December 25, 2024
THUMMA-Oil & Gas-Strip-Head

แนวโน้มน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 14-18 ม.ค. 62 และสถานการณ์ 7-11 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา

โดย : ทีมงานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 4.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 59.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 4.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 50.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 4.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่58.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 4.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 6.51เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • คณะผู้แทนของสหรัฐฯ กล่าวว่าการเจรจาระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ และจีนเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้า ที่กรุงปักกิ่งวันที่ 7-9 ม.ค. 62 ดำเนินไปด้วยดีโดยจีนจะนำเข้าสินค้าทางการเกษตร, พลังงานและสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
  • นักลงทุนมั่นใจว่า OPEC และพันธมิตร จะปฏิบัติตามข้อตกลงที่ประกาศเดือน ธ.ค. 61 ลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 62 และมาตรการข้างต้นเพียงพอที่จะทำให้ตลาดน้ำมันเข้าสู่สภาวะสมดุล ล่าสุดรัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih ระบุแผนลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • บันทึกการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ระบุว่าประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณเชิงบวกต่อตลาดด้วยการชี้ว่าอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป (เป็นปัจจัยสนับสนุนนักลงทุนให้ถือสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น)
  • Reuters ประเมินว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน ม.ค. 62 จะต่ำกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตร แม้ภายหลังสหรัฐฯ จะผ่อนผันให้ 8 ประเทศสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (มาตรการคว่ำบาตรเมื่อปี พ.ศ. 2555 สมัยประธานาธิบดีโอบามาซึ่งมีการผ่อนผันลักษณะเดียวกัน การส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านไม่เคยต่ำกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 439.7 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 873 แท่น 

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • ธนาคารโลกปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ. 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.9% จาก 3.0% ในปี พ.ศ. 2561 และลดลงจากประมาณการณ์เดิมในเดือน มิ.ย. 61 ที่ 3.0% เนื่องจากการเติบโตของการค้าและการลงทุนชะลอตัว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น 
  • บริษัท BP ของอังกฤษ เผยว่าบริษัทค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ 2 แหล่งใน Gulf of Mexico โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการค้นหา และพบว่าแหล่งน้ำมัน Thunder Horse (ปริมาณการผลิต 250,000 บาร์เรลต่อวัน ) มีปริมาณสำรองน้ำมันอยู่ที่ 2,000 ล้านบาร์เรลจากเดิมที่ 1,000 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ BP มีแผนจะขยายการผลิตใน Gulf of Mexico จากระดับปัจจุบันที่ปริมาณ 300,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มาอยู่ที่ ปริมาณ 400,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ในปี พ.ศ. 2563 

 

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดตลาดวันศุกร์ลดลงจากการเทขายทำกำไรระยะสั้นของนักลงทุน หลังมีข่าวจีนอาจใช้กรอบ ประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี พ.ศ. 2562 ที่ระดับ 6-6.5% ต่อปี โดยประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศขาลง เมื่อเทียบกับประมาณการปี พ.ศ. 2561 ซึ่งใช้เลข 6.5% ต่อปี และเป็นระดับ GDP ที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 หรือในรอบ 29 ปี นักวิเคราะห์ประเมินว่าในปี พ.ศ. 2562 รัฐบาลจีนจะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาใช้ อย่างไรก็ดีตลาดน้ำมันกำลังกลับเข้าสู่สภาวะสมดุล จากแผนการลดปริมาณการผลิตของ OPEC และกลุ่มพันธมิตร ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih แถลงในเดือน ม.ค. 62 OPEC ผลิตน้ำมันดิบลดลงจากเดือนก่อน 600,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่รัสเซียผลิตน้ำมันดิบลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน ต.ค. 61 ที่ระดับ 11.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จากข้อตกลง กับ OPEC รัสเซียมีแผนลดปริมาณการผลิต 230,000 บาร์เรลต่อวัน จากการผลิตในเดือน ต.ค. 61) และ OPEC มีแผนจัดการประชุมครั้งต่อไปในเดือน เม.ย. 62 เพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่มีท่าทีขยายเวลาการผ่อนผันการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านให้แก่ประเทศนำเข้า 8 ประเทศ ที่จะสิ้นสุดในเดือน พ.ค. 62 ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าอิหร่านเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และ 80 % ของรายได้จากประเทศอิหร่านมาจากการส่งออกน้ำมันดิบ ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 49.0-54.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.5-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 319,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 15-16 ก.พ. 62 และ Pakistan State Oil (PSO) ของปากีสถานซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON จำนวน 4 เที่ยวเรือๆ ละ 385,000 บาร์เรล ปริมาณรวม 1.5 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ 1-21 ก.พ. 62 และ China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) ของจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Huizhou (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน ) ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. 62 เป็นเวลา 50 วัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนประกาศโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปให้กับโรงกลั่นน้ำมันของรัฐรอบแรกของปี พ.ศ. 2562 ปริมาณรวม 18.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรอบแรกของปีก่อนที่ 11.55% และ Platts รายงานว่าภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนำเข้า น้ำมันเบนซินจากยุโรปลดลง เนื่องจากไนจีเรียเก็บสำรองล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งวันที่ 16 ก.พ. 62 เพียงพอแล้ว ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 248.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 11 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 670,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 15.43 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.5-67.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในยุโรปตึงตัว เนื่องจากการส่งออกน้ำมันดีเซลจากท่าเรือที่ทะเลดำ มาสู่บริเวณเมดิเตอร์เรเนียนล่าช้า และ Platts รายงานว่าระดับน้ำในแม่น้ำไรน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขีดความสามารถในการระบายน้ำมันดีเซลจากจุดส่งมอบบริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สู่ภาคพื้นทวีปยุโรปดีขึ้น ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ม.ค. 62ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.13 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานว่าจีนและเกาหลีใต้ส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทาน น้ำมันดีเซลในตะวันออกกลางมีอยู่มาก ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 140 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.5-78.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 15 January 2019 12:40
วาสนา วัฒนทรงธรรม

Author : เกาะติดข่าวสารวงการพลังงานในทุกมิติ ทั้งไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว รวมถึงข่าวอื่นๆ ทั้งเรื่องของนวัตการรม การลงทุน หรือมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐ ฯลฯ

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM