January 21, 2025

สยามคูโบต้า มุ่งพัฒนานวัตกรรม ดันเกษตรไทยสู่ยุค Smart Farming

บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เดินหน้าก้าวสู่ยุค Smart Farming เกษตรอัจฉริยะ เน้นเทคโนโลยี นวัตกรรม เผยเกษตรกรรุ่นใหม่ มุ่งใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน พร้อมชูกลยุทธ์แผนการตลาด 3EX บริหารจัดการระบบ Supply Chain แบบครบวงจร ผ่านแนวคิด Better Together เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันของเกษตรกรไทยสู่โลกอนาคต

นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นตัวแทนรับมอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดีในงาน Asia Marketing Excellence Award 2022 ครั้งที่ 7 ณ Museum Marketing 3.0 อูบุดเซนเตอร์ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565

นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางการทำเกษตรและความต้องการเครื่องจักรกลเกษตรมีมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  และปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกษตรกรต้องการใช้เครื่องทุ่นแรงมากขึ้น จึงทำให้มูลค่าตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรช่วงปี 2565 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 10% ปัจจัยมาจากการขยายตัวของสินค้าแทรกเตอร์ในกลุ่มพืชไร่ อาทิ มัน,อ้อย, ข้าวโพด,ยาง และปาล์ม ปรับราคาดีขึ้น จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีความต้องการพืชอาหารและพืชพลังงานมากขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านราคาและสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยมีส่วนช่วยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุน Smart Farming เกษตรอัจฉริยะที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการ และนโยบาย Zero Burn เกษตรปลอดการเผา มีส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้เครื่องจักรกลเกษตรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย สยามคูโบต้าได้ใช้ความเชี่ยวชาญและมุ่งมั่นที่จะนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วย เพื่อนำพาเกษตรกรไทยก้าวไปสู่อนาคตของโลกเกษตร ให้เกษตรกรทำงานได้สะดวกสบายมากขึ้น และเปลี่ยนทิศทางการทำเกษตรกรรมที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเพาะปลูกเท่านั้น แต่เป็นการบริหารจัดการ เพื่อให้มองภาพรวมตลอดทั้ง Supply Chain มีการวางแผนตั้งแต่ต้นจนถึงการส่งมอบผลผลิตให้ถึงมือผู้บริโภค ให้สามารถสร้างโอกาสทางการเกษตรได้มากกว่าที่เคยเป็น ซึ่งสยามคูโบต้าได้ดึงแผนกลยุทธ์ 3EX เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันของเกษตรกรไทยสู่โลกอนาคต

 

ภายใต้แนวคิด “Better Together” เพื่อช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาสินค้าและ Solutions พร้อมทั้งองค์ความรู้ ให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร

ด้วยการนำกลยุทธ์ EXperimentation คือการรวบรวมและทดลองเพื่อพัฒนาโซลูชั่นด้านการเกษตร เสริมองค์ความรู้ในเรื่องของนวัตกรรมให้กับสังคมเกษตรร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ EXperience การนำโซลูชั่นนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่มาถ่ายทอดผ่าน “คูโบต้าฟาร์ม ฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่” ขยายองค์ความรู้สู่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป และ EXpansion การส่งต่อองค์ความรู้และขยายผลสู่ภูมิภาค ผ่านโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า (SIAM KUBOTA Community Enterprise) และโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ (KUBOTA and Farmer Cooperation) เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรไทยทุกกลุ่ม เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของทางสยามคูโบต้า ควบคู่ไปกับแนวคิด Better Together ถ้าเกษตรกรดี ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจของสยามคูโบต้าให้เติบโตเคียงคู่กันด้วย

“ทั้งนี้เดิมทีสยามคูโบต้าเน้นการทำตลาดไปที่กลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเราพบว่า กลุ่ม Nonfarmer ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เคยทำงานประจำสนใจทำธุรกิจการเกษตรมากขึ้น ทำให้ตลาดเครื่องจักรกลเกษตรขยายตัวมากขึ้น เราจึงปรับแนวคิดการทำตลาดรวมถึงการพัฒนาเครื่องมือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆอย่างต่อเนื่องโดยเน้นการทำตลาด ภายใต้แนวคิด “Better Together” เพื่อช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาสินค้าและ Solutions พร้อมทั้งองค์ความรู้ ให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลิต ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันแปรจากสภาพดินฟ้าอากาศอีกด้วย”

ด้วยกรอบแนวคิด Better Together สู่การสร้าง Brand Engagement ทั้ง Farmer และ Nonfarmer จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวการสร้างเกษตรยั่งยืนของสยามคูโบต้า ที่ส่งต่อไปถึงลูกค้าอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้คว้า 2 รางวัลใหญ่จากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้แก่ Gold Award ประเภท Brand Experience & Communication แคมเปญการตลาดที่มีความเป็นเลิศด้านการสร้างคุณค่าของแบรนด์ และรางวัลสุดยอดแคมเปญแห่งปี ประเภท CMO’s Top Choice Award ซึ่งเป็นการการันตีความสำเร็จแบรนด์ที่เคียงข้างเกษตรกรไทยอีกด้วย

“เรามุ่งเน้นที่จะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจากแนวคิดดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทคว้ารางวัลชนะเลิศในระดับเอเชีย จากเวที AMF Asia Marketing Excellence Award 2022 มาครอง ด้วยแผน Marketing 3.0 ของสยามคูโบต้าที่ทำให้ลูกค้ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทมุ่งเน้นทำการตลาดเพื่อลูกค้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด” นายพิษณุกล่าวทิ้งท้าย

โดยล่าสุด บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) ต่อยอดความก้าวหน้าของศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า (SKCE) เปิดตัว “เกษตรทิพย์ฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืนกับ 6 โซนการเรียนรู้ บนพื้นที่ 11 ไร่ โดยเป็นการต่อยอดจาก Smart Community  สู่การเป็นต้นแบบ Smart Farm ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการฟาร์มในการถ่ายทอด องค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบ Smart Farming สู่เกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้แก่ลูกหลานและคนในชุมชนอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการเกษตรไทย

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าที่มีแนวคิดที่ต้องการให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้เพิ่มด้วยการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ทางการเกษตรที่มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ที่กลุ่มเกษตรกรหรือผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้วิถีการทำเกษตรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยสยามคูโบต้าได้เริ่มพัฒนาร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีจุดเด่นด้านการเพาะปลูกข้าวแบบอินทรีย์ 100% และได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก พร้อมนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตร รวมถึงโซลูชันต่างๆ เข้าไปพัฒนาโดยเฉพาะการนำระบบ KAS หรือเกษตรครบวงจร (KUBOTA (Agri) Solutions) ที่ทำให้เกษตรกรพบว่า ช่วยลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันแปรของภัยธรรมชาติ และยังส่งผลให้รายได้มากขึ้นตามมา

โดยเส้นทางของการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า จากระยะเริ่มต้นของการพัฒนา กิจกรรมต่อเนื่องกับกลุ่มฯ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการฟาร์มและการทำเกษตรต้นแบบ มาสู่ระยะการเสริมความแข็งแกร่ง โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้เกิดการทำธุรกิจชุมชนต้นแบบ และสุดท้ายเป็นระยะสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา SKCE FARM ในระดับภูมิภาค ซึ่งการจัดตั้งเกษตรทิพย์ฟาร์ม จึงสะท้อนถึงแรงผลักดันและความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เกษตรทิพย์ สู่การเป็นฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน ตามแผนการพัฒนาของสยามคูโบต้า

และยังตอบโจทย์นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของสยามคูโบต้า ในการมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ตามแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ ทั้งนี้สยามคูโบต้าพร้อมอยู่เคียงข้าง คอยสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาตลอดจนวางแผนการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มฯ ในการพัฒนาเกษตรทิพย์ฟาร์มอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer ยุค 5.0 เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการเกษตรไทย

ทั้งโดยพื้นที่ภายในฟาร์มมีทั้งหมด 11 ไร่  แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่

  1. โซน Green House หรือโรงเรือนอัจฉริยะ สามารถปลูกพืชและควบคุมผลผลิตให้ได้คุณภาพ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติตลอดทั้งปี ภายในโซนมีระบบเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และความเข้มแสง รวมทั้งมีระบบการให้น้ำแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน พืชที่ปลูก ได้แก่ เมล่อน
  2. โซนไม้ผลมูลค่าสูง เป็นการสร้างทางเลือกสำหรับการเพาะปลูกพืชและเป็นแหล่งสร้างรายได้ระยะยาว สำหรับพืชที่ปลูกภายในฟาร์ม ได้แก่ ทุเรียน อะโวคาโด โกโก้ นอกจากนี้ยังปลูกกล้วยน้ำว้า เพื่อเป็นแนวกันลม พร้อมทั้งนำนวัตกรรมระบบให้น้ำอัจฉริยะเข้ามาใช้ในพื้นที่ด้วย
  3. โซนพืชสร้างรายได้เร็ว แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พืชผักไม้เลื้อยและพืชแซมอื่นๆ อาทิ ถั่วฝักยาว บวบ ฟักเขียว และผักใบและผักสวนครัว ได้แก่ กลุ่มผักสลัด (กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด) รวมถึงหอมแดงและกระเทียมซึ่งเป็นพืชที่ได้รับมาตรฐาน GI ทั้งนี้ยังได้นำเครื่องยกร่อง และรถปลูกผักมาใช้ทดแทนแรงงาน รวมทั้งมีการนำนวัตกรรมการให้น้ำอัจฉริยะมาควบคุมระบบให้น้ำภายในแปลงด้วย
  4. โซนโซล่าเซลล์ พื้นฐานการทำเกษตรของกลุ่มเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ โดยทางกลุ่มมุ่งที่จะเป็นการเกษตรแบบ Green Energy จึงได้ติดตั้งโซล่าเซลล์แบบกระแสตรง ช่วยลดต้นทุนจากค่าไฟฟ้าทั้งจากระบบการให้น้ำ และไฟส่องสว่าง
  5. โซนแปลงข้าวตัวอย่าง มีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรสยามคูโบต้ามาใช้ควบคุมคุณภาพและปริมาณตลอดกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่การใช้แทรกเตอร์ในการเตรียมดิน การใช้รถดำนาในขั้นตอนปักดำ การใช้โดรนเพื่อการเกษตรในขั้นตอนของการดูแลรักษา และใช้รถเกี่ยวนวดข้าวสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสร้างรายได้เพิ่มด้วยการอัดฟางสำหรับจำหน่าย
  6. โซนพืชสมุนไพร ในปัจจุบันพืชสมุนไพรจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ตลาดมีความต้องการในปริมาณสูง ทางกลุ่มเล็งเห็นโอกาสในการสร้างอาชีพทางเลือก จึงได้จัดทำแปลงสมุนไพรในฟาร์ม ต่อยอดการแปรรูปเป็นอาหารและยา สมุนไพรที่ปลูก ได้แก่ ข่า ตะไคร้ กระชายดำ กระชายขาว มะนาว มะกรูด และฟ้าทะลายโจร

ทั้งนี้ เกษตรทิพย์ฟาร์ม พร้อมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบ Smart Farming สู่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วประเทศแล้ววันนี้ ณ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เปิดทุกวัน (จันทร์-อาทิตย์) ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. 



รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
เพิ่มเพื่อน

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Thursday, 05 January 2023 09:08
ภูวิศ ภูสิทธิ์อุดมรัตน์

Author : เด็กช่าง เจ๋งที่สุด เกาะติดข่าวโรงงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร โมดูล อากาศยาน อิเล็กทรอนิกส์ แม่พิมพ์ เครื่องจักร การแปรรูปโลหะ วิศวกรรม เครื่องมือแพทย์ และหุ่นยนต์ ราวๆ นี้

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM