IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน)หรือ ALT เปิดเผยว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ ALT Group จะเน้นการให้บริการที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีความคล่องตัว ยกระดับการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล ช่วยลดต้นทุน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าเทรนด์กลุ่มโทรคมนาคมที่กำลังมาแรงในขณะนี้ประกอบด้วย
- เทรนด์ด้านพลังงานอัจฉริยะ
- เมืองอัจฉริยะ
- แพลตฟอร์มอัจฉริยะ
- โครงข่ายครบวงจร
โดยในส่วนเทรนด์ที่ 1 เทรนด์ด้านพลังงานอัจฉริยะ เป็นการประยุกต์ใช้พลังงานสีเขียวและนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการพลังงาน พลังงานทดแทนและบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมไปถึงการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน
ALT ส่งมอบติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์เมืองพัทยาให้ กฟภ. ครบ 1.1 แสนครัวเรือนตามสัญญาเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ เช่น Smart Grid ซึ่งเป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการกับผู้เชื่อมต่อกับโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย Smart Meter หรือมิเตอร์อัจฉริยะมิเตอร์ เครื่องวัดพลังงานไฟฟ้าชนิดใหม่ที่ถูกพัฒนามาเพื่อแทนที่มิเตอร์แบบเดิมที่มีอยู่ (แบบจานหมุน) เพื่ออำนวยความสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องส่งพนักงานมาอ่านค่าหน่วยไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าก็สามารถอ่านหรือคำนวณค่าใช้จ่ายของการใช้พลังงานได้เอง และประโยชน์ที่เด่นชัดคือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมิเตอร์อัจฉริยะจะสามารถแจ้งเหตุ ไปยังส่วนกลางทันที ดังนั้นจึงตรวจสอบหาจุดที่เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้ระบบทำงานผิดพลาดได้ไวกว่าเดิม ลดการเกิดความเสียหายและสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก Solar Cell นั้น จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ผ่านตัวแปลงซึ่งเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที อนาคตสามารถเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้งานภายหลัง เป็นแหล่งพลังงานสะอาดและไม่สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Co2) เหมือนกับแหล่งพลังงานอื่นๆ ซึ่งมีสถานีชาร์จไฟฟ้า ทำหน้าที่เป็นตัวชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยสามารถแบ่งการชาร์จออกเป็น 2 ประเภท คือ Normal Charge และ Quick Charge
สำหรับเทรนด์ที่ 2 เมืองอัจฉริยะ เป็นการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอัตโนมัติ เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ของเมือง รวมทั้งมีความแม่นยำสูง เช่น การเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ การใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย และสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนในชีวิตประจำวัน
ส่วนเทรนด์ที่ 3 แพลตฟอร์มอัจฉริยะ การสร้างแพลตฟอร์มในด้านต่างๆ ที่สามารถรองรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ ให้มีความยืดหยุ่นและหลากหลายเข้ากับสถานการณ์ สามารถปรับเปลี่ยนโซลูชั่นได้ตามความต้องการ ซึ่งจะผลักดันระบบต่างๆให้เป็นดิจิทัลสามารถใช้ในทุกๆ อุตสาหกรรม เช่น การคมนาคมขนส่ง การประกันภัย และอื่นๆเป็นต้น
และเทรนด์ ที่ 4 โครงข่ายแบบครบวงจร พัฒนาและขยายธุรกิจครอบคลุมด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าโดยนำโครงสร้างพื้นฐานที่ ALT มีในปัจจุบัน มาพัฒนาและต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดครอบคลุม ในทุกพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับ Operators ต่างๆ และยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน
นางปรีญาภรณ์ กล่าวว่า “เทรนด์ธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของ ALT Group มีส่วนช่วยให้องค์กรทั้งรัฐและภาคเอกชน สามารถยกระดับการให้บริการ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดตามความต้องการของผู้รับบริการ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในทุกๆ อุตสาหกรรม”
ทุกโครงการของ ALT จะมีบทบาทช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ด้าน นายปริญญ์ ชากฤษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT กล่าวเพิ่มเติม ว่า “เนื่องจากในปัจจุบันมิติปัญหาของสังคมเมืองมีความซับซ้อน จึงมีความจำเป็นที่ประชาชนควรได้รับข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดการบิดเบือนไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ALT จึงให้ความสำคัญมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อยกระดับการบริการไปสู่ประชาชนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”
โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ALT ที่พัฒนาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อไปสู่การพัฒนาด้าน Smart Government ไม่ว่าจะเป็น จัดทำศูนย์การตัดสินใจด้านข้อมูลและสั่งการอัจฉริยะด้วย Data Analytic ผ่าน War Room ของหน่วยงานรัฐ มีระบบบริหารจัดการเพื่อการให้บริการ พร้อมระบบบริหารจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Incident Management System) พร้อมทั้งศูนย์บริการประชาชนอัจฉริยะ One Stop Service จัดทำระบบจัดการผู้มาติดต่อ (Visitor Management) พร้อมระบบคิวออนไลน์ ด้วย Mobile Service เพื่อลดการแออัดและยังปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมี ระบบรับบริการ และประสานงานหน่วยงานภายในเมืองซึ่งประกอบไปด้วย ระบบสำหรับการรับเรื่องของเจ้าหน้าที่ สำหรับให้บริการประชาชน และสามารถให้บริการ E-service ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบต่างๆภายในเมืองได้
“ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเมืองไปสู่ Smart City ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งอุดหนุนงบประมาณโดยรวมทั้งประเทศ มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่ง ALT คาดหวังรายรับสัดส่วนในอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ต่อภาพรวมทั้งหมด โดย ALT วางเป้าหมายการให้บริการ โดยเริ่มต้นนำร่องระบบดังกล่าว ด้วย Solution ของ ALT กับเมืองที่มีความพร้อมเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และพร้อมสำหรับการพัฒนาในพื้นที่ต่อๆไป โดยเป้าหมายของ ALT ก็เพื่อต่อยอดพัฒนา เมืองอัจฉริยะ จนครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งระบบ”
ด้าน นางสาวปรียาพรรณ ภูวกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังจากการที่บริษัทได้เพิ่มการให้บริการด้านธุรกิจการจำหน่ายและติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ทำให้มีผู้ประกอบการกลุ่มโรงงานและภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางหลายราย ให้ความสนใจในการติดตั้ง Solar Rooftop รูปแบบ Private PPA เนื่องจากเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนการลงทุนระบบฯ การดูแลรักษา และค่าไฟฟ้าให้กับบริษัทได้ในระยะยาว
สำหรับการให้บริการจำหน่ายและติดตั้ง Solar Rooftop ของ ALT มีทั้งรูปแบบการจำหน่ายขายขาดให้กับผู้ประกอบการ และรูปแบบที่ ALT เป็นผู้ลงทุน Private PPA (Private Power Purchase Agreement) โดยมีข้อตกลงการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้จาก Solar Rooftop ที่ติดตั้งบนหลังคาโรงงานหรืออาคารของผู้ประกอบการธุรกิจ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนใจการติดตั้ง Solar Rooftop ในแบบ Private PPA เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งการลงทุนติดตั้ง และการดูแลรักษาระบบฯ รวมทั้งได้ผลประโยชน์ร่วมกันตามข้อกำหนดในเงื่อนไขสัญญา โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือนตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป และมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันมากกว่ากลางคืนถือว่าคุ้มค่ามาก เหมาะกับการติดตั้ง Solar Rooftop ในแบบ Private PPA
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเกณฑ์การพิจารณาเลือกลูกค้าที่ต้องการลงทุนในรูปแบบ Private PPA โดยในเบื้องต้น พิจารณาจากประวัติการใช้ไฟฟ้า เพื่อนำมาประเมินขนาดการติดตั้ง Solar Rooftop ประวัติเป็นลูกค้าชั้นดีของการไฟฟ้า และมีความต้องการเลือกใช้พลังงานทางเลือก ส่งเสริมพลังงานสะอาด รวมถึงอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้ไฟฟ้าของโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสม คุ้มค่ากับการลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop ควรมีค่าใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1 แสนบาทต่อเดือนขึ้นไป
“ปัจจุบันการติดตั้ง Solar Rooftop มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการที่จะติดตั้งเพื่อลดต้นทุนก็ได้ผลประโยชน์มากขึ้น จากราคาที่ลดลงมา แต่เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการกังวลกับการลงทุน ALT จึงมีทางเลือกแบบ Private PPA ซึ่ง ALT เป็นผู้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ ดูแลบำรุงรักษาให้ทั้งหมด ในระยะเวลา 15 ปีขึ้นไป โดยมีส่วนลดค่าไฟฟ้าตามเงื่อนไข และรับผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อครบสัญญา ALT จะโอนระบบอุปกรณ์ทุกอย่างให้ลูกค้าฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ซึ่งตัวแผงโซล่าฯ Q Cells มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องมากกว่า 25 ปี (ที่ 85%) อีกทั้งยังสามารถช่วยลดมลภาวะ และสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ มาใช้ หรือจำหน่ายเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีแก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก” นางสาวปรียาพรรณ กล่าวทิ้งท้าย