Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

Chevron มุ่งมั่นสานต่อโครงการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

เชฟรอน ผนึกกำลังพันธมิตร สานต่อโครงการพัฒนาสังคม มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสงขลาอย่างยั่งยืน

‘สงขลา’ เมืองเล็กๆ ริมทะเลสาบ ที่มีเสน่ห์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาหลายศตวรรษ สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม อาคารโบราณ ตึกเก่า รวมไปถึงอาหารการกิน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้คน เมืองสงขลาในอดีตไม่อาจต้านทานกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา หลงเหลือไว้เพียงความทรุดโทรมและกลิ่นอายของวันวานที่เคยเจริญรุ่งเรือง แต่ช่วงเวลาแห่งความเงียบเหงาเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะปัจจุบันคนสงขลาทั้งรุ่นเก่าและใหม่ต่างเดินทางกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา และองค์การท้องถิ่น ที่ร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพชุมชนในจังหวัดสงขลาในทุกมิติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ในฐานะที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้จัดตั้งและดำเนินงานที่ฐานปฏิบัติการสงขลาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2524 เป็นระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ เชฟรอนได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดสงขลามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชน อันเป็นภารกิจหลักที่เชฟรอนยึดมั่นเสมอ

3 โครงการซีเอสอาร์ของเชฟรอน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนสงขลา

นายคมสัน โอ๊ยนาสวน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดูแลโครงการเพื่อสังคมในจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “สงขลาเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอน เราอยู่ในพื้นที่นี้มานานกว่า 40 ปี มีความผูกพันและพร้อมจะทำงานเป็นพันธมิตรที่ดีร่วมกับคนในชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่และเศรษฐกิจในจังหวัดให้ดีขึ้น ตามนโยบายของเชฟรอนในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนและสังคม โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคการศึกษา ผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่ การสนับสนุนการดำเนินโครงการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าสงขลา การสนับสนุนการจัดทำโครงการนิทรรศการดาราศาสตร์ ให้แก่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา และโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ในสงขลา โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในด้านต่างๆ ของชุมชนและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

โครงการอนุรักษณ์เมืองเก่า พลิกฟื้นตำนานให้มีชีวิต พร้อมสานฝันผลักดันสู่เมืองมรดกโลก

มนต์เสน่ห์แห่งความคลาสสิกที่ผสมผสานระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมภายในย่านเมืองเก่าสงขลา

แหล่งท่องเที่ยวที่ต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง คือ ย่านเมืองเก่าสงขลา แหล่งชุมชนพหุวัฒนธรรมอันเก่าแก่สวยงามที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานนับร้อยปี ถนนทุกสายในย่านนี้ล้วนสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของคนสงขลาจากสามวัฒนธรรมทั้งไทยพุทธ มุสลิม และจีน ที่ตั้งรกรากอยู่ในย่านนี้มาหลายชั่วอายุคน

มนต์เสน่ห์แห่งความคลาสสิกที่ผสมผสานระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมภายในย่านเมืองเก่าสงขลา

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมมือกับทุกภาคส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษณ์และฟื้นฟูย่านเมืองเก่าสงขลามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและหวงแหนมรดกทางศิลปวัฒนธรรม อาทิ การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี” (Kid+Dee @ Historic Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า และการจัดทำป้ายสื่อความหมายให้กับร้านดั้งเดิมบนถนนนางงาม เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดสงขลา ตลอดจนการขับเคลื่อนเมืองสงขลาสู่เมืองมรดกโลกในอนาคต

ดร. จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มก่อตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม กล่าวว่า “โครงการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าสงขลา เกิดขึ้นจากความกังวลของชาวสงขลาที่อยู่ในชุมชนย่านเมืองเก่าที่เห็นบ้านเมืองที่ตนเองเติบโตมาทรุดโทรม เงียบเหงามานาน และเรามองเห็นต้นทุนที่มีคุณค่าที่สามารถต่อยอดต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม บ้านเรือนตึกเก่า อาหารการกิน และวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ จึงได้ร่วมกันจัดตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมเป็นศูนย์ประสานความร่วมมือของสมาชิกเพื่อร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของย่านเมืองเก่า เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับคนรุ่นหลัง และในขณะนี้ภารกิจสำคัญของชาวสงขลา คือ การยกระดับเมืองเก่าสงขลาสู่การเป็นมรดกโลก เพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต อันนำไปสู่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่การจะพัฒนาย่านเมืองเก่าสงขลาและขับเคลื่อนสู่การเป็นมรดกโลกให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้องมีปัจจัย และพลังอื่นๆ เข้ามาร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังของชุมชนผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง”

จุดประกายความคิดด้านดาราศาสตร์ สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้เยาวชนภาคใต้

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคใต้

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคใต้

การเรียนการสอนทางด้านดาราศาสตร์ในปัจจุบันนั้นนับว่ายังขาดแคลนทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ในการศึกษาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาที่เป็นมาตรฐานสากลของเยาวชนโดยเฉพาะในจังหวัดห่างไกลนั้นมีไม่น้อย แต่ในวันนี้ เยาวชนใน 14 ภาคใต้และอีกหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศไทยได้มีโอกาสเปิดโลกการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ จากการจัดตั้งหอดูดาวภูมิภาค ถึง 5 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เป็นหนึ่งใน 5 หอดูดาวภูมิภาค ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นโครงการในพระราชดำริ เพื่อสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กระจายไปสู่แต่ละภูมิภาค ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ดาราศาสตร์อย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน นอกจากนี้ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในการจัดทำนิทรรศการดาราศาสตร์ภายในและภายนอกอาคาร โครงการกิจกรรมดาราศาสตร์ โครงการเปิดฟ้าตามหาดาวสัญจร และค่ายดาราศาสตร์สำหรับเยาวชนของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560

ด้วยความมุ่งมั่นกว่า 16 ปี ในการผลักดันให้เกิดหอดูดาวสงขลาแห่งนี้ นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา กล่าวว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลาแห่งนี้ นับเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์และอวกาศที่มีมาตรฐานสากลแห่งแรกของภาคใต้ จัดตั้งขึ้นเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ค่อนข้างห่างไกลจากแหล่งเรียนรู้ที่เป็นมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลามแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย เปิดโอกาสให้เยาวชน ใน 14 จังหวัดภาคใต้เรียนรู้และเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ ทางด้านดาราศาสตร์ ผ่านกิจกรรมสังเกตการณ์วัตถุบนท้องฟ้า ดวงอาทิตย์และดวงดาว นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาแล้ว หอดูดาวสงขลา ยังนับเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในจังหวัดสงขลา ด้วยสถานที่ตั้งบนเนินเขา ทำให้มีวิวทิวทัศน์โดยรอบที่สวยงาม มองเห็นทั้งทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย ทำให้หอดูดาวแห่งนี้มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวสงขลาและคนไทยทุกคน”

ผนึกกำลังชุมชน ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาวะในเยาวชน

กิจกรรมเปิดห้องเรียนพ่อแม่ “ผู้ใหญ่คุยเปิดใจ ลูกหลานปลอดภัย” หนึ่งในภารกิจของโครงการ เพื่อส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว

กิจกรรมเปิดห้องเรียนพ่อแม่ “ผู้ใหญ่คุยเปิดใจ ลูกหลานปลอดภัย” หนึ่งในภารกิจของโครงการ เพื่อส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว

อีกหนึ่งโครงการเสริมศักยภาพชุมชนของเชฟรอน ที่นับว่าเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบของท้องถิ่นที่สามารถจัดการประเด็นการดูแลสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่นที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ที่ได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 3 ปี

เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กๆ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศที่ถูกต้อง โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มครอบครัว องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่ เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

นายชูไชย นิจไตรรัตน์ หัวหน้าโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ในจังหวัดสงขลา มูลนิธิแพธทูเฮลท์ เล่าถึงที่มาถึงโครงการนี้ว่า “มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะทางเพศมาอย่างยาวนาน โดยได้ร่วมมือกับเชฟรอนดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนในจังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาสมรรถนะกลไกของท้องถิ่น ให้มีกระบวนการทำงานส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่น เช่น การเป็นพ่อแม่วัยใส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยาเสพติด หรือการใช้ความรุนแรง โดยทำงานทั้งในเชิงตั้งรับ อาทิ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างของหลายสาขาวิชาชีพในการช่วยเหลือเยาวชนที่เผชิญปัญหาเป็นรายกรณี จนปัญหานั้นคลี่คลายและเด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ส่วนเชิงรุกนั้น มีทั้งการพัฒนาแกนนำเยาวชนให้สื่อสารกับเพื่อนๆ เพื่อให้คำปรึกษาที่ถูกต้องในเบื้องต้น เพราะเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ดี รวมถึงสร้างความรู้ ความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัว โดยจัดอบรมเปิดห้องเรียนพ่อแม่ ส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความเข้าใจเรื่องเพศวิถี วิถีชีวิตวัยรุ่น และมีทักษะในการสื่อสารเชิงบวก เพราะเราเชื่อมั่นว่าครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต”

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Monday, 23 September 2019 07:09
อาริตา ลาญวิชัย

Author : กำลังเรียนพยาบาล สนใจและเกาะติดข่าวเกี่ยวกับโรงพยาบาล การแพทย์ การดูแลสุขภาพ เครื่องมือและนวัตกรรมทางการแพทย์ ยาและเภสัชกรรม อาหารชีวจิต โยคะ และการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
MNr-วิถีพอเพียง-Sidebar1
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM