January 05, 2025
THUMMA-Oil & Gas-Strip-Head

แนวโน้มน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 28 ม.ค. -1 ก.พ. และสถานการณ์ 21-25 ม.ค. ที่ผ่านมา

โดย : ทีมงานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 53.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น1.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะคว่ำบาตรเวเนซุเอลารอบใหม่รวมถึงการระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี Nicolas Maduro หลังประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ ประกาศรับรองนาย Juan Guaido ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ของเวเนซุเอลาประกาศตนเป็นผู้นำประเทศ อนึ่งการคว่ำบาตรจะทำให้โรงกลั่นในสหรัฐฯ ต้องจัดหาน้ำมันดิบชนิด Heavy Crude ทดแทนการนำเข้าจากเวเนซุเอลาประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน
  • International Energy Agency (IEA) ปรับเพิ่มประมาณการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ครั้งก่อน อยู่ที่ 100.7 ล้าน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics : NBS) รายงานการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.8% มาอยู่ที่ หรือประมาณ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบลดลงจากปีก่อน 1.3% มาอยู่ที่ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • National Oil Corp. (NOC) ของลิเบียรายงานท่าส่งออกน้ำมันดิบ บริเวณฝั่งตะวันออก อาทิ Es Sider (กำลังการผลิต 350, 000 บาร์เรลต่อวัน) และBrega (กำลังการผลิต 120 บาร์เรลต่อวัน) ปิดดำเนินการชั่วคราว เนื่องจากสภาวะอากาศแปรปรวน อย่างไรก็ตามไม่มีผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบ 

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 มาอยู่ที่ 3.5% ต่อปี และอยู่ที่ 3.6% ต่อปี ตามลำดับ
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงาน GDP ในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 6.6% ต่ำสุดในรอบ 28 ปี อย่างไรก็ตาม NBS ชี้ว่าแม้การเติบโตจะลดลง แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับสมเหตุสมผล
  • EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตสำคัญของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 62 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 63,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น อยู่ที่ 862 แท่น 

 

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า และข่าวประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ประกาศเปิดทำงานหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ. 62 หลังจากปิดทำการรัฐบาลบางส่วนไปนานถึง 36 วัน นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวทางปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้คือเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างตำรวจและกลุ่มผู้ประท้วงหลายแสนคนในกรุง Caracas ประเทศเวเนซุเอลาซึ่งเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Nicolas Maduro ลาออกจากตำแหน่งและนาย Juan Guaido ประธานรัฐสภาเวเนซุเอลา ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีรักษาการ โดยความเคลื่อนไหวในสหประชาชาติ จีนและรัสเซียยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลนาย Nicolas Maduro ขณะที่ สหรัฐฯ แคนาดาและ กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมัน เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายใน 8 วัน หรือก่อนวันที่ 2 ก.พ. 62 มิฉะนั้นกลุ่มประเทศสมาชิกยุโรปจะยอมรับนาย Juan Guaido เป็นประธานาธิบดี ทั้งนี้ เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามปัญหาการเมืองในประเทศส่งผลให้เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบได้ลดลง โดย ณ ปัจจุบันผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Bloomberg คาดการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอาจทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอล่าลดลงไปอีกประมาณ 300,000-500,000 บาร์เรลต่อวัน ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 59.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 52.0-56.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบDubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.5-62.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล 

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจาก บริษัท Naraya ของอินเดียออกประมูลขาย น้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ส่งมอบ 10-12 ก.พ. 62 และอุปสงค์น้ำมันเบนซินของจีนมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Electric Hybrid) รถยนต์รถไฟฟ้า (EV) หรือรถที่ใช้CNG เป็นเชื้อเพลิง เดือน พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 62,277 คัน อยู่ที่ระดับ 162,292 คัน และ NBS รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินเดือน ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.4 % อยู่ที่ 3.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 259.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 420,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 15.81 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานบริษัท GS Caltex ประกาศปิดซ่อมบำรุงหน่วย CDU (กำลังการกลั่น 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Yeosu (กำลังการกลั่น730,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 1 พ.ค.- 10 มิ.ย. 62 ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่น Chiba (กำลังการกลั่น 190,000 บาร์เรลต่อวัน) ในญี่ปุ่นของบริษัท Idemitsu Kosan มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย Crude Distillation (กำลังการกลั่น 190,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค. - พ.ค. 62) เป็นเวลา 1 เดือน ขณะที่ NBS รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลของจีน เดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากปีก่อน 4.8 % อยู่ที่ระดับ 3.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 230,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.39 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 600,000 บาร์เรล มาอยู่ที่142.4 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัท Mangalore Refinery and Petrochemicals Corp. ของอินเดียออกประมูลขายน้ำมันดีเซล0.001 % S ปริมาณ 490,000 บาร์เรล ส่งมอบ 12-14 ก.พ. 62 ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซียเปิดเผยว่าโรงกลั่นน้ำมัน RAPID (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) เริ่มเดินเครื่องแล้ว และมีแผนดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในไตรมาส 4/62 ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.5-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 31 January 2019 03:23
วาสนา วัฒนทรงธรรม

Author : เกาะติดข่าวสารวงการพลังงานในทุกมิติ ทั้งไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว รวมถึงข่าวอื่นๆ ทั้งเรื่องของนวัตการรม การลงทุน หรือมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐ ฯลฯ

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM