IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
กับคลังความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลกกว่า 100 เรื่อง โดยสุดยอดกูรูชื่อดังด้านดิจิทัลกว่า 200 คน จาก 12 ประเทศทั่วโลก ที่สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านทางเฟสบุคไลฟ์ คาดยอดการเข้าถึงบนโลกออนไลน์กว่า 10 ล้านคนจนถึงสิ้นปี ตั้งธง...ปีหน้าไทยเป็นแชร์แมนด้านดิจิทัลของอาเซียน ยกระดับงานบิ๊กแบงขึ้นอีกขั้นสู่ ASEAN Connectivity พร้อมผลักดันไทยเปิดประตูสู่ประเทศนอกอาเซียนร่วมกัน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยถึงความสำเร็จของงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ภายใต้แนวคิด “THAILAND BIG DATA: โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน” จัดโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2561 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่าเป็นการจัดงานมหกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี มีผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนคนไทยและต่างชาติ จนทำให้ตลอด 5 วันของการจัดงานมีผู้เข้าชมงานล้นหลามกว่า 355,000 คน เมื่อรวมกับยอดผู้เข้าชมงาน Digital Thailand Big Bang Regional 2018 ที่ depa ได้ไปจัดสัญจรใน 4 ภูมิภาคของประเทศในเมืองใหญ่ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา และระยอง ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561 อีก 61,089 คน ทำให้ยอดผู้เข้าชมงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 410,000 คน ซึ่งยังไม่รวมยอดผู้ที่เข้ามาชมงานผ่านการถ่ายทอดสด และรับชมย้อนหลังผ่านทางเฟสบุคไลฟ์ได้อีก คาดว่าจะมียอดเข้าถึงบนโลกออนไลน์กว่า 10 ล้านคน จนถึงสิ้นปี
ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 ไม่เพียงเป็นเวทีที่ประเทศไทยได้ประกาศศักยภาพในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังเป็นเวทีที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาส สร้างการเรียนรู้-ต่อยอด-ขยายผล เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เกิดผลงานนวัตกรรม ไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย รวมทั้งเกิดความร่วมมือต่างๆ มากมาย อาทิ
1. การได้รับรางวัลโครงการเมืองอัจฉริยะยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ภายใต้ชื่อรางวัล IDC Smart City Asia Pacific (SCAPA) ประจำปี 2561 โดยโครงการ “ขอนแก่นสมาร์ทเฮลธ์” ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านสาธารณสุขและการบริการสังคมดีเด่น ส่วนโครงการ “ภูเก็ตสมาร์ททัวริซึม” ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม หอสมุดและพื้นที่สาธารณะดีเด่น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการก้าวสู่การเป็นผู้นำของภูมิภาค
2. การเกิดเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศในการเปิดศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นไทย-จีน (China-Thailand Digital Incubator) ระหว่าง depa กับ บริษัท ทัสโฮลดิ้งส์ จำกัด และทัสสตาร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายหน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อปั้นสตาร์ทอัพข้ามชาติ
3. การประกาศความร่วมมือในด้านดิจิทัล เพื่อร่วมกันพลิกโฉมประเทศสู่ยุค 4.0 ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ จำนวน 25 ฉบับ
4. ความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 77 จังหวัด ภายใน 5 ปี ซึ่ง depa ร่วมมือกับภาคเอกชน 17 แห่ง ขับเคลื่อนแผนงานนี้
5. ความร่วมมือในการพัฒนาคนพันธุ์ดิจิทัล ให้มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ในกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ผ่านโครงการ Coding Thailand ไม่น้อยกว่า 62,000 คน
6. การเปิดพื้นที่ในการจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสให้แก่เยาวชน คนรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ ได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สู่การต่อยอดความคิดเป็นนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการ Coding Thailand, การแข่งขันโดรนมิชชั่น การแข่งโดรนเรซซิ่ง และการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมและเทคโนโลยีประเภท IoT
7. การเปิดเวทีเพื่อเรียนรู้มุมมองความคิด ประสบการณ์จากสุดยอดกูรูชื่อดังด้านดิจิทัลกว่า 200 คน จาก 12 ประเทศทั่วโลก ที่มาให้ความรู้ แนวคิดในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อการก้าวสู่โลกแห่งอนาคต ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับหัวข้อเจาะลึกเพื่อการก้าวสู่ยุคดิจิทัล 4.0 กว่า 100 หัวข้อ
8. การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้านดิจิทัลให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวย้ำความสำเร็จของงานว่า นอกจากเกิดกระแสตื่นตัวเรื่องดิจิทัลไปในวงกว้างทั่วประเทศแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและวัฒนธรรม อาทิเช่น เกิดเม็ดเงินลงทุนระหว่างการจัดงานกว่า 500 ล้านบาท จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมออกบูธกว่า 480 ราย, เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการกว่า 100 ราย, เกิดโอกาสทางการศึกษาด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชนใน 3 ระบบใหญ่ coding education, software learning and hardware learning ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยใช้ดิจิทัล, เกิดการเข้าถึงการบริการของประชาชนผ่าน digital service ในหลากหลายสาขา เช่น บริการทางการแพทย์ บริการทางการเงิน บริการทางการค้า บริการด้านข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ เป็นต้น ตลอดจนเกิดการรับรู้ของนานาชาติต่อบทบาทและทิศทางของประเทศมากกว่า 40 ประเทศซึ่งจะส่งผลต่อภาพพจน์ของไทยที่ดีในเวทีโลกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายเรื่อง ได้แก่ digital startup, smart city, digital manpower, digital community, data analytics และ digital education system
ดร.พิเชฐ กล่าวในตอนท้ายโดยย้ำว่า “ดิจิทัล” มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นทั้งตัวเร่งการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป็นเครื่องมือพลิกโฉมประเทศไทยตามแนวทางของ “Digital Transformation” เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักทางเศรษฐกิจ และในปีหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพอาเซียนปี 2019 ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงฯ ได้เตรียมแผนดิจิทัลอาเซียนประจำปีไว้เรียบร้อยแล้ว มั่นใจไทยจะก้าวสู่การเป็นแชร์แมนด้านดิจิทัลของอาเซียน และสำหรับก้าวต่อไปของงาน Digital Thailand Big Bang 2019 คือ ASEAN Connectivity หรือการเชื่อมโยงอาเซียนเข้าหากัน ซึ่งประเทศไทยของเรานับว่าโชคดีมากที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน การเชื่อมโยงดังกล่าวจึงทำให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด ไทยจะกลายเป็นสี่แยกอาเซียนและจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงอาเซียนในอนาคตได้อย่างแน่นอน