IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้วยการมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียในการผลิต ทั้งส่วนการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในโรงงานเพื่อควบคุมกระบวนการผลิตให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และปรับสูตรการผลิตเพื่อควบคุมต้นทุนโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพสินค้าที่ส่งมอบให้ลูกค้า รวมทั้งควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีการทยอยเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุน และมุ่งเน้นการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสจากการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ เพื่อการเติบโตแบบ Inorganic ผ่านการการควบรวมหรือซื้อกิจการ เพื่อก้าวสู่ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร
BGC ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ ซึ่งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) เข้ามาบริหารจัดการภายในโรงงาน
โดยความคืบหน้าการซื้อกิจการธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนอยู่ในประเภทบรรจุภัณฑ์ แต่ไม่ใช่ธุรกิจแก้ว จะใช้เงินลงทุนเพื่อซื้อกิจการประมาณ 600 ล้านบาท มีความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 80-90% แล้ว คาดว่าจะสามารถสรุปได้ประมาณไตรมาส 1/2566 ซึ่งการเข้าไปลงทุนในครั้งนี้จะสามารถเกื้อหนุนในธุรกิจหลักให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ และบริษัทฯมีแผนที่จะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศในระยะยาว ได้มีการศึกษาที่จะไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งถือเป็นตลาดหลักในการส่งออก และเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี ส่วนลักษณะการเข้าไปลงทุนก็มีทั้งการซื้อกิจการ หรือการเข้าไปร่วมทุน อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ได้กำหนดที่แน่นอน และคาดว่าในระยะสั้นยังไม่เกิดดีลดังกล่าว แต่จะเป็นดีลการลงทุนในระยะยาวประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงการส่งออกก็ยังเติบโตต่อเนื่อง เพราะประเทศต่างๆ มีการเปิดประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะยังมีความท้าทายจากต้นทุนพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่มองว่ายอดขายยังมีการเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 7-10% จากปีนี้ ซึ่งตลาดส่งออกหลักยังได้แก่กลุ่มประเทศ CLMV และตลาดสหรัฐ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ที่คนกังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ในส่วนของ BGC นั้นไม่ได้มีผลกระทบเท่าไร เพราะว่าสินค้าของบริษัท ซึ่งเป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็น ยังมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนผลดำเนินงานในปีนี้เชื่อว่ายอดขายเติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก ซึ่งในไตรมาส 4/2565 ที่ผ่านมา ยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี เนื่องจากคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น จึงทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่กลับมาเพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของยอดขายของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน BGC มีโรงงานขวดแก้วที่ดำเนินการอยู่มีทั้งหมด 5 โรงงาน 10 เตาหลอม 33 ไลน์การผลิต มีกำลังการผลิตรวม 3,210 ตันต่อวัน ลูกค้าหลักยังมาจากเครือบุญรอดสัดส่วนประมาณ 60% เช่น สิงห์ ลีโอ แต่ก็มีผลิตภัณฑ์จากบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย เช่นกระทิงแดง สปอนเซอร์ ไวตามิลค์ SPY และเด็กสมบูรณ์ โดยบริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเล็กน้อยจากการปรับปรุงเตา และเครื่องจักรต่างๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุน ส่วนแผนการเติบโตของ BGC จะมุ่งเน้นไปที่บรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่แก้ว เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกอ่อน ซึ่งมีโอกาสในการเติบโตสูง และมีโอกาสเห็นการทำ M&A ในไตรมาส 1/2566 โดยเป้าหมายการลงทุนอยู่ที่ 500-600 ล้านบาท
ทั้งนี้ BGC ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ ซึ่งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) เข้ามาบริหารจัดการภายในโรงงานเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านของคุณภาพ ความถูกต้องแม่นยำ การบริหารจัดการต้นทุน รวมไปถึงการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบีจีซีได้เริ่มปฏิวัติกระบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการนำเทคโนโลยีเครื่องตรวจวัดออกซิเจน หรือ Oxygen Sensor เป็นหนึ่งในระบบตรวจสอบประสิทธิภาพการเผาไหม้ในขั้นตอนการผลิตขวดแก้ว ณ เตาหลอมแก้วและรางน้ำแก้ว เพื่อควบคุมการใช้ก๊าซในเตาหลอม ช่วยให้พลังงานความร้อนเสถียร ลดการใช้ทรัพยากรในการผลิต และลดมลพิษที่อาจจะเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมหุ่นยนต์แขนกล หรือ Automatic Mold Swabbing System เข้ามาเสริมกำลังในไลน์การผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ซึ่งเป็นเทคโนยีที่สามารถ Swab ได้แม่นยำ ช่วยลดของเสียที่เกิดจากปริมาณน้ำมันที่ไม่คงที่ เพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์แก้วที่มีผิวใส สม่ำเสมอ และระบบ Plunger Process Control System เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยสนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วในระบบ Narrow Neck Press & Blow (NNPB) ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความแม่นยำในการควบคุมน้ำหนักแก้ว และยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร BUCHER Emhart Glass บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรในการผลิตขวดแก้วชั้นนำของโลกจากประเทศเยอรมนี ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บุคลากร เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
BGC คือการพัฒนาธุรกิจให้ครอบคลุมในมิติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของ กระบวนการผลิตที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนากระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับ นโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG โดยล่าสุด บีจีซีได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางธุรกิจกับ บริษัท บางกอกโคมัตสุ ฟอร์คลิฟท์ จำกัด พันธมิตรคู่ค้าที่ร่วมงานกันมากว่า 28 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเทคโนโลยี พลังงานสะอาด อย่างรถยกแบตเตอรี่ (Electric Forklift) เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจรเชิงรุก ทั้งยังอยู่ระหว่างทดสอบระบบ Autonomous Tow Truck หรือรถลากไร้คนขับแห่งแรกในไทย เพื่อใช้สำหรับขนสินค้าจากกระบวนการผลิตไปยังคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้พลังงานจากไฟฟ้า 100% ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ นอกจากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตแล้ว BGC ยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง โดยก่อตั้งศูนย์ Technology and Innovation Center (TIC) เพื่อใช้สำหรับวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการของตลาด และรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่เป็น End User ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันบีจีซีให้พัฒนาสู่การเป็น Total Packaging Solutions ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อก้าวสู่ Smart Factory 4.0 อย่างเป็นระบบ
BGC ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ นำมาสู่อุตสาหกรรมที่ฉลาด ขยายขีดความสามารถทางการแข่งขัน และก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่สิ้นสุดต่อไป