December 22, 2024

สศอ. ผนึกสถาบันอาหาร เวิร์กชอปเข้ม สร้าง "นักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่"

สศอ. ผนึกสถาบันอาหาร เวิร์กช็อปเข้ม สร้าง "นักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่" ติดอาวุธ SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ หรือ New Food Warrior 2019 ภายใต้โครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ประจำปีงบประมาณ 2562 ผลักดัน SMEs จำนวน 200 ราย หวังยกระดับองค์ความรู้ในทุกมิติสู่อุตสาหกรรม 4.0 เน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการแข่งขันยุคดิจิทัล สร้างเครือข่ายพันธมิตร มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) ของอาเซียน

นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง "การเตรียมพร้อมนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (New Food Warrior 2019)" ซึ่งเป็นกิจกรรม Kick-off ใน

โครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่

ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดขึ้นในวันที่ 5-6 มี.ค. 2562 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ว่า ถือเป็นกิจกรรมในรุ่นที่ 1 สำหรับรุ่นที่ 2 จะจัดขึ้นในวันที่ 18-19 มี.ค. นี้ ที่โรงแรม เดอะ ทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ส่วนรุ่นที่ 3 จะจัดขึ้นในวันที่ 26-27 มี.ค. ที่โรงแรม เลอ เมอริเดียน จ.เชียงใหม่ มีผู้เข้ารับการอบรมรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ราย หรือเฉลี่ยรุ่นละประมาณ 70 ราย
 


"ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) ของอาเซียน และติด 1 ใน 10 ของผู้ส่งออกอาหารของโลกในปี 2565 ด้วยการยกระดับองค์ความรู้ในทุกมิติ โดยเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้บุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารได้เรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับการแข่งขันในยุคดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่ง และเพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการให้เกิดการสร้างเครือข่ายพันธมิตร"

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนานักรบอุตสาหกรรมอาหารมีหลากหลายด้าน เช่น การให้คำปรึกษาเชิงลึก In-house Training กิจกรรมอบรมสัมมนา การทำ Workshop การเรียนรู้จากกรณีศึกษา และการเยี่ยมชมโรงงาน เป็นต้น สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในปีนี้ ยังมีอีก 2 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนานักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ จำแนกออกเป็น 5 หลักสูตร ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะเหมาะสำหรับการพัฒนานักรบอุตสาหกรรมอาหารที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม และกิจกรรมการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ

"จะคัดเลือกผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก เรียกว่า กลุ่มอาหารอนาคต (Future food) ประกอบด้วย 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Food / Functional Food) กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอินทรีย์ (Organics) กลุ่มผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์ (Medical food) และกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสารสกัดสมุนไพร (Food Supplementary & Herb Extract) เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยเน้นด้านการใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ให้กับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ"


สำหรับเป้าหมายในปี 2562 นี้ คือ การจัดเตรียมหลักสูตรการพัฒนานักรบพันธุ์ใหม่ 5 ระดับ มีบุคลากรจำนวน 200 คน ในอุตสาหกรรมอาหารได้รับการยกระดับองค์ความรู้ในเชิงปฏิบัติการ เพื่อเข้าสู่การเป็น Food Warrior มี 25 ผู้ประกอบการกลุ่มอาหารอนาคต (Future Food) ได้รับการยกระดับผลิตภาพด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเกิดเครือข่ายนักรบอุตสาหกรรมอาหารและพื้นที่สำหรับสมาชิกเครือข่ายทำกิจกรรมร่วมอย่างน้อย 1 เครือข่าย 1 แอพพลิเคชัน

ด้าน นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการ สถาบันอาหาร กล่าวถึงแนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารปี 2030 ว่า จากประเมินจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 พันล้านคน จากปัจจุบัน 7.5 พันล้านคน ส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ เช่น อาหารที่บริโภคในปริมาณน้อย แต่ให้พลังงานและโปรตีนเพียงพอกับความต้องการ หรือ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จะเข้ามาแทนที่อาหารในรูปแบบเดิม
 


ขณะที่ เศรษฐกิจโลกจะเติบโตอย่างมากจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย ด้วยจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 50 เป็นชาวเอเชีย จึงเป็นโอกาสในการผลิตสินค้าและบริการอาหารรูปแบบใหม่ ๆ สำหรับรองรับประชากรเหล่านี้ โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.5 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรโลก ซึ่งมีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพสมวัย รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อช่วยชะลอวัย ทั้งนี้ ร้อยละ 60 ของคนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมือง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานและการรับประทานอาหารในร้านอาหารนอกบ้านจึงได้รับความนิยมอย่างมาก โดยผู้หญิงจะมีอิทธิพลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงยุคใหม่ทำงานมากขึ้น จึงมีรายได้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ด้วยตนเอง ทั้งเพื่อตนเอง คนรัก และครอบครัว

"การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ การนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต แปรรูป และจำหน่ายสินค้า จะทำให้ธุรกิจอาหารเติบโตและลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ รวมถึงลดความผิดพลาดของพนักงานลง การทำธุรกิจอาหารง่ายขึ้น ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด เพียงแต่หาพันธมิตรทางธุรกิจที่เหมาะสมเข้ามาช่วย"
 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Tuesday, 05 March 2019 15:26
นิภา ศรีอนันรัตน์

Author : เกาะติดข่าวอาหารและเครื่องดื่ม, ร้านอาหาร, โรงแรม, การกินการอยู่, ธุรกิจเอสเอ็มอี, ข่าวท้องถิ่น, ศิลปะวัฒนธรรม, การอนุรักษ์, สิ่งแวดล้อม, กีฬา, รวมไปถึงข่าวเกษตร ฯลฯ

Related items

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM