IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
“ชุมชนหล่ายแก้ว” ชุมชนบนดอยสูงที่อยู่ห่างไกลที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์สำคัญของท้องถิ่น ยังใช้ภาษาถิ่นหรือภาษาชนเผ่าในการสื่อสาร ชาวบ้านบางคนยังอ่านภาษาไทยไม่ได้ แต่ทุกวันนี้อัพเกรดตัวเองให้เป็นกะเหรี่ยงออนไลน์ ผสานวิถีชีวิตของคนสองยุคเข้าด้วยกันเพื่อนำไปสู่ธุรกิจชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยการยื่นมือเข้าไปช่วยพัฒนาของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ลาซาด้า (Lazada) ภายใต้ “โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประกอบการ สำหรับ SMEs”
นายจันทร์คำ ปู่เป็ด ประธานศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอกระเหรี่ยง เล่าว่า “ชุมชนหล่ายแก้ว หรือบ้านหล่ายแก้ว เป็นชุมชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง กลุ่มชาวโผล่งที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ใน ตำบลบงตัน อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านในชุมชนนี้จะพูดได้อย่างน้อยสามภาษา คือ ภาษาไทยกลาง ภาษากะเหรี่ยง และภาษาเหนือ (คำเมือง) รายได้ของชุมชนมาจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำสวนลำไย ซึ่งจะมีการเก็บผลผลิตปีละหนึ่งครั้ง และมีอาชีพเสริมคือการทำหัตถกรรม ทำไม้กวาด ทอผ้ากะเหรี่ยงและแปรรูป ซึ่งผ้าที่ทอเป็นผ้าฝ้ายที่มีกรรมวิธีทำเป็นธรรมชาติทุกขั้นตอน และมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนที่สวยงาม อาทิ ลายปะคังดอง (ลายแมงมุม) ลายหลึ่งเค้คลิ้ง (ลายเมล็ดฟักทอง) ลายก่ายกอง (ลายคดโค้ง) เป็นต้น ด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่นนี้ชุมชนจึงได้อนุรักษ์ผ้าทอลายดั้งเดิมควบคู่ไปกับการทำสินค้าหัตถกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
โดยทางชุมชนได้มีการตั้งร้านค้าและศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมผ้าทอกะเหรี่ยงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อรวบรวมสินค้าในชุมชนออกไปขายสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และช่วยให้หลายๆ คนไม่ต้องเดินทางไปประกอบอาชีพไกลถึงในตัวเมือง นอกจากเรื่องผ้าทอแล้วชุมชนหล่ายแก้วยังมีวิถีชีวิตที่ยึดถือประเพณีดั้งเดิม อาทิ การทอผ้าฝ้ายใต้ถุนบ้าน มีความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน และยังคงใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสนทนาในชีวิตประจำวัน”
จากวิถีชีวิตดั้งเดิม ผ่านรุ่นสู่รุ่น จนมาถึง จ๋า-จิตต์ปภัสร์ ปู่เป็ด หนึ่งในสมาชิกชุมชน เล่าว่า “เติบโตมาในชุมชนหล่ายแก้วด้วยวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เห็นการเปลี่ยนผ่านของสิ่งต่างๆ มากมาย รับรู้ถึงความสำคัญและเรื่องราวที่มาที่ไปในรากเดิมของเรา จึงอยากอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป ขณะเดียวกันชาวบ้านเองต้องมีธุรกิจที่ยั่งยืนและเติบโตได้มากขึ้นบนโลกปัจจุบัน จึงนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการผสมผสานวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเข้ากับวิถีชีวิตของคนในยุคนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวประเพณีผ่านผืนผ้า เพิ่มช่องทางในการขายสินค้าโดยขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ผู้ซื้อได้เข้าถึงเอกลักษณ์ของชุมชนมากขึ้น
เริ่มเรียนรู้อย่างจริงจังโดยความช่วยเหลือจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และลาซาด้า ซึ่งเข้ามาช่วยให้ความรู้ และให้คำแนะนำในการทำร้านค้าออนไลน์บนแพลทฟอร์มของลาซาด้า เครื่องมือต่างๆ ทำให้ชุมชนห่างไกลอย่างบ้านหล่ายแก้วได้เข้าถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อจำหน่ายสินค้าไปได้กว้างไกล และสามารถขยายตลาดมาสู่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ขึ้น สร้างรายได้ให้ชาวบ้านมากขึ้น ที่สำคัญคือไม่ใช่เรื่องยาก ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านสามารถบริหารจัดการร้านค้าของได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้ชีวิตของชาวบ้านแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องรอให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมชุมชนถึงจะขายสินค้าได้ แต่หลังจากเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้วปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมชุมชนก็สามารถขายสินค้าได้ทุกวัน”
ด้าน นายสุพัชเชษฐ์ เภาวะนิต รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารและพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการ บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด เล่าว่า “ลาซาด้า มีความตั้งใจในการส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับภาครัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนในการทำธุรกิจ เพื่อให้ชุมชนได้เข้าถึงการทำธุรกิจออนไลน์ได้ง่ายขึ้น โดยลาซาด้าและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมมือกันเพื่อดำเนินการภายใต้ “โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประกอบการ สำหรับ SMEs” เพื่อสร้างความรู้ และยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการตลาดออนไลน์อย่างยั่งยืน
โดยชุมชนหล่ายแก้วถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ลาซาด้าและ สสว. ร่วมกันพัฒนาธุรกิจของให้เข้าสู่ธุรกิจยุคดิจิทัล ช่วยดูแลตั้งแต่ขั้นตอนในการเปิดร้านค้าบนแพลทฟอร์มของลาซาด้า ให้คำแนะนำการเริ่มต้นขายสินค้า รวมไปถึงการจัดอบรมการทำธุรกิจบนแพลทฟอร์มออนไลน์ให้แก่ชุมชน เน้นการสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน ในอนาคตชาวบ้านสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาและขยายธุรกิจของตัวเองต่อไปได้ ทั้งยังรักษาวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชุมชนไว้อีกด้วย”
เพราะเทคโนโลยีเข้าถึงประชาชนได้ทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการรู้จักนำไปใช้และต่อยอดจนสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ สิ่งเหล่านี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันเข้าไปพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากมายในประเทศไทย ดังเช่นที่โครงการฯ นี้ได้ดำเนินการอยู่ และยังคงเดินหน้าพัฒนาพร้อมทั้งสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการต่อไป
สามารถติดตามโครงการดีๆ จากลาซาด้า และเรื่องราวความสำเร็จของผู้ขายลาซาด้าได้ที่ Facebook : Lazada Happy Selling และ Youtube : Lazada Happy Selling