IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทภายในปี 2569 โดยเดินหน้าทำตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด จากผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วสู่การเป็น Total Packaging Solutions หรือผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร BGC เพื่อรับ “เมกะเทรนด์” มุ่งสู่การเป็นผู้นำการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน จากปัจจัยภาวะโลกร้อนประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้เทรนด์บรรจุภัณฑ์ทั่วโลกมุ่งเน้นไปที่การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Packaging) และต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable Packaging) นั่นทำให้ผู้ประกอบการเองต่างต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
บริษัทฯ ตั้งเป้าสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทภายในปี 2569 โดยเดินหน้าทำตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด จากผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วสู่การเป็น Total Packaging Solutions หรือผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร BGC เพื่อรับ “เมกะเทรนด์” มุ่งสู่การเป็นผู้นำการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
สำหรับผลประกอบการในไตรมาสนี้มีรายได้อยู่ที่ 3,417 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในไตรมาสเดียวกัน เท่ากับ 12.4% โดยมีสัดส่วนยอดขายที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้ว 9.5% และจากผลิตภัณฑ์กลุ่มบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ เช่น กล่องกระดาษ ขวดพลาสติก ฉลากฟิล์ม ถุงอาหาร ฯลฯ เท่ากับ 19.2% ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ จากบริษัท ไพร์ม แพ็คเกจจิ้ง จำกัด หรือ PRIME ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนและม้วนฟิล์มที่ BGC ได้เข้าซื้อกิจการในไตรมาสที่สองโดยทำยอดขายและกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมเติบโตเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วในไตรมาสเดียวกัน อีกทั้งมีการเพิ่มกำลังการผลิต โดยมุ่งเป้าเพิ่มรายได้ PRIME เติบโตเพิ่มขึ้น 30% ในปี 2567 ด้านแนวโน้มอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับขึ้นสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ซึ่งได้รับปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาล การฟื้นตัวที่ดีของจำนวนนักท่องเที่ยว จนถึงระดับ 70% เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 และในด้านการส่งออกที่มีทิศทางเป็นบวกมากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์ไตรมาสถัดไป และในปี 2567 ต้นทุนในด้านต่าง ๆ มีแนวโน้มปรับตัวตามสถานการณ์โลก นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ความสำคัญในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ภายใต้การส่งมอบความยั่งยืนให้กับโลกผ่านแนวคิด ESG - Environmental (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) อาทิ light Weight Glass Bottle นวัตกรรมขวดแก้วน้ำหนักเบากว่าเดิม 25% จากน้ำหนักปกติ, PET Shrink film ฟิล์มที่สามารถรีไซเคิลได้ ทดแทน PVC ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลดการกำจัดส่งผลให้เพิ่ม CO2 ในอากาศ เป็นต้น
“BGC ได้วางแผนบริหารจัดการต้นทุนโดยปรับสูตรการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยโดยไม่กระทบคุณภาพ ใช้พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการเจรจาปรับราคาสินค้า ขยายจำนวนคู่ค้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กระบวนการผลิตเพื่อช่วยในการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายการลงทุนเพิ่มเติมมองหาโอกาสใหม่ โดยที่ผ่านมา BGC ได้ซื้อกิจการเพื่อต่อยอดและขยายธุรกิจเดิม”
สำหรับทิศทางการดำเนินงานหลังจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาก๊าซธรรมชาติและราคาพลาสติกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะมีผลกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะที่ราคาวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ราคาเศษแก้วที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากซัพพลายที่เริ่มตึงตัวอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนปรับสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลดต้นทุน พร้อมกับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด ด้วยการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการพาโลกก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและความยั่งยืน เพื่อรองรับเทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัจจัยมาจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลทางตรงกับการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค ประกอบกับมีการผลักดันจากหลายหน่วยงานทั่วโลกจนเกิดเป็น “เมกะเทรนด์” ที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจ
“เราวางแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular Green Economy Model) โดยมุ่งวางเป้าพัฒนาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า และการจัดการก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่ในการนำของเสีย หรือบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาใช้ในการผลิตใหม่ให้ได้มากที่สุด” นายศิลปรัตน์กล่าว
โดยที่ผ่านมา BGC ได้เปิดตัว ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ Technology and Innovation Center (TIC) ที่มีทีมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของการใช้งาน ความสวยงาม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลยุทธ์ของ BGC คือ เน้นวางแผนร่วมกับลูกค้าและคู่ค้าในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของการใช้งาน ความสวยงาม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“บรรจุภัณฑ์ที่ BGC พัฒนาขึ้นมาก เช่น นวัตกรรมขวดน้ำหนักเบา (Lightweight Bottle) ที่ช่วยลดการใช้วัตถุดิบและลดค่าขนส่ง แต่ยังคงความแข็งแรงทนทาน, นวัตกรรมกล่องพัสดุ MIDLOCK ที่ช่วยลดการใช้เทปพลาสติก แต่ยังสามารถรับน้ำหนักได้ดี และนวัตกรรมฟิล์มเรืองแสง ที่สามารถดึงเอาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นออกมา ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ของลูกค้า หรือนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์กลุ่มถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ที่BGCเข้าไปลงทุน ตลอดจนวิธีการใช้ Mono Material เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ง่ายต่อการรีไซเคิล”
สำหรับ 3 กลยุทธ์หลัก ของ BGC ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมาย คือ
- การเป็นผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Total Packaging Solutions) คือการมีทั้ง Products และ Services ที่ครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงมีแผนขยายพอร์ตบรรจุภัณฑ์ให้หลากหลายอย่างต่อเนื่อง และขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว
- การดำเนินธุรกิจที่เน้นการเติบโตควบคู่กับสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยกรให้น้อยลง แต่ยังคงประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Recycle) ได้ด้วย ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากแต่ยังเป็นการส่งเสริมการเป็นผู้นำเทรนด์บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ Unmet Need ของลูกค้าอีกด้วย
- การเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จากศูนย์ Technology and Innovation Center (TIC) ที่มีทั้งบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรที่ครบครัน เอื้อต่อการวิจัยค้นคว้าและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
“เรายังคงมองหาโอกาสลงทุนในบรรจุภัณฑ์ใหม่ เพื่อขยายพอร์ตให้ครอบคลุมความต้องการของตลาด รวมถึงมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งถือเป็นตลาดหลักในการส่งออก และเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีที่เหมาะกับการลงทุนต่อไป” นายศิลปรัตน์กล่าว
อย่างไรก็ดี BGC ยังคงมุ่งพัฒนานวัตกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีนาย ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC, รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา และ ผศ.ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ร่วมลงนามในพิธี พร้อมกันนี้มี ดร.อรธิดา แซ่โค้ว ผู้จัดการศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และคณะนักวิจัยจากศูนย์ฯ ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ วันที่ 30 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา ที่อาคารสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จ.กรุงเทพมหานคร
โดยพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติ ระบบประมวลผลภาพ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ผ่านโครงการวิจัยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรจากทั้งสองฝ่าย โดยการบ่มเพาะและส่งเสริมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี จนนำไปสู่การเกิดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์
ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสสำคัญของ BGC ที่จะส่งเสริมการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติ ระบบประมวลผลภาพ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว เพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนยกระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 อีกทั้ง ช่วยยกระดับความรู้ความเชี่ยวชาญที่ทั้งสองฝ่ายมี เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและก่อให้เกิดนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาหรือการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ตลอดจนสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนสืบต่อไป