IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นายสมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC เปิดเผยว่า ผลสรุปการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ รายได้มีการเติบโตค่อนข้างมากจากคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมถึงได้รับอานิสงค์จากการเปิดฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มประเทศ จีนและเวียดนาม ส่งผลให้บริษัทฯมีออเดอร์เพิ่มในส่วนงาน OEM เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นมา 7 งวดติดต่อกัน บริษัทฯจึงมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า OEM ในส่วนเครื่องปรับอากาศอีก 40% จาก 2 ล้านเครื่อง เป็น 3 ล้านเครื่อง เพื่อรองรับเป้าหมายกำไรปี 2565 ให้โตเพิ่มอีก 30%
บริษัทคาดว่ารายได้ทั้งปี 2565 จะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% ตามเป้าหมาย หลังจากไตรมาสแรกเติบโตได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพิ่มมาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ผลประกอบการของบริษัทในการเติบโตดังกล่าวได้รับปัจจัยหนุนหลักจากตลาดสหรัฐที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และรถยนต์ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ Toolbox ที่ยังมีคำสั่งซื้อจากสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาสนับสนุนการเติบโตของบริษัทด้วย
“บริษัทคาดว่ารายได้ทั้งปี 2565 จะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% ตามเป้าหมาย หลังจากไตรมาสแรกเติบโตได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพิ่มมาเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงติดตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อในสหรัฐที่เร่งตัวขึ้น ภาวะสงคราม ต้นทุนด้านวัตถุดิบ และอีกหลายๆปัจจัย เราจึงยังคงเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 10% เป็นอย่างน้อย” นายสมชายกล่าว
โดยในปี 2565 นี้บริษัทจะมีกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศจะเพิ่มเป็น 3 ล้านเครื่อง จากปีก่อนที่ 2 ล้านเครื่อง และเตรียมพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 ล้านเครื่องในปี 66 ส่วนของสายการผลิตกลุ่มโทรทัศน์ ก็จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 3.5 แสนเครื่อง จากปีก่อนหน้าที่มีกำลังการผลิต 3 แสนเครื่องอีกด้วย ส่วนมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ของประเทศจีนเพื่อที่จะสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทมีคำสั่งซื้อสินค้าในเมืองอื่นๆที่ไม่ได้มีการ Lockdown แต่ในระยะถัดไปหากในเมืองที่มีลูกค้าของบริษัทอยู่ใช้มาตรการ Lockdown บริษัทก็ได้เตรียมแผนเจรจากับลูกค้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งบริษัทยืนยันได้ว่าจะไม่มีผลกระทบจนถึงขั้นหยุดสายการผลิตจนไม่สามารถส่งสินค้าได้แน่นอน
ทั้งนี้จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอกใหม่ บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากบริษัทยังคงรักษามาตรการความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ธุรกิจจะมีการส่งออกเป็นหลัก แต่ในปี 2563 ที่แล้วก็ยังเห็นการเติบโต ประกอบกับในไตรมาส 1/64 เองก็สะท้อนตัวเลขการเติบโตที่ดีขึ้น ส่วนปัญหาด้านราคาทองแดงที่เพิ่มขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากบริษัทจะมีการคุยราคากับลูกค้าในทุกๆ 3 เดือนอยู่แล้ว เพื่อรับทราบปัญหาและแก้ใขสถานการณ์ได้ทันท่วงที ไม่ให้สินค้าสะดุด ทั้งนี้ SNC ได้มีการปรับระบบการผลิตให้มีความยืดหยุ่นทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เรามุ่งมั่นในการปรับระบบการผลิตให้มีความยืดหยุ่นทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2563 ที่ภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยี จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเชื่อมต่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ภาคการผลิตได้อย่างลงตัว โดยปัจจุบัน ได้มีการประยุกต์ใช้ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. 5G AGV เป็นการใช้ 5G ควบคุม และสั่งการรถ AGV (Automated Guided Vehicles) ที่ใช้สำหรับการขนส่งชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตภายในโรงงาน และระหว่างโรงงาน เพื่อให้การขนส่งชิ้นส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตให้โรงงาน 2. 5G Smart Robot เป็นการใช้ 5G ควบคุม สั่งการ ในส่วนของ แขนกลหุ่นยนต์ (Robot) ที่ใช้งานในส่วนสายการผลิตที่เกี่ยวข้องเช่น Press, Brazing, CNC, Heat& Cool และ Assembly line เป็นต้น โดยเทคโนโลยี 5G จะนำมาช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human error) และช่วยสร้างความปลอดภัย, ลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนได้ 3. 5G Active Dashboard การประยุกต์ใช้งาน 5G ในการเชื่อมต่อระหว่าง Server และ Machine เพื่อให้สามารถ Monitoring สายการผลิตต่างๆ นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้โรงงานเป็น Smart factory อย่างแท้จริง” นายสมชาย กล่าว
โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯได้เพิ่มทุนและได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนโดยปรับแผนไปเป็นขยายกำลังการผลิตธุรกิจเดิม ได้แก่ ธุรกิจรับจ้างผลิตและประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า (OEM) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (PARTS) และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ (AUTO) โดยก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าสำหรับธุรกิจผลิตตู้เก็บเครื่องมือ (Toolbox) และการสร้างคลังสินค้าสำหรับใช้ภายในกลุ่มบริษัท รองรับโอกาสใหม่ทางธุรกิจนั้น บริษัทฯได้สร้างอาคารเพิ่ม 3 หลัง มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1 แสนตารางเมตร และลงทุนในเครื่องจักรเพิ่ม โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1,155 ล้านบาท โดยทยอยดำเนินการไปแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
“สำหรับปัญหาราคาวัตถุดิบที่มีความผันผวนค่อนข้างมากรวมถึงค่าขนส่งที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงนั้น บริษัทไม่มีความกังวลในส่วนนี้ เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมากนัก เนื่องจากบริษัทได้มีการเจรจากับลูกค้าในรูปแบบของการคำนวณต้นทุน และ บวกค่าบริการเป็นส่วนใหญ่ไปแล้ว” นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย