กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน นำคณะผู้แทนจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสำรวจโอกาสทางธุรกิจในไทย

Lee May
ลี เมย์ อธิบดีกรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน นำคณะผู้แทนจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไต้หวันเดินทางมาสำรวจโอกาสทางธุรกิจและจับคู่ทางธุรกิจในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-13 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไต้หวันได้พัฒนาโอกาสทางธุรกิจในประเทศต่างๆ ตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound) ทั้งนี้ คณะผู้แทนซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัท Youngqin Int'l Co., Milksha, Chun Shui Tang, Du Hsiao Yueh รวมถึงบริษัทน้ำแข็ง อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารไต้หวันหลากหลายแบรนด์ ได้เยี่ยมเยือนองค์กรการค้าของจีน ศูนย์กลางการลงทุน ห้างสรรพสินค้า รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของไทย เพื่อสำรวจโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทย

Mr. Tung Chen-Yuan
ในช่วงเริ่มต้นการประชุม สมาคมการค้าไทย-ไต้หวัน ได้แบ่งปันประสบการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจจากไต้หวัน ขณะเดียวกัน นายถง เจิ้นหยวน ผู้แทนของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ได้แนะนำ "บริการด้านการลงทุนทวิภาคีไต้หวัน-ไทยแบบครบวงจรในจุดเดียว" ซึ่งรวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การจับคู่ธุรกิจ ฯลฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือนักลงทุนที่วางแผนจะเข้าสู่ตลาดในประเทศไทย

นอกจากนี้ กรมพาณิชย์ไต้หวันและสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลของไต้หวันแห่งประเทศไทย ยังร่วมกันจัด "การประชุมจับคู่ธุรกิจแฟรนไชส์ระหว่างประเทศแห่งประเทศไทยประจำปี 2562" และเชิญผู้ประกอบการไทย 30 รายที่สนใจอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไต้หวันเข้าร่วมงาน โดยในระหว่างการประชุมได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) รวม 7 ฉบับ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยและไต้หวันหลายรายยังแสดงความปรารถนาที่จะสร้างความร่วมมือทางธุรกิจเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ กรมพาณิชย์ไต้หวันจะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นด้านกฎหมายและภาษีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจจากไต้หวันสามารถแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดต่างๆ ตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่


นางลลิดา จิวะนันทประวัติ (ที่ 6 จากขวา) รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไทย และ นางลี เมย์ (ที่ 6 จากซ้าย) อธิบดีกรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน เข้าร่วมประชุม "2019 Thailand International Franchise BIZ Matchmaking" พร้อมทั้งพบปะนักธุรกิจไต้หวัน และเยี่ยมชมบูธผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ที่อยู่ในการส่งเสริมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในงาน "Thailand Franchise Business Opportunity (TFBO), 14th edition" ณ ห้องประชุม 214 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา

ประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน และมีประชากรประมาณ 69 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังเป็นประตูสู่ตลาดอาเซียน เพราะเป็นจุดตัดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในแง่ของตลาดอาหารและเครื่องดื่มนั้น ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดมากกว่า 4 แสนล้านบาท สำหรับอาหารไต้หวัน เช่น ชาไข่มุก เสี่ยวหลงเปา และขนมปังไต้หวัน กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก ไต้หวันจึงหาทางส่งออกอาหารมายังประเทศไทย คนไทยชอบลองอาหารใหม่ๆ และสนใจอาหารสุขภาพแนวใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รูปแบบการดำเนินธุรกิจของแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มไต้หวัน ซึ่งมีความหลากหลาย ทันสมัย และมุ่งเน้นสุขภาพ ก็เข้ากันได้กับแนวโน้มการบริโภคในประเทศไทย ดังนั้น กรมพาณิชย์ไต้หวันจึงหวังที่จะผลักดันแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มไต้หวันให้เข้ามาคว้าโอกาสในประเทศไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจในตลาดอาหารและเครื่องดื่มของไทย