลภาวะจากกระบวนการฟอกย้อม แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งยังคงมีความผูกพันและต้องการที่จะปลูกฝ้าย เพื่อใช้สำหรับผลิตหัตถกรรมสิ่งทอในครัวเรือนทั้งของตนเอง หรือรองรับการผลิตหัตถกรรมสิ่งทอของชุมชนในรูปผลิตภัณฑ์ OTOP แสดงให้เห็นว่าการปลูกฝ้ายยังคงความสำคัญสำหรับวิถีชีวิตชุมชนของประเทศไทย

“ตากฟ้า 6” ผลงานการวิจัยชอง ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนาฝ้ายพันธุ์ใหม่ใช้ชื่อว่า "ตากฟ้า 6" โดยมีคุณสมบัติพิเศษ มุ่งเน้นความเป็นเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความนิ่มนวล และมีสีน้ำตาลตามธรรมชาติโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม เพื่อลดต้นทุนแรงงาน ลดขั้นตอนและเวลาในการฟอกย้อมสี อีกทั้งยังปลอดภัยต่อการใช้สารเคมีในการฟอกย้อม ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่กลับมานิยมใช้เส้นใยฝ้ายสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 เป็นฝ้ายพันธุ์แรกของไทยที่มีเส้นใยสีน้ำตาลตามธรรมชาติ และมีความละเอียดอ่อนของเส้นใยสูง เมื่อนำไปทอจะได้เนื้อผ้าที่มีความนิ่ม สบาย ให้ผลผลิตเฉลี่ย 177 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคใบหงิก เจริญเติบโตดี ดูแลรักษาง่าย ทนทานต่อโรคแมลงศัตรู เก็บเกี่ยวง่าย และปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของประเทศไทยทั่วไป ซึ่งจากการนำฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 ไปให้กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองปลูกทดสอบ 

พบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 และกลุ่มทอผ้าชอบเส้นใยที่อ่อนนุ่มและมีความแปลกใหม่ของสีธรรมชาติ ทำให้การปลูกและทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองกลับมาเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกครั้ง

นอกจากนี้ เส้นใยจากฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 สามารถนำไปแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากความแปลกใหม่ โดยมีผู้ผลิตหัตถกรรมศูนย์ทอผ้าพื้นเมืองบ้าน และกลุ่มสายใยทองผ้าทอยกดอก จังหวัดลำพูน กลุ่มทอผ้าจังหวัดชัยภูมิ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองจังหวัดเลย กลุ่มทอผ้าฝ้าย จังหวัดเพชรบูรณ์ และกลุ่มทอผ้าไทย จังหวัดนครสวรรค์ ได้นำเส้นใยจากฝ้ายพันธุ์นี้ไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอรูปแบบใหม่ๆ เป็นการสร้างงานให้แก่ชนบท

ซึ่งผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าเส้นใยประดิษฐ์ถึงเท่าตัว โดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 ราคาประมาณ 1,000 บาทต่อชิ้น ผู้ผลิตจะได้เพิ่มขึ้นจากเดิมชิ้นละ 500 บาท ทำให้กระแสการปลูกและทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองกลับมาเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกครั้งหนึ่ง 

"ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต และสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดเป็น green product เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับตลาดเฉพาะ(Niche Market) ทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 26 June 2019 16:29
ชนารดี ชัยศิริเมฆินทร์

Author : เกาะติดข่าวเกษตร วิถีของเกษตรพอเพียงแนวทางสู่ความยั่งยืน เกษตรผสมผสาน ทฤษฎีแห่งการใช้น้ำ การเลี้ยงสัตว์ การเพาะพันธ์ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เครื่องมือเครื่องจักรเกษตร ฯลฯ

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM