November 21, 2024

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha
THUMMA-Oil & Gas-Strip-Head

แนวโน้มน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 21-25 ม.ค. 62 และสถานการณ์ 14-18 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา

โดย : ทีมงานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 52.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 59.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • 16 ม.ค. 62 ธนาคารแห่งประชาชนจีน (People's Bank of China: PBOC) ประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินในประเทศ เป็นมูลค่า 560,000ล้านหยวน หรือประมาณ 83,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับการเพิ่มอุปทานเงินภายในเวลาหนึ่งวัน เพื่อคลายความกังวลของนักลงทุนกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ทางการรายงานยอดส่งออกในเดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.4% (ลดลงมากสุดในรอบ 2 ปี) ขณะที่ยอดนำเข้าลดลงจากปีก่อน 7.6%
  • การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนคืบหน้า ล่าสุดจีนยืนยันว่ารองนายกรัฐมนตรี Liu He มีกำหนดเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตันวันที่ 30-31 ม.ค. 62 อย่างไรก็ดียอดเกินดุลการค้าของจีนต่อสหรัฐฯ ทั้งปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.2% อยู่ที่ 3.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่อาจทำให้จีนต้องเร่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้า
  • จีนนำเข้าน้ำมันสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ก.ย. 61 ปริมาณ 6 ล้านบาร์เรล ขนส่งโดยเรือ VLCC ลำใหม่ที่เพิ่งต่อจำนวน 3 เที่ยวเรือจากUSGC ผ่าน South Africa เข้าสู่จีน ปลายเดือน ม.ค. 62 - ต้นเดือน มี.ค. 62 ขณะที่ โรงกลั่นยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯ ช่วง 1 ธ.ค. 61-15 ม.ค. 62 สู่ท่า Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรล
  • นักลงทุนประเมินว่าตลาดน้ำมันกำลังกลับเข้าสู่สภาวะสมดุลจากแผนการลดปริมาณการผลิตของ OPEC และกลุ่มพันธมิตร ล่าสุด OPEC ดำเนินการล่วงหน้าก่อนข้อตกลงเริ่มบังคับใช้ โดยผลิตน้ำมันในเดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 750,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 31.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak ให้คำมั่นว่ารัสเซียจะเร่งลดปริมาณการผลิตโดยเร็วที่สุด
  • รายงานของ OPEC ระบุปริมาณสำรองน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ในเดือน พ.ย. 61 ลดลง 700,000 บาร์เรล จากเดือน ต.ค. 61 และอยู่เหนือค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปี ปริมาณ 23 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งที่ประชุม JMMC (Joint Ministerial Monitoring Committee) ของ OPEC และพันธมิตร ที่เมือง Baku ประเทศ Azerbaijan ในวันที่ 17-18 มี.ค. 62 เพื่อติดตามผลของมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 21 แท่น มาอยู่ที่ 852 แท่น ซึ่งเป็นการลดจำนวนแท่นผลิตน้ำมันรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 3 ปี
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 11 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 437.1 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
  • ICE (Intercontinental Exchange) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 14,759 สัญญา มาอยู่ที่ 172,905 สัญญา

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • รายงานฉบับเดือน ม.ค. 62 ของ OPEC ปรับลดประมาณการ Call-on-OPEC สำหรับปี พ.ศ. 2562 ลงมาอยู่ที่ 30.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ต่ำกว่าCall-on-OPEC ปีก่อน 0.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และจะเพิ่มสู่ระดับสูงสุดในไตรมาส 3/62 ที่ 31.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านอุปสงค์น้ำมันโลกปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ระดับ 100.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์เดือนก่อน 
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 11 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.90 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 790,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Reuters รายงานอิรักมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจากแหล่ง Majnoon (กำลังการผลิต 240,000 บาร์เรลต่อวัน) ทางตอนใต้ของประเทศสู่ระดับ 290,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 และเพิ่มสู่ระดับ 450,000 บาร์เรลต่อวัน ปลายปี พ.ศ. 2564 โดยปัจจุบันท่าส่งออกทางตอนใต้ของอิรักส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 62 ที่ระดับ 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นหลังนักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นในตลาดน้ำมันมากขึ้น โดยล่าสุดกลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค.62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9 % นอกจากนี้ IEA คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปี พ.ศ. 2562 จะยังดีอยู่จากผลของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกลง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะไม่สดใส โดย International Energy Agency (IEA) คงตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตอุปสงค์น้ำมันในปี พ.ศ. 2562 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตอุปทานน้ำมันจาก Non-OPEC ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (อุปทานน้ำมันจาก Non-OPEC เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ด้านข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC และกลุ่มพันธมิตรในเดือน ธ.ค. 61 ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดย OPEC ได้ประกาศตัวเลขปริมาณการผลิตตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตของประเทศสมาชิก OPECและกลุ่มพันธมิตรในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ.2562 ที่ปริมาณ 43.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง1.195 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงเพิ่มความเชื่อมั่นว่าOPEC จะสามารถปรับสมดุลให้กับตลาดน้ำมันได้จริง ซึ่งปริมาณการผลิตของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะได้รับการตรวจสอบโดย Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ระหว่างสมาชิกกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ซึ่งจะประชุมในวันที่ 18 มี.ค. 62 ที่กรุง Baku ประเทศ Azerbaijan ทั้งนี้ รายงานรายเดือนล่าสุดของ IEA บ่งชี้ว่า OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 590,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 32.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หลังซาอุดิอาระเบียลดการผลิตน้ำมันลดลงจากเดือนก่อน 0.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนข้อตกลงลดปริมาณการผลิตจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 62 ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.5-65.5 สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 52.0-57.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.0-64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก บริษัท Reliance Industries ของอินเดียประกาศปิดซ่อมบำรุงหน่วย CDU หนึ่งหน่วย (กำลังการกลั่น 660,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ Jamnagar Complex ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (กำลังการกลั่น 1.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 62 เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 16 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล อยู่ที่ 15.39 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของจีนมีแนวโน้มลดลงเพราะสมาคมรถยนต์โดยสารของจีนรายงานยอดขายรถยนต์โดยสารในปี พ.ศ. 2561 ลดลงจากปีก่อน 5.8% อยู่ที่ 22.35 ล้านคัน ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ สอดคล้องกับรายงานของ Fitch Solutions คาดการณ์จีนมีแนวโน้มที่จะส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว อีกทั้งปลัดกระทรวงน้ำมันอิหร่าน นาย Alireza Sadeghabadi เผยว่าอิหร่านเตรียมส่งออกน้ำมันเบนซินเนื่องจากขณะนี้กำลังการผลิตเกินความต้องการใช้ในประเทศ หลัง Condensate Splitter ของบริษัท Persian Gulf Star เริ่มดำเนินการหลังปรับปรุงเฟส 3 แล้วเสร็จ ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 75,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 660,000 บาร์เรลต่อวัน และ EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 255.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี และ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.5-65.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น บริษัท WEPEC ของจีนประกาศปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ม.ค.62 จากโรงกลั่นในจังหวัดLiaoning (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ลดลงจากเดือนก่อน 30% ที่ระดับ 88,500 บาร์เรลต่อวัน จากการลดปริมาณการผลิตเพราะค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลไม่แข็งแกร่ง Plats รายงาน Arbitrage ส่งออกน้ำมันดีเซลจากเกาหลีใต้สู่ยุโรปเปิด ผู้ค้าใช้เรือ VLCC ต่อใหม่ 2 ลำ และ เรือ Suez Max 1ลำ ส่งออกน้ำมันดีเซลปริมาณรวม 5.8 ล้านบาร์เรล จากเกาหลีใต้สู่ยุโรป ส่งมอบต้นเดือน ก.พ. 62 ประกอบกับ Reuters รายงานเรือขนส่งน้ำมันใช้เวลาในเส้นทางไปกลับ ช่อง Bosphorus ที่เชื่อมทะเลดำกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำสถิติสูงสุดใหม่กว่า 30 วัน จากที่ปกติใช้เวลาเพียง 5-6 วัน เนื่องจากลมแรงและคลื่นสูง อีกทั้งกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นสำหรับเรือขนส่งน้ำมันและก๊าซ (ห้ามออกเรือกลางคืน และต้องมมี Tugboat กับเจ้าหน้าที่นำร่องเดินทางไปด้วย) อย่างไรก็ตาม Platts รายงาน คูเวต, บาร์เรน,อินเดียและเกาหลีใต้มีอุปทานน้ำมันดีเซลเสนอขายในตลาดจร (Spot) ของเอเชีย ตอกย้ำภาวะอุปทานล้นตลาดจากจีนซึ่งส่งออกเพิ่มขึ้นแต่เดิมอยู่แล้ว ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 143 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 ปี และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 16 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.49 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.62 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.5-77.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 31 January 2019 03:38
วาสนา วัฒนทรงธรรม

Author : เกาะติดข่าวสารวงการพลังงานในทุกมิติ ทั้งไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว รวมถึงข่าวอื่นๆ ทั้งเรื่องของนวัตการรม การลงทุน หรือมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐ ฯลฯ

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM