เครือสหพัฒน์ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน และยกระดับธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นำไปสู่การเติบโตขององค์กรในระยะยาว
จึงได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “บทบาทของคณะกรรมการท่ามกลางความท้าทายในการกำกับดูแล เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับองค์กรและสังคม” (ESG and Sustainable Value Creating) เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยได้รับเกียรติจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก นายอนันตชัย ยูรประถม กรรมการอิสระ บมจ. เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG เป็นวิทยากร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกคนกล่าวถึง สหพัฒนพิบูล หรือ SPC และเครือสหพัฒน์ ในทางบวก โดยเฉพาะการดำเนินการในเรื่องของความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหลายเรื่องที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่แล้ว แต่กฎกติกาต่าง ๆ ทำให้องค์กรต้องหันมาดำเนินการอย่างเป็นระบบมากขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เป้าหมายในเรื่องของความยั่งยืนนั้น จากเดิมที่เป็นการชักชวนกันทำแบบสมัครใจ จะถูกเปลี่ยนมาเป็นกฎระเบียบที่ถูกบังคับใช้มากขึ้นและสิ่งเหล่านี้จะเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น ESG จะเป็นทั้งความท้าทายและความเสี่ยงสำหรับทุกธุรกิจ และการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนนั้นมีต้นทุนสูง แต่หากไม่ดำเนินการเลย สิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงสูงมากในอนาคต และหากดำเนินการอย่างไม่มีแผนที่เป็นระบบ จะตามมาด้วยภาระต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นกัน
โดยเริ่มต้นตั้งแต่ การมีบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรที่สอดคล้องกับความยั่งยืน เป็นแบบอย่างในการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรให้สอดคล้องกับความยั่งยืน มีการบูรณาการวิสัยทัศน์และค่านิยมนำมาสู่กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปด้วยความยั่งยืน
เรียกได้ว่า การลงทุนด้านความยั่งยืนนั้น เป็นทั้งความเสี่ยงและขณะเดียวกันจะเป็นโอกาส หากสามารถเกาะติดแนวโน้มผู้บริโภคด้านความยั่งยืนได้ จะนำมาซึ่งการสร้างโอกาสทางธุรกิจเช่นเดียวกัน ทั้งหมดจึงกลับมาที่คณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางในการสร้างโอกาสธุรกิจที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ การมีบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรที่สอดคล้องกับความยั่งยืน เป็นแบบอย่างในการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรให้สอดคล้องกับความยั่งยืน มีการบูรณาการวิสัยทัศน์และค่านิยมนำมาสู่กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปด้วยความยั่งยืน มีเป้าหมายระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อให้การดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนนั้นเป็นไปได้ โครงสร้างของคณะกรรมการที่เอื้อต่อการกำกับการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ นอกจากนี้คณะกรรมการต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ทราบถึงแนวโน้มปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีการประเมินความเข้าใจประสิทธิภาพของตัวกรรมการ กำกับดูแลให้โครงสร้างองค์กรสามารถดำเนินการให้มีความยั่งยืน เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นและนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาประมวลเพื่อจัดลำดับความสำคัญเพื่อความยั่งยืน จัดทำและทบทวนนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ดูแลให้ฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรให้เพียงพอในการผลักดันการดำเนินงานต่าง ๆ มีเป้าหมาย มีตัวชี้วัด และมีกรอบเวลา และมีการติดตามความก้าวหน้า และสื่อสารเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบความก้าวหน้าต่าง ๆ ต่อไป

ด้านนายอนันตชัย ยูรประถม กรรมการอิสระ บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แต่เดิมที่คุ้นเคยกับคำว่า CSR เป็นการดำเนินการด้วยความสมัครใจ แต่ปัจจุบันการให้ความสำคัญในเรื่องที่เป็นกระแสของ ESG เป็นอีกความท้าทายขององค์กรธุรกิจ ซึ่งสิ่งสำคัญคือคณะกรรมการต้องมีความเข้าใจและมีความตื่นตัวในเรื่องของ ESG และมีบทบาทเป็นผู้นำในการกำกับดูแลติดตาม การรายงาน การใช้ข้อมูล เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG (ESG-Related Risk) ให้กับองค์กร เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ (Opportunities & ESG Strategy) ภายใต้เป้าหมายคือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน บนความท้าทายด้าน ESG ที่ได้ถูกกำหนดออกมาเป็นข้อกำหนด กฎหมาย และข้อบังคับ (ESG Legislation) ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ. Climate Change) ที่คาดว่าจะสามารถบังคับใช้ภายในปี 2572 ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CHG) เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 หรือ พ.ศ.2608 รวมถึง ภาษีคาร์บอนของไทย ที่คาดว่าสามารถบังคับใช้อย่างเร็วสุดภายในปีงบประมาณ 2568 เพื่อให้ทันการเก็บค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism CBAM กลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ในปี 2569
ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า องค์กรที่มีการเชื่อมโยงโครงการเข้ากับ ESG ส่งผลให้องค์กรนั้น ๆ มีความเสี่ยงในสภาวะวิกฤติลดลง และมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งการเติบโตไปสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืนนั้น เริ่มต้นด้วยการคำนึงถึง 3 วงกลม ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ Economic Prosperity ด้านสังคม Social Responsibility และด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Protection ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดเป็น 17 เป้าหมาย Sustainable Development GOAL ซึ่งเป็นเป้าหมายของประชาคมโลก
อย่างไรก็ดี สำหรับหลักปฏิบัติ 8 ข้อสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Code : Corporate Governance Code) ที่สามารถนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับธุรกิจ ได้แก่ 1. ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน 2. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน 3. เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล 4. สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร 5. ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ 6. ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม 7. รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล 8. สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น

รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
