IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยผลประกอบการ 6 เดือนแรกว่า บริษัทฯ มีรายได้รวมกว่า 29,000 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 8,600 พันล้านบาท โดยตัวเลขกำไรเป็นผลจากการยุติข้อพิพาทเสาโทรคมนาคมกับคู่สัมปทานบริษัท TAC และกลุ่มบริษัททรู ขณะที่รายได้การดำเนินงานของ CAT ยังคงมาจากธุรกิจโมบาย, ดาต้าคอม, อินเทอร์เน็ต, ธุรกิจโทรคมนาคมระหว่างประเทศ, บริการดิจิทัล และการให้เช่าเสาโทรคมนาคม
CAT ในสถานะองค์กรโทรคมนาคมของรัฐ ได้ดำเนินงานบริการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐทุกระดับเพื่อการพัฒนาองค์กรที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ดิจิทัลและ Big Data โดยโครงการภาครัฐต่าง ๆ ที่ CAT ดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และคาดว่าจะสร้างรายได้อนาคต ประกอบด้วย โครงการภายใต้กระทรวงดีอี อาทิ โครงการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC (Government Data Center and Cloud service) อยู่ระหว่างกระทรวงดีอีเสนอ ครม.อนุมัติดำเนินการต่อเนื่องด้วยงบประมาณปี 2563 – 2565 โดยระยะแรกปี 2562 จะใช้งบกองทุนดีอีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ
ล่าสุดมีหน่วยงานภาครัฐ 80 หน่วยงานให้ความสนใจเข้าใช้บริการระบบคลาวด์กลาง GDCC โดยหลังได้รับงบประมาณ CAT จะใช้เวลา 2 เดือนในการโอนย้ายข้อมูล 40 หน่วยงานรัฐเข้าสู่ระบบ GDCC ในเฟสแรก
โครงการอื่น ๆ ได้แก่ โครงขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างประเทศมูลค่า 5,000 ล้านบาทรองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โครงการต้นแบบสมาร์ตซิตี้ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น โครงการสมาร์ตซายน์ออน บริการหน้าจอ log-in ไวไฟที่ให้ความสะดวกผู้ใช้งานในการเข้าถึงบริการไวไฟของทุกค่ายได้ทั่วประเทศ โครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ซึ่งเป็นโครงการ PPP ภายใต้ EECd เพื่อการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลบนพื้นที่กว่า 700 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมทุน คาดว่าจะสามารถประกาศผลภายในปลายปี 2562 รวมถึง CAT ยังร่วมกับกรมศุลกากรในโครงการ National Single Window (NSW) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR โดยโครงการนี้จะยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการนำเข้า-ส่งออกทุกขั้นตอนด้วยระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอนาคตสามารถจะพัฒนาสู่ NSW ที่เป็นภาพรวมของทั้งประเทศ
ด้านธุรกิจของ CAT ได้เดินหน้าขยายบทบาททางธุรกิจ มุ่งยกระดับจากผู้ให้บริการเชื่อมโยงโครงข่ายพื้นฐานเป็นหลักมาสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลบนโครงข่ายอัจฉริยะซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงข่าย LoRaWAN จะติดตั้งครอบคลุมครบทุกจังหวัดภายในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมาย เป็นโครงข่ายเพื่อรองรับการเชื่อมต่อ IoT และการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยเชื่อมโยงกับทุกโครงข่ายที่มีอยู่ทั้งไฟเบอร์ออปติก ไวไฟและ 3G ทั่วประเทศ โครงข่ายอัจฉริยะนี้เป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ซึ่งบริษัทฯ ได้ต่อยอดพัฒนาธุรกิจดิจิทัลกลุ่มสมาร์ตโซลูชันภายใต้แบรนด์ LoRa IoT เช่น Smart tracking, Smart lighting, Smart waste, Smart energy ฯลฯ เปิดให้บริการแก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของเมือง ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องให้บริการในจังหวัดภูเก็ตเพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว
กลุ่มบริการสมาร์ตโซลูชันดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ CAT รอสร้างความพร้อม และมีความเชื่อมั่นว่าจะเติบโตในอนาคต ซึ่งนอกจากจังหวัดภูเก็ตที่เป็นต้นแบบแล้วยังมีความต้องการสูงขึ้นในหลายพื้นที่จากแนวโน้มการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 CAT จึงได้เตรียมรองรับความต้องการดังกล่าวโดยส่งเสริมกลุ่มสตาร์ตอัป สถาบันศึกษา เครือข่ายนักวิจัยพัฒนาด้านไอโอที ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตร NIA, TESA คิดค้นนวัตกรรมโซลูชันใหม่ ๆ บนโครงข่าย LoRaWAN อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน CAT ได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ พัฒนาอุปกรณ์เซ็นเซอร์และโซลูชัน ไอโอทีเพื่อใช้งานจริงในหลายพื้นที่ เช่น โครงการ Sensor for All ตรวจวัดอนุภาคฝุ่น PM2.5 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โครงการเพาะเห็ดสมาร์ตฟาร์มโดย ม.ศรีปทุม โครงการระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตผ่านอุปกรณ์ริสต์แบนด์ SOS และเสื้อชูชีพ Smart Life Jacket ฯลฯ ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดจากโซลูชันต่าง ๆ ขึ้นบนระบบคลาวด์เพื่อจัดเก็บ บูรณาการ และต่อยอดการประมวลผลวิเคราะห์ Big Data โดยในอนาคตจะเพิ่มเทคโนโลยี Big Data Analytic วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาได้หลากหลายมิติยิ่งขึ้น
CAT จึงมีโอกาสที่ดีในการพัฒนาธุรกิจด้าน Big Data โดยสามารถอาศัยประสบการณ์บริการโครงข่าย ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ที่ CAT มีความเชี่ยวชาญอย่างยาวนาน บวกกับจุดแข็งในการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของ CAT เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลัก ที่ให้บริการด้าน Big Data แก่ภาครัฐ โดยเฉพาะการสนับสนุนกระทรวงดีอี ในการนำข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ มาเชื่อมโยงบูรณาการ เพื่อวิเคราะห์ต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อการบริหารจัดการประเทศในทุกด้าน
นอกจากนี้ ในโอกาสสถาปนาองค์กรครบรอบ 16 ปี (วันที่14 สิงหาคม 2562) CAT ยังได้เริ่มใช้ชุดฟอร์มพนักงานใหม่ที่สะท้อนอัตลักษณ์ใหม่ตอกย้ำการพัฒนาองค์กรสู่ธุรกิจดิจิทัล ประกอบกับได้ดำเนินกิจกรรมปรับภาพลักษณ์ในระดับ Brand DNA ของพนักงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคด้วยคอนเซ็ปต์ CATALYST จัดต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพื่อยกระดับความพร้อมให้บริการลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการทำความเข้าใจลูกค้าเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์บริการเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง รวมทั้งการผสมผสานความรู้ความเชี่ยวชาญจากรุ่นพี่และความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานรุ่นใหม่ในรูปของทีมเวิร์กที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ๆสร้างความสำเร็จให้กับทุกธุรกิจที่ไม่เพียงเป็นลูกค้า แต่เป็นพันธมิตรที่จะก้าวสู่ความ สำเร็จร่วมกัน