IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
แพ็กเกจที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุนมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาททำให้โตโยต้าดู "เอาต์สแตนดิ้ง" มากกว่าทุกแบรนด์ วันก่อน "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสอัพเดตความคืบหน้าการลงทุนจาก "นินนาท ไชยธีรภิญโญ" ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยระบุชัดเจนว่า
2 หมื่นล้านนั้น เป็นการลงทุนเฉพาะไฮบริดเท่านั้น ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะได้เห็นความคืบหน้าของโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด, โรงงานกำจัดซากรถยนต์และแบตเตอรี่อย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีจะมีการยื่นขอส่งเสริมจากบีโอไอภายในปีนี้อีกที เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายระดับโลกของโตโยต้าที่กำหนด ภายในปี 2030 รถโตโยต้าทุกรุ่นทุกคันจะต้องเป็น electrified vehicle
Q : ความคืบหน้าของโรงงานแบตเตอรี่
ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ ซึ่งทุกอย่างยังคงเป็นไปตามกำหนดตามที่ยื่นขอบีโอไอว่าภายในระยะเวลา 2 ปี แบ่งเป็น 2 สเต็ป คือ ช่วงแรกนำเข้าชิ้นส่วนหรือเซลล์มาประกอบเป็นแบตเตอรี่ จากนั้นจะค่อยเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้เพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นตอน วันนี้รถไฮบริดที่โตโยต้ายื่นรับการส่งเสริม รุ่นแรกคลอดออกมาแล้ว ได้แก่ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ กำลังได้รับความนิยม ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นในเรื่องเทคโนโลยี เห็นได้จากยอดขายเป็นรุ่นไฮบริดถึง 70% จากเดิมก่อนหน้านี้กลุ่มรถไฮบริดของโตโยต้าจะขายได้เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี อนาคตเมื่อการผลิตรถยนต์ไฮบริดได้อีโคโนมีออฟสเกล จะทำให้โตโยต้าสามารถเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ วันนี้จะเห็นได้ว่า เทรนด์ของรถยนต์
ไฮบริดในระดับโลกนั้น มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2040 จะมีสัดส่วนการใช้รถยนต์ที่เป็น electrified vehicle ประมาณ 35% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด, อีวี และฟิวเซลล์ และในจำนวน 35% นี้ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า 70% จะเป็นรถยนต์ไฮบริด เนื่องจากวันนี้ค่ายรถยนต์ต่างมุ่งไปที่รถยนต์ไฮบริดเนื่องจากเป็นรถยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รองรับ เช่น สถานีชาร์จแบตเตอรี่ ตัวอย่างคือ เมื่อแบตเตอรี่หมด รถยนต์ไฮบริดยังสามารถใช้เครื่องยนต์ให้วิ่งต่อไปได้
และสเต็ปต่อไปคือ ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็จะมุ่งไปที่กลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด ส่วนจะเร็วหรือช้านั้นต้องขึ้นอยู่กับการวิจัยและพัฒนาตัวแบตเตอรี่ ให้มีราคาถูก, น้ำหนักเบา, สามารถชาร์จไฟได้มาก และวิ่งได้ในระยะทางที่ยาวขึ้น ทั้งนี้หากค่ายรถยนต์รายใดสามารถพัฒนาปัจจัยทั้ง 4 ตัวข้างต้นนี้ได้ ก็จะช่วยให้รถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์อีวีมาได้เร็วขึ้น
Q : โรงงานแบตเตอรี่ไฮบริดที่ขอส่งเสริมฯ รองรับได้ถึงกลุ่มรถยนต์อีวีหรือไม่
ใช่รองรับได้หมด เพราะแบตเตอรี่พวกนี้สามารถปรับรูปแบบได้โดยทันทีไม่ยาก ภายใต้งบประมาณที่ขอส่งเสริมการลงทุนไป 20,000 ล้านบาทนั้น เป็นการขอรับการส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฮบริดเท่านั้น ไม่รวมรถยนต์อีวี สำหรับรถยนต์อีวี มีแค่แบตเตอรี่ลูกเดียว ซึ่งในส่วนของโรงงานแบตเตอรี่นั้นสามารถพัฒนาให้ใช้ด้วยกันได้
Q : ภายในสิ้นปีนี้จะต้องขอส่งเสริมฯ สำหรับกลุ่มรถอีวีอีกครั้ง
ถูกต้อง โตโยต้ากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อม เพื่อพิจารณาขอยื่นรับการส่งเสริมการลงทุนกลุ่มรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริดและรถยนต์อีวี ภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้
Q : จากนี้รถโตโยต้าจะเน้นไฮบริดทุกรุ่น
เรามีประกาศในนโยบายโกลบอลของโตโยต้าว่าภายในปี 2030 รถยนต์โตโยต้าจะต้องเป็น electrified vehicle ทุกรุ่น การทำงานก็ต้องมุ่งไปตามโกลบอลโพลิซี่
Q : โอกาสคนไทยจะได้ใช้ "อีโคคาร์อีวี"
ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทที่จะต้องชั่งใจ ว่าทำอีโคคาร์ได้รับแรงจูงใจแบบนี้ ถ้าเป็นไฮบริดจะได้รับการส่งเสริมแบบนี้ แล้วถ้าไปถึงรถยนต์อีวีจะได้รับแรงจูงใจอีกแบบหรือไม่
ค่ายรถยนต์จะต้องชั่งใจ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ลูกค้าสามารถรับราคารถยนต์นั้น ๆ ได้หรือไม่ ?
โดยเทคโนโลยีไม่ยากที่จะพัฒนารถยนต์อีโคคาร์ให้เป็นรถยนต์อีโคคาร์อีวี เพียงแต่ว่าเราต้องสร้างความสมดุลในส่วนของความต้องการของลูกค้าว่า ต้องการด้านใดไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือกำลังในการขับเคลื่อน ฯลฯ ส่วนใหญ่ "ราคา" จะเป็นตัวตัดสิน และอีกปัจจัยที่มีผลคือ "ราคาขายต่อ" ของตัวรถ รถกลุ่มนี้ถ้ายังไม่สามารถพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ แล้วราคายังแพง ระยะเวลาใช้งานสั้น จะทำให้ราคาขายต่อตกมาก บางครั้งใช้งานไปแล้วแค่ 2 ปี ราคาตกลงไปเหลือแค่ 30-40% เท่านั้น ผู้บริโภคก็รับไม่ไหวเช่นกัน
Q : ภายในปี 2020 โตโยต้าจะผลิตแบตเตอรี่ตัวใหม่บ้านเราได้หรือไม่
นั่นเป็นเรื่องของบริษัทแม่ ถ้าเมื่อใดที่บริษัทแม่เรามี ส่วนของประเทศไทยเราก็มีได้ไม่ยากแต่วินาทีนี้เหมาะที่สุดคือ "ไฮบริด"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ