January 27, 2025

นศ.ครุ มรภ.สงขลา ใช้ ‘ผีเสื้อพระราชา’ แก้ปัญหาเด็กขาดนิสัยรักการอ่าน คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 ประกวดผลงานเยาวชนสานต่อพระราชดำริ

นายณัฐภัทร ทุ่งแซะ นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ หาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้โครงการผีเสื้อพระราชา (RAMA Butterfly) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกนิสัยรักการอ่านและการเขียนของนักเรียน อีกทั้งเพื่อให้เรียนรู้ศาสตร์พระราชาผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะให้อ่านได้และอ่านเป็น

จัดทำโดยตนและเพื่อนๆ สมาชิกทีม "เรามา (ทำ) ดี" อีก 3 คนคือ นายยุทธภพ เรืองฤทธิ์ นายฐิติพงศ์ พันธ์ดี และ นายกฤษณพงศ์ สิทธิชัย โดยมี ผศ.นิตยา ธัญญพาณิชย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมทุนการศึกษา 15,000 บาท และถ้วยรางวัลจากเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จากการประกวดผลงานเยาวชนอาสาสานต่อพระราชดำริ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนส่งโครงการเข้าร่วมการประกวด ซึ่งโครงการผีเสื้อพระราชาของ มรภ.สงขลา เป็น 1 ใน 20 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก จากทั้งหมดกว่า 80 ทีมทั่วประเทศ

 

นายณัฐภัทร กล่าวว่า ผีเสื้อพระราชาเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ ภายใต้โมเดล ชื่อว่า "Butterfly Model" โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ ระยะวางไข่ ระยะหนอน ระยะดักแด้ และ ระยะผีเสื้อ เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหานักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถอ่าน-เขียนได้ตามที่คาดหวัง หรือขาดนิสัยรักการอ่าน ตนและเพื่อนๆ จึงจัดโครงการผีเสื้อพระราชาขึ้น กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนโรงเรียนสาธิต มรภ.สงขลา จำนวน 30 คน ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาผู้เรียนสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว

ยังสามารถสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงสอดแทรกโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เข้ามาบูรณาการในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักและเห็นคุณค่า พร้อมที่จะน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับ

เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ ทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองในการใฝ่เรียนรู้ อดออม ที่ไม่ใช่ออมเงินตราที่มีวันหมดค่า แต่เป็นการออมความรู้ที่ไม่มีวันสูญสิ้น

"ในนามกลุ่มเรามา (ทำ) ดี ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ และเป็นเมล็ดพันธุ์วิชาชีพครูภาษาไทยในอนาคต มีความรู้ความสามารถในศาสตร์ด้านการสอนและศาสตร์ด้านภาษาไทย พวกเราตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและการเขียนของเยาวชนในปัจจุบัน จึงเข้าร่วมโครงการพี่สอนน้องให้อ่านเขียน ซึ่งเป็นโครงการจิตอาสา จุดประสงค์เพื่อพัฒนาเยาวชนให้สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ ผลปรากฏว่านักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ข้างต้นพวกเราเห็นถึงปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ ผู้เรียนไม่มีใจรักในการอ่านและการเขียน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้ และจะส่งผลต่อในอนาคตอีกด้วย จึงร่วมกันจัดทำโครงการผีเสื้อพระราชาขึ้นมา เพื่อช่วยจุดประกายการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ก่อเกิดแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง" นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย กล่าวและว่า

กระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิด Butterfly Model แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะวางไข่ สร้างแรงบันดาลใจให้มีทัศนคติที่ดีและเห็นคุณค่าของการอ่าน การเขียน เป็นการสร้างรากฐานในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน หากเป็นผีเสื้อก็คือการฟักไข่ให้เป็นหนอนพร้อมที่จะออกสู่โลกภายนอก

2. ระยะหนอน กิจกรรมสั่งสมการอ่าน เมื่อนักเรียนมีแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือแล้ว เปรียบดังหนอนที่กำลังหิวหลังออกจากไข่ ก็จะใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมสั่งสมการอ่าน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

3. ระยะดักแด้ กิจกรรมนำเสนอผลงานผ่านกระบวนการงานเขียน โดยกำหนดหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์พระราชา กลวิธีนี้ช่วยให้ผู้เรียนทบทวนความรู้ที่สั่งสมมา ได้ตกตะกอนความรู้อีกขั้นหนึ่ง เกิดเป็นความรู้ที่คงทนสามารถนำไปต่อยอดได้

4. ระยะผีเสื้อ กิจกรรมต่อยอดนิสัยรักการอ่าน โดยนักเรียนแต่ละคนต้องกระจายนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง เสมือนการแพร่พันธุ์ผีเสื้อให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเยาวชนผู้รู้งานที่พร้อมจะสานต่อและแบ่งปันประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Sunday, 28 October 2018 04:23
ปรียานุช ทองไธสง

Author : เกาะติดข่าวการเงิน การธนาคาร หนี้ กองทุน พันธบัตร ตราสาร ทองคำ การประกันชวิต การประกันภัย การลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย ภาษี การบริหารการเงินและการลงทุน ฯลฯ

MNr-วิถีพอเพียง-Sidebar1
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM