IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน ตลอดจนผู้ประกอบการในหลากหลายอุตสาหกรรม กำลังห่วงใยปัญหาการส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัญหาค่าเงินบาทไปจนกระทั่งการขาดแคลนทางนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
การส่งออกของไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขไม่ดี ผลจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ส่งผลต่อสินค้าส่งออกในบางหมวด เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีราคาลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดต่ำลงแม้ว่าปริมาณจะไม่ได้ลดลงก็ตาม
นักวิเคราะห์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า การส่งออกของไทยในปีนี้อาจไม่ดีขึ้นกว่าปีก่อนมากนัก เพราะปัจจุบันภาคส่งออกไทย กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขัน สะท้อนผ่านดัชนีค่าเงิน NEER ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินสิงคโปร์อ่อนลง 6 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงินริงกิตมาเลเซียอ่อนลง 9 เปอร์เซ็นต์ หลายคนตั้งคำถามว่า จีดีพีไม่ได้เติบโต การส่งออกก็ไม่ขยายตัว การบริโภคก็ยังไม่ฟื้น แล้วทำไมค่าเงินจึงแข็งขึ้นถึงเวลาต้องทบทวนนโยบายทางการเงินของประเทศหรือไม่
นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะว่า การส่งออกของไทยในปีนี้มีความเสี่ยงที่จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เนื่องจากกำลังซื้อทั่วโลกยังอ่อนแอและราคาน้ำมันที่ลดลงยังส่งผลต่อกำลังซื้อของบางประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันลดลงตามไปด้วย
รายงานของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปีนี้ที่ระบุว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.6 เปอร์เซ็นต์นั้นคงต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง เพราะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่สถานการณ์โลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขัน และราคาน้ำมันที่ปรับลด ซึ่งมีผลต่อสินค้าส่งออกบางกลุ่มของไทย
โดยสรุป แนวโน้มภาคการส่งออกปีนี้อาจขยายตัวได้บ้าง แต่จะต่ำกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นหมายความว่า ในระยะสั้นผู้ประกอบการในภาคธุรกิจส่งออกจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและยุทธศาสตร์กันอย่างขนานใหญ่ทีเดียว ส่วนในระยะกลางและระยะยาว ทุกฝ่ายคงต้องระดมสมองช่วยกันคิดต่อไปว่า เราจะวางพื้นฐานการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกันอย่างไร ในตลาดที่มีกำลังซื้อจำกัดและการแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกนั้น เพียงลำพังภาคเอกชนแต่ฝ่ายเดียวคงยากที่จะประสบความสำเร็จ หากไม่ได้รับการเกื้อหนุนจากนโยบายภาครัฐเท่าที่ควรจะเป็น.
ไอเอ็ม
"กระชับ ฉับใว ให้ประโยชน์ ตอบโจทย์ทุกกลุ่มอุตสากรรม"
ทีมบรรณาธิการ
สื่ออุตสาหกรรม พันธมิตรของผู้ประกอบการ