IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นายสมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC เปิดเผยว่า จากการสรุปผลประกอบการล่าสุด บริษัทมีผลประกอบการในไตรมาส 1/64 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมาถึง 53% โดยมีรายได้อยู่ที่ 3,594 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลักมาจากงานรับจ้างผลิต (OEM) และจากชิ้นส่วนเครื่องไฟฟ้า
ทั้งนี้บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนด้วยงบลงทุน 1,440 ล้านบาท เพื่อที่จะใช้ในการก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้าสำหรับธุรกิจตู้เก็บเครื่องมือ (Toolbox) และคลังสินค้าสำหรับธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 780 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักร สำหรับการขยายกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มูลค่า 660 ล้านบาท อีกด้วย
โดยภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย ด้านการผลิตในช่วงไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 7.09 ล้านเครื่อง ลดลงจากไตรมาส 1/63 ที่ 4.4% แบ่งเป็นการส่งออกของไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 5.53 ล้านเครื่อง ลดลงจากไตรมาส 1/63 ที่ 4.9% และตลาดในประเทศช่วงไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 1.55 ล้านเครื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 ลดลงที่ 2.6%
อย่างไรก็ตามคาดว่าภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลกระทบที่ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกยังติดขัด ส่วนนึงมาจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
ขณะที่ตลาดรถยนต์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด-19 โดยภาพรวมตลาดปี 63 อยู่ที่ 1.4 ล้านคัน ปีนี้จึงปรับตัวดีขึ้นที่ 1.5 ล้านคัน ในช่วงไตรมาส 1/64 นี้ภาพรวมอยู่ที่ 470,000 คัน ซึ่งเติบโตกว่าไตรมาส 1/63 ที่ 4% โดยส่วนมากเติบโตจากตลาดส่งออกที่ 280,000 คัน ซึ่งเติบโตกว่าไตรมาส 1/63 ถึง 12% ทั้งนี้ตลาดรถยนต์ในประเทศไตรมาส 1/64 ลดลงจากไตรมาส 1/63 ที่ 5% อยู่ที่ 190,000 คัน ส่วนตลาดเครื่องซักผ้าในประเทศไทย ช่วงไตรมาส 1/64 มียอดผลิตรวมที่ 1.94 ล้านตู้ ซึ่งเติบโตจากไตรมาส 1/63 ถึง 21.2% โดยแบ่งเป็นส่งออกในไตรมาส 1/64 ที่ 1.47 ล้านตู้ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ 23% และจากตลาดในประเทศ 470,000 ล้านตู้ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ 15.7%
สำหรับตลาดเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นคาดภาพรวมทั้งปีเติบโตกว่า 10% ในไตรมาส 1/64 ภาพรวมตลาดอยู่ที่ 2.21 ล้านตู้ เติบโตกว่าไตรมาส 1/63 ที่ 15.7% แบ่งเป็นตลาดส่งออกไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 1.73 ล้านตู้ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ 19.3% ส่วนตลาดในประเทศไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 480,000 ตู้ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ 4.2% โดยเป้าหมายในปี 2564 นี้ บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตที่ 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 8,961 ล้านบาท ซึ่งทิศทางผลประกอบการจะเติบโตในทุกๆกลุ่ม เริ่มจากงานรับจ้างผลิต (OEM) เครื่องปรับอากาศคาดว่าจะมีการผลิตที่ 1.7 ล้านเครื่อง เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 1.1 ล้านเครื่อง เครื่องซักผ้าและตู้เย็นคาดว่าจะมีการผลิตที่ราว 200,000 ล้านเครื่อง ยอดผลิตทีวีปีนี้ที่ 150,000 เครื่อง สุดท้ายคือตู้เก็บเครื่องมือ (Toolbox) คาดว่าจะผลิตได้ราว 200,000 เครื่อง
ในส่วนของยอดขายชิ้นส่วน อาทิ ท่อทองแดง โลหะแผ่น คาดว่ารายได้ปี 2564 นี้ จะฟื้นตัวกลับมาเติบได้ใกล้เคียงกับปี 2562 โดยจะได้รับปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กลับมาฟื้นตัว มีการออกรถยนต์รุ่นใหม่ๆ และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทเริ่มได้รับคำสั่งซื้อชิ้นส่วนเข้ามา นอกจากนี้คำสั่งซื้อชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเริ่มกลับมาแล้ว โดยในช่วงไตรมาส 1 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการผลิตเครื่องปรับอากาศ ส่วนสุดท้ายคือตู้เย็นและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีผู้ผลิตหลายๆรายย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย สำหรับสัดส่วนรายได้ปัจจุบันมาจากเครื่องปรับอากาศ 65% Toolbox 11% ยานยนต์ 9% ตู้เย็น 5% เครื่องทำน้ำอุ่น 4% ทีวี 3% และเครื่องซักผ้า 2%
ด้าน นายรัฐภูมิ นันทปถวี กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC เปิดเผยเพิ่มเติมว่า บริษัทคาดผลประกอบการในไตรมาส 2/64 เติบโตกว่าไตรมาส 1/64 โดยจะมาจากธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ที่ได้รับออร์เดอร์เข้ามามากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านเครื่อง ในช่วงพีคใช้กำลังการผลิตค่อนข้างเต็มที่ โดยจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 ล้านเครื่องเพื่อรองรับออเดอร์เพิ่ม และยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ปี 64 ที่ 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 8,961 ล้านบาท
"จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอกใหม่ บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากบริษัทยังคงรักษามาตรการความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ธุรกิจจะมีการส่งออกเป็นหลัก แต่ในปี 2563 ที่แล้วก็ยังเห็นการเติบโต ประกอบกับในไตรมาส 1/64 เองก็สะท้อนตัวเลขการเติบโตที่ดีขึ้น ส่วนปัญหาด้านราคาทองแดงที่เพิ่มขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากบริษัทจะมีการคุยราคากับลูกค้าในทุกๆ 3 เดือนอยู่แล้ว" นายรัฐภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทได้เพิ่มทุนและได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนโดยปรับแผนไปเป็นขยายกำลังการผลิตธุรกิจเดิม ได้แก่ ธุรกิจรับจ้างผลิตและประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า (OEM) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (PARTS) และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ (AUTO)และรองรับโอกาสใหม่ทางธุรกิจนั้น บริษัทมีแผนสร้างอาคารเพิ่ม 3 หลัง โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมด 1 แสนตารางเมตร ประกอบกับมีการลงทุนในเครื่องจักรเพิ่ม โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1,155 ล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยสร้างโรงงานได้ในไตรมาส 3/64 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้
นอกจากนี้บริษัทจะใช้เงินเพิ่มทุนเพื่อรองรับการก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าสำหรับธุรกิจผลิตตู้เก็บเครื่องมือ (Toolbox) และการสร้างคลังสินค้าสำหรับใช้ภายในกลุ่มบริษัท ราว 800 ล้านบาท และงบเครื่องจักรอีกประมาณ 300 ล้านบาทนั้น เนื่องจากว่าลูกค้าคือ Geelong บริษัทในประเทศจีนได้แจ้งปรับโครงสร้างการถือหุ้นจาก Orchid Asia เป็น Great Star ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทเรื่องการรับจ้างผลิต (OEM) ตู้เก็บเครื่องมือ (Toolbox) และส่งผลกระทบต่อโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า
ขณะที่ทาง Geelong ขอให้บริษัทรอความชัดเจนเรื่องการเช่าโรงงาน ประกอบกับออเดอร์ที่มากขึ้นจากการรับจ้างผลิต (OEM) ของประเทศจีน และประเทศเวียดนาม ทางบริษัทจึงไม่สามารถรอความชัดเจนจากทาง Geelong ได้จึงขออนุมัติบอร์ดเพื่อเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการลงทุน ให้เป็นการสร้างโรงงานเพื่อการผลิตสินค้าประเภทอื่น โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการผลิตสินค้าหลัก คือเครื่องปรับอากาศ 720,000 เครื่อง และทีวีอีก 90,000 เครื่อง รวมงานรับจ้างผลิต (OEM) ทั้งหมด 810,000 เครื่อง แต่ในปี 2564 นี้บริษัทวางแผนผลิต งานรับจ้างผลิต (OEM) มากขึ้นเป็น 1.34 ล้านเครื่อง โดยแบ่งเป็นเครื่องปรับอากาศ 1.05 เครื่อง, ทีวี 220,000 เครื่อง, ปีนี้เริ่มผลิตตู้เย็น 50,000 เครื่อง และในช่วงไตรมาส 3-4/64 จะเริ่มผลิตเครื่องซักผ้าอีก 20,000 เครื่อง ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะมีออเดอร์จากงานรับจ้างผลิต (OEM) เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2.31 ล้านเครื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป จึงเป็นเหตุผลในสร้างโรงงาน และเพิ่มการลงทุนในเครื่องจักร เพื่อรองรับการผลิตสินค้าจากการรับจ้างผลิต (OEM) ที่มากขึ้นต่อไป