บล.เอเซียพลัส ห่วงฉุดเงินไหลออกต่อเนื่อง หลังวิกฤติเงินลีราของตุรกียังเขย่าหุ้นทั้งเอเชีย และตลาดหุ้นไทย ขณะที่แบงก์กรุงไทย มองข้ามช็อตตุรกี ชี้ปัญหาหนักกว่าคือ เศรษฐกิจข้างบ้าน “อินโดนีเซีย” ที่กำลังอ่อนแอ หวั่นหมดทางงัดภาษีกีดกันการค้ามาใช้จะกระทบการค้าและความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งอาเซียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บล.เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ กรณีวิกฤติตุรกีกำลังเขย่าหุ้นตลาดเอเชีย โดยพบว่าเงินทุนเริ่มไหลออกจากภูมิภาคแล้ว
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ระบุว่าสถานการณ์ค่าเงินลีราของตุรกียังวิกฤติ และสร้างความกังวลไปทั่วโลก ล่าสุดรัฐบาลตุรกีประกาศ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำนำเข้ารถยนต์ แอลกอฮอล์ บุหรี่จากสหรัฐฯ เป็น 120%, 140% และ 60% ตามลำดับ
ซึ่งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและตุรกี กดดันค่าเงินลีราของตุรกีเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากปัญหาดั้งเดิมการขาดดุลการค้า, ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และภาระหนี้สินต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากปัญหาเงินทุนไหลออกจากตุรกี ได้ลุกลามมายังประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เห็นได้จากค่าเงินของประเทศเหล่านี้ ที่อ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ของปีอีก 0.25% เป็น 5.5% เพื่อสกัดเงินทุนไหลออก รวมทั้งธนาคารกลางอาร์เจนตินาที่ขึ้นดอกเบี้ย 5% เป็น 45% เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูง 31.21% และเงินทุนไหลออก

โดยการที่ค่าเงินตุรกียังคงผันผวน รวมทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ช่วงนี้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียต่อเนื่อง โดยต่างชาติขายสุทธิติดต่อกันหลายวันทำการ ทั้ง เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะวันที่ 15 ส.ค.ต่างชาติขายหุ้นเอาเงินไหลออกกว่ากว่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้น ต่างชาติยังขายในตลาดล่วงหน้า โดยขายชอร์ตสุทธิสัญญา SET50 Futures อีก 5,000 สัญญา ซึ่งเป็นการชอร์ตต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 รวมกว่า 23,100 สัญญา อย่างไรก็ตาม ต่างชาติได้กลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยกว่า 13,100 ล้านบาท แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทย ซึ่งอยู่ที่ 2.72% ต่ำกว่าของสหรัฐฯที่ 2.86% จึงเชื่อว่า จะกดดันให้เงินทุนมีโอกาสไหลกลับไปหาตลาดตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปิดตลาดวานนี้ (16 ส.ค.) ค่าเงินลีราของตุรกีแข็งค่าขึ้น 3% มาอยู่ที่ 5.75 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังประเทศกาตาร์ให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือทางการเงินต่อตุรกีมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญฯ ส่วนตลาดหุ้นไทยหลังจากติดลบมาตลอดทั้งวัน ท้ายตลาดเด้งกลับมาบวกได้ 4.67 จุดปิดที่ 1,680.96 จุด มูลค่าการซื้อขาย 57,75 8.25 ล้านบาท จากข่าวที่สหรัฐฯและจีน เตรียมเจรจาการค้ารอบใหม่ ขณะที่ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 33.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่าวิกฤติค่าเงินลีราที่อ่อนค่าลง 40.8% เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสน้อยที่จะลุกลามเหมือนวิกฤติการเงินปี 2540 เนื่องจากเศรษฐกิจตุรกีไม่ได้เชื่อมโยงกับประเทศอื่นมากนัก และหากลุกลามก็จะกระทบประเทศในกลุ่มยูโรโซน โดยเฉพาะธนาคารสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่เป็นเจ้าหนี้หลักของธนาคารตุรกีโดยตรง แต่ที่ผ่านมาธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไปแล้ว “ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทในขณะนี้ มองว่าเป็นความกังวลใจของนักลงทุนในระยะสั้น และคาดว่ากระทบโดยตรงค่อนข้างน้อย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากตุรกีมาไทยปีละแค่ 75,000 คน และไทยส่งออกไปตุรกีเพียง 0.5% ของยอดส่งออกทั้งหมด จึงไม่น่าจะกระทบต่อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย”

ทั้งนี้ นายพชรพจน์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่า กังวลมากกว่าปัญหาค่าเงินของตุรกีน่าจะเป็นประเด็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมากกว่า ซึ่งหลังจากธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาการอ่อนค่าของเงินรูเปียแล้ว ยังมีปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การขาดดุลการค้า ซึ่งหากอินโดนีเซียนำมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า 7.5% ในกลุ่มสินค้าผู้บริโภค (Consumer Goods) 500 รายการ มาใช้จริง จะส่งผลกระทบต่อการค้าในอาเซียนที่เป็นเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างแน่นอน รวมทั้งเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศอื่นๆที่สนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียน ซึ่งอาจจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาคได้.
ที่มา : thairath