โดย : บริษัท ทีวายตะวันออก จำกัด (TY EASTERN CO., LTD.)
ก.ส่วนประกอบระบบประปาประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน คือ
1) ถังเก็บน้ำประปา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1A. ถังเก็บน้ำบนดิน
ในอาคารสูงจำเป็นต้องสร้างถังเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อใช้สำหรับเครื่องสูบน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อไว้ใช้ป้องกันอัคคีภัยด้วย ขนาดของถังเก็บน้ำที่เล็กที่สุดที่ต้องสามารถเก็บน้ำไว้ได้ไม่น้อยกว่าผลต่างระหว่างปริมาณน้ำที่ถูกสูบออกไปจากถังเก็บน้ำ และปริมาณน้ำที่ไหลเข้าถังเก็บน้ำในแต่ละรอบของการเดินเครื่องสูบน้ำ ส่วนถังเก็บน้ำที่ใหญ่กว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการในการสำรองน้ำเอาไว้ ตามลักษณะประเภทของอาคาร ถังเก็บน้ำมักจะสร้างในระดับดิน เพื่อให้น้ำจากท่อจ่ายน้ำของการประปาสามารถไหลเข้ามาได้สะดวก

อาคารขนาดเล็กปริมาณใช้น้ำไม่มากถังเก็บน้ำบนดินขนาด 1000 ลิตร 2 ใบ ต่อพ่วงก็เพียงพอ
1B. ถังเก็บน้ำบนหลังคาหรือถังสูง
ถังสูงจะต้องอยู่ในระดับซึ่งสามารถให้ความดันแก่เครื่องสุขภัณฑ์ชั้นบนได้อย่างพอเพียง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสวยงามและทางด้านโครงสร้างของอาคารด้วย
ท่อส่งเข้าถังจากเครื่องสูบน้ำ ซึ่งที่ปลายท่อส่งน้ำอาจจะติดตั้งประตูน้ำลูกลอย เพื่อใช้ในกรณีที่ระบบควบคุมการทำงานขัดข้อง น้ำจะได้ไม่ไหลล้นออกจากถังสูง
ท่อจ่ายน้ำให้ระบบ โดยจะต้องต่อท่อจ่ายน้ำรวมให้ออกที่จุดสูงกว่าก้นถังประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในถังอย่างทั่วถึง และมีชั้นเก็บตะกอนที่ก้นถัง
ท่อน้ำล้นให้มีขนาดใหญ่พอที่จะรับปริมาณน้ำที่สูบเข้าถังได้
ท่อระบายน้ำก้นถัง เพื่อใช้ซ่อมบำรุงโดยปลายท่อระบายน้ำทิ้งและท่อน้ำล้น
ปริมาณของน้ำสำรองเพื่อการดับเพลิง ควรจะมีปริมาณเพียงพอที่จะจ่ายน้ำดับเพลิงได้ภายในเวลา 20 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบดับเพลิงด้วย
ขนาดของถังเก็บน้ำหลังคาหรือถังสูง สามารถพิจารณาได้ 2 ทางคือ
พิจารณาจากการใช้น้ำ โดยกำหนดให้ถังเก็บน้ำสำรองเอาไว้ใช้ได้เป็นเวลา 30 นาที ทำให้อาคารยังคงมีน้ำใช้ในกรณีที่ไฟฟ้าดับ หรือเครื่องสูบน้ำเสีย หรือน้ำประปาขาดช่วงในระยะเวลาสั้น ๆ นอกจากนั้น การที่เครื่องสูบน้ำทำงานเพียง 2 ครั้งต่อชั่วโมง จะทำให้มีอายุในการใช้งานที่ยาวนาน
พิจารณาตามความเหมาะสมของอาคารและการใช้งาน โดยเปรียบเทียบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่มีน้ำประปาในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ กับราคาค่าก่อสร้าง สถานที่ตลอดจนความสวยงามต่าง ๆ โดยเฉพาะอาคารพิเศษ เช่น โรงพยาบาล ห้องทดลอง เป็นต้น

ถังเก็บน้ำบนหลังคาขนาด 1000 ลิตร 4 ใบ ต่อพ่วง
2) เครื่องสูบน้ำ
ความสามารถในการสูบน้ำของเครื่องสูบน้ำรวมทั้งหมด โดยปกติจะเท่ากับอัตราการใช้น้ำสูงสุด ซึ่งโดยหลักการออกแบบจะต้องมีเครื่องสูบน้ำสำรองเอาไว้ ในกรณีซึ่งอาจเกิดการชำรุดเสียหาย ส่วนความดันรวม (Total Dynamic Head) จะใช้คำนวณเป็นหน่วยความสูงของน้ำ สามารถคำนวณได้จากค่าความแตกต่างความสูงของระดับน้ำต่ำสุดในถังเก็บน้ำกับปลายท่อส่งน้ำ รวมทั้งการสูญเสียความดันในท่อส่งน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อได้ปริมาณการสูบน้ำและความดันรวม ก็สามารถเลือกชนิดของเครื่องสูบน้ำได้อย่างถูกต้อง ระบบควบคุมการทำงานสามารถใช้ได้ทั้ง Float Mercury Switch, Pressure Switchหรือ Electrode Probe เพื่อสั่งให้เครื่องสูบน้ำทำงานเมื่อน้ำในถังลดระดับมาถึงระดับที่ต้องการ และสั่งให้หยุดเมื่อน้ำในถังถึงระดับสูงสุด

เครื่องสูบน้ำสำหรับระบบประปา (END Suction Pump)
3) ระบบท่อจ่ายน้ำ
ท่อจ่ายน้ำประปาภายในอาคารนิยมใช้เป็นท่อเหล็กชุบสังกะสี เพื่อป้องกันการเกิดสนิม ท่อพีวีซี ท่อ HDPEและท่อ HDPB การติดตั้งท่อประปาเพื่อจ่ายน้ำประปาในอาคารจะต้องคำนวณอัตราการไหลและแรงดันที่อุปกรณ์ใช้น้ำต้องการ การออกแบบท่อประปาที่มีขนาดเล็กเกินไปจะเกิดแรงเสียดทานในท่อมาก เครื่องสูบน้ำจะต้องทำงานหนักและน้ำไหลช้า ท่อจ่ายน้ำประปาจะต้องติดตั้งอุปกรณ์เปิด-ปิด เพื่อความสะดวกในการบำรุงรักษา
4) วาล์วและอุปกรณ์ประกอบ
วาล์วและอุปกรณ์ประกอบท่อน้ำประปา จะติดตั้งไว้เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษา วาล์วในระบบประปามีหลายแบบ เช่น Gate Valve, Butterfly Valve และBall Valve เป็นต้น

ก) Gate Valve

ข) Butterfly Valve

ค) Ball Valve
5) สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้น้ำ
สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้น้ำ เช่น โถปัสสาวะ อ่างล้างมือ เป็นต้น
ข.การวางท่อประปา
หัวใจสำคัญของระบบท่อประปาจำเป็นต้องพยายามเดินท่อโดยใช้ความยาวท่อที่สั้นที่สุด มีการเลี้ยวคดไปคดมาน้อยที่สุด ตำแหน่งของท่อประปาควรอยู่บริเวณที่สามารถเข้าไปบำรุงรักษาและซ่อมแซมได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการวางท่อประปาประเภทใดก็ตาม

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการวางท่อประปา
1.แรงดันภายในท่อประปา สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำประปาแตกชำรุดเกิดจากแรงดันภายในท่อน้ำประปา เกิดจากแรงดันน้ำกระแทกกลับ (Water Hammer) เนื่องจากความเร็วในเส้นท่อถูกหยุดทันทีทันใดโดยการปิดประตูน้ำอย่างรวดเร็ว หรือเครื่องสูบน้ำหยุดทันทีเพราะไฟฟ้าดับเกิดแรงกระแทกกลับของน้ำในเส้นท่อทำให้ท่อแตก หรือ เกิดจากภายในท่อน้ำประปามีอากาศค้างอยู่ในเส้นท่อทำให้น้ำอัดดันท่อระเบิดแตก สาเหตุนี้เนื่องจากปล่อยให้หอถังสูงน้ำแห้งเสมอและเมื่อสูบน้ำเต็มหอถังสูงแล้วจ่ายเข้าเส้นท่ออากาศที่ค้างภายในท่อถูกอัดจึงแตกชำรุด
2.แรงภายนอกท่อน้ำประปา สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำประปาแตกชำรุดเกิดจากแรงดันภายนอกท่อน้ำประปา เกิดจากท่อน้ำประปาด้านบนถูกกดทับเนื่องจากยวดยานวิ่งผ่านบนดินกลบท่อด้านบนกระแทกท่อน้ำประปาแตกชำรุด
3.แรงยืดหดตัวของดินของท่อประปา สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำประปาแตกชำรุดเกิดจากการยืดหดตัวของดินด้านบนที่ใช้กลบท่อน้ำประปา เนื่องจากหน้าแล้งดินเหนียวถูกแสงแดดจนแตกกระแหงดินหดตัวไปดึงท่อน้ำประปาแตกชำรุด
4.แรงเกิดจากคานดีดคานงัดของท่อน้ำประปา สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำประปาแตกชำรุดเกิดจากการวางท่อประปามีหินหรือเศษไม้รองอยู่ใต้ท่อน้ำประปา เมื่อมีน้ำหนักมาทับบนแนวท่อบริเวณที่รองด้วยก้อนหินทำให้ท่อหักหรือแตกชำรุด

การกำหนดความลึกของการวางท่อน้ำประปา แบ่งออกได้ดังนี้
ท่อขนาด (นิ้ว) ความลึกหลังท่อ (เมตร)
4 (100 มม.) 0.80
6 (150 มม.) 0.80
8 (200 มม.) 1.00
10 (250 มม.) 1.00
12 (300 มม.) 1.00
16 (400 มม.) 1.00
20 (500 มม.) 1.00
24 (600 มม.) 1.00
ท่อประปาขนาดเล็กกว่า Ø 3 นิ้ว ความลึกหลังท่อไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร ท่อประปาทุกขนาดต้องรองด้วยทรายใต้ท้องท่อให้หนาไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร กลบท่อด้วยทรายบนหลังท่อไม่น้อยกว่า 10 – 30 เซนติเมตร

การทดสอบแรงดันท่อน้ำประปา ระหว่างการดำเนินการวางท่อประปาต้องคำนึงถึงความสะอาดในการต่อท่อและอุปกรณ์ต่างๆเป็นพิเศษ เนื่องจากสิ่งสกปรกจะเป็นสาเหตุของการรั่วซึม เมื่อวางท่อประปาเป็นทีเรียบร้อยแล้ว ให้เว้นเฉพาะข้อต่อท่อประปาทุกจุดไว้ก่อนที่เกลบดินทั้งหมด เพราะจะต้องผ่านการทดสอบแรงดันในเส้นท่อเสียก่อนว่ามีจุดรั่วซึมบริเวณใดบ้างจะสังเกตเห็นได้ง่าย หากกลบท่อไปแล้วจะเกิดปัญหายุ่งยากในการค้นหาจุดรั่วซึมให้ทดสอบแรงดันของท่อแต่ละชนิดต้องไม่เกิน 2 เท่า ของแรงดันใช้งาน หรือท่อขนาด Ø 4 ขึ้นไปจะทดสอบด้วยแรงดันที่ 6 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (Kg/cm 2) ภายใน 1 ชั่วโมง เข็มที่เครื่องวัดแรงดันต้องคงที่ถือว่าท่อไม่มีการรั่วซึม หากแรงดันทีเครื่องวัดเข็มตกลงจากเดิม แสดงว่า ท่อมีการรั่วซึม ต้องเร่งหาจุดรั่วซึมและรีบทำการซ่อมโดยด่วน พร้อมการทดสอบใหม่อีกครั้ง การทดสอบแรงดันท่อให้ติดตั้งเครื่องวัดแรงดัน 3 จุด บริเวณต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ของท่อน้ำประปา บริเวณที่ติดเครื่องวัดแรงดันต้องท่อต่อระบายอากาศไว้ด้วยทุกจุด ข้อควรระวังก่อนการทดสอบแรงดันทุกครั้งต้องไล่อากาศให้หมดจากเส้นท่อก่อนมิฉะนั้นท่อจะระเบิดเสียหายได้ ระว่างการทดสอบห้ามเปิดประตูน้ำระบายอากาศโดยเด็ดขาดเพราะจะเกิดแรงกระแทกกลับทำให้ท่อหลุดออกจากกันได้

ค.ระบบจ่ายน้ำประปาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1) ระบบจ่ายน้ำประปาขึ้น (Up-feed Distribution System)
ระบบจ่ายน้ำประปาขึ้นหมายถึง ระบบจ่ายน้ำประปาขึ้นจากชั้นล่างของอาคารไปแจกจ่ายทั่วอาคาร จนถึงชั้นบนของอาคาร ดังแสดงในภาพที่ โดยความดันน้ำของท่อประปาประธานที่จ่ายต้องมีมากเพียงพอที่จะจ่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ใช้น้ำที่อยู่ชั้นบนๆ ถ้าต้องเดินท่อจ่ายยาวมาก อาจทำให้ความดันลดเนื่องจากความยาวของท่อมีมาก ทำให้ความดันน้ำภายในท่อลดลงมาก ซึ่งอาจจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรือถังอัดความดันไว้ที่ชั้นล่าง เพื่อทำหน้าที่สูบจ่ายน้ำประปาขึ้นในอาคารโดยตรง ดังแสดงในภาพที่ อาคารที่มีขนาดสูงเกิน 10 ชั้น และหรือมีพื้นที่อาคารเกิน 10,000 ตร.เมตร ไม่ควรใช้วิธีจ่ายน้ำประปาขึ้น แม้ว่าจะมีเครื่องสูบน้ำ และถังอัดความดันช่วยก็ตาม เพราะไม่ประหยัดพลังงานไฟฟ้าและขนาดของถังอัดความดันจะมีขนาดใหญ่จนเกินไป ดังรูปที่ 2.6
2) ระบบจ่ายน้ำประปาลง (Down-feed Distribution System)
ระบบจ่ายน้ำประปาลง หมายถึง ระบบจ่ายน้ำประปาจากชั้นบนสุดไหลลงจ่ายทั่วอาคารไปจนถึงชั้นล่าง ดังแสดงในภาพที่ หลักการของระบบจ่ายน้ำประปาลงคือ น้ำประปาไหลจากท่อประปาประธานเข้าสู่ถังเก็บน้ำใต้ดิน มีเครื่องสูบน้ำทำการสูบน้ำประปาขึ้นไปเก็บไว้ในถังน้ำบนหลังคาของอาคาร น้ำประปาจากถังเก็บน้ำบนหลังคาจะจ่ายลงไปทั่วอาคาร ระบบจ่ายน้ำประปาวิธีนี้นิยมใช้กับอาคารสูง 3 ชั้นขึ้นไป ซึ่งวิธีจ่ายน้ำประปาลงจะเป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างมากที่สุด ยกเว้นบางอาคารที่ไม่สามารถติดตั้งถังเก็บน้ำบนหลังคาได้เลย จึงจำเป็นต้องเลือกใช้ระบบจ่ายน้ำประปาขึ้น ความดันของระบบจ่ายน้ำประปาลงจำเป็นต้องพิจารณาขนาดความดันน้ำ ณ ระดับสูงต่างๆ ของอาคารโดยเฉพาะบริเวณชั้นบนสุดและชั้นล่างสุด เพราะบริเวณชั้นบนสุดจะมีขนาดความดันน้ำต่ำสุดของอาคารและบริเวณชั้นล่างสุดจะมีขนาดดันน้ำสูงสุดของอาคาร โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับความดันน้ำของท่อประปาที่จ่ายแต่ละชั้นดังต่อไปนี้
- ความดันของน้ำต่ำสุด ที่ยอมให้มีได้ของท่อประปาจะจ่ายบริเวณชั้นบนสุดควรมีเกิน 10 ม.ของน้ำ
- ความดันของน้ำสูงสุด ที่ยอมให้มีได้ของท่อประปาที่จ่ายบริเวณชั้นล่างสุดไม่ควรมีเกิน 56 ม.ของน้ำ
จากเงื่อนไขทั้งสองข้อดังกล่าวแสดงว่า ระยะสูงระหว่างผิวน้ำในถังเก็บน้ำบนหลังคากับชั้นบนสุดของอาคารที่มีการเดินท่อประปาจะต้องมีอย่างน้อย 10 เมตร มิฉะนั้นจะต้องมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำกับถังอัดแรงดัน เพื่อเพิ่มความดันน้ำในเส้นท่อประปาบริเวณชั้นบน ๆ ดังรูปที่ 2.7 สำหรับระยะสูงระหว่างผิวน้ำในถังเก็บน้ำบนหลังคากับชั้นล่างสุดของอาคารจะต้องมีไม่มากกว่า 56 เมตร (อาคาร 12 ชั้น) เพื่อป้องกันไม่ให้วาล์วและเครื่องสุขภัณฑ์เสียหาย เนื่องจากมีความดันของน้ำในเส้นท่อบริเวณชั้นล่างสูงเกินไป ซึ่งปัญหานี้อาจแก้ได้โดยการติตั้งวาล์วลดความดัน ที่ท่อแยกตามชั้นล่างต่าง ๆ ดังรูปที่ 2.7 เช่นเดียวกัน
3) ระบบจ่ายน้ำประปาแบบผสม (Up and Down feed Distribution System)
ระบบจ่ายน้ำประปาแบบผสม หมายถึง ระบบจ่ายน้ำประปาที่มีการจ่ายน้ำประปาทั้งแบบจ่ายลงและแบบจ่ายขึ้น โดยสามารถทำหน้าที่จ่ายน้ำประปาแบบใดแบบหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับผู้อาศัยจะเลือกใช้ ข้อดีของระบบนี้คือ สามารถรับน้ำประปาที่จ่ายจากท่อประปาประธานหรือระบบสูบน้ำโดยตรงจากชั้นล่างได้ หรือสามารถรับน้ำประปาที่จ่ายจากถังเก็บน้ำบนหลังคาได้ เช่น ในบางเวลาน้ำประปาจากท่อประปาประธานเกิดหยุดไหล ผู้อาศัยเพียงแต่เปิดวาล์วให้น้ำจากถังเก็บน้ำบนหลังคาจ่ายลงไปทั่วอาคารได้ทันที โดยปราศจากการขาดน้ำใช้ในอาคาร สำหรับข้อเสียของระบบนี้คือ จำเป็นต้องมีการติดตั้งท่อประปายาวขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของอาคารนั้นด้วย รูปที่ 2.8 แสดงระบบจ่ายน้ำแบบผสมของอาคารทั่วไป
