IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
ในอดีตผ่านมาเมื่อยางราคาดี ผู้คนจึงไม่สนใจประกอบอาชีพอื่น เนื่องจากมีรายได้ดีมาก แต่ในวันนี้การปลูกยางพาราและการรับจ้างกรีดยางนั้นนอกจากรายได้ไม่มั่นคงแล้ว ยังก่อให้เกิดทั้งปัญหาในครอบครัวและปัญหาสุขภาวะตามมามากมาย ซ้ำร้ายเมื่อราคายางตกต่ำ ปัญหาการลักขโมยก็เกิดขึ้นตามมาอีกเป็นเงาตามตัว
อาชีพปลูกยางและรับจ้างกรีดยางซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวสร้างปัญหาให้กับ บ้านควนยวน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เช่นเดียวกับที่อื่นๆ แต่เมื่อรายได้จากอาชีพกรีดยางไม่พอ ชาวบ้านหันมาสนใจหาหนทางแก้ไขสู่ทางรอดของชุมชนด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
เริ่มจากการวิเคราะห์สาเหตุของการไม่พอกินพอใช้ก็พบว่าเกิดจากอาชีพเชิงเดี่ยวและการไม่ทราบความสมดุลค่าใช้จ่ายและรายได้ของตนเอง ดังนั้นจึงมีการทำบัญชีครัวเรือนและหารายได้จากอาชีพเสริมหลายๆ ทาง
"เราส่งเสริมให้ปลูกผักกินเองมาตั้งแต่ปี 2558 โดนเน้นให้ปลูกผักบ้านละ10 อย่างไว้กิน เหลือก็ขาย ผลที่ได้คือชาวบ้านได้ออกกำลังกาย สุขภาพดี มีเงินเหลือ" ชัยเลิศ รัตนรังสี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านควนยวน ตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เล่าถึงแนวทางแก้ปัญหา
จากการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านเกิดเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการ "ชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านควนยวน" บ้านควนยวนจึงเกิด กระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำ เกิดกลุ่มผู้นำชุมชนที่สามารถสรรหารูปแบบการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนไปในทางดีขึ้น สภาผู้นำสามารถวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนรวมถึงค้นหาศักยภาพและองค์ความรู้ของชุมชนที่มีอยู่แล้วและดึงออกมาใช้
"ตอนแรกผมไม่คิดว่ามูลไส้เดือนจะเป็นปุ๋ยที่ดี หรือการเลี้ยงจิ้งหรีดจะสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดีขนาดนี้ ตอนนี้กลุ่มหมู่บ้านของผมหันมาสนใจทดลองทางนี้ เลิกใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยไส้เดือนปุ๋ยจิ้งหรีด ทั้งประหยัดและได้ผลดี" ผู้ใหญ่ชัยเลิศเล่า
จิ้งหรีดที่ผู้ใหญ่ชัยเลิศกล่าวถึงคือการเพาะจิ้งหรีดเพื่อใช้เป็นอาหาร นอกจากเอาไว้กินเองแล้ว สามารถขายทำรายได้เป็นเงินไม่น้อย แถมยังได้มูลจิ้งหรีดมาเป็นปุ๋ยอีกด้วย
"เลี้ยงจิ้งหรีดมาสี่ปีแล้ว ตอนนี้มี 27 รัง รายได้ดีมาก ขายได้เดือนละหมื่นกว่าบาท แถมได้ปุ๋ยไปใส่ผักใส่มะนาว" สุวิทย์ ชายเกลี้ยง ผู้นำการเลี้ยงจิ้งหรีดของชุมชนและวิทยากรเผยแพร่ความรู้ด้านการเลี้ยงจิ้งหรีด เล่า
"ไม่เหลือไว้ขายเลย เราเอาไว้ใช้เองหมด ไม่ต้องซื้อปุ๋ยมาใส่พืชผักแล้ว" ภาวินา ชายเกลี้ยง ภรรยาของสุวิทย์ ผู้เป็นเกษตรกรปลูกมะนาว กล้วย และพืชผักสวนครัว พูดถึงปุ๋ยจากมูลจิ้งหรีดที่ทำให้พืชผักงอกงามสร้างรายได้อีกเดือนละพันกว่าบาท
ไม่น่าเชื่อว่าจากจิ้งหรีดไม่กี่ตัวที่ชาวบ้านซื้อมาทำเหยื่อสำหรับตกปลา ชาวบ้านสามารถประยุกต์ให้กลายมาเป็นอาชีพสร้างรายได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนออกจำหน่าย ณัฐพงศ์ คงสง ผู้นำการเลี้ยงไส้เดือนของชุมชนและวิทยากรเผยแพร่ความรู้ด้านการเลี้ยงไส้เดือน ได้ไปศึกษาการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการผลิตปุ๋ยจากจังหวัดนครปฐม และพบว่านอกจากไส้เดือนจะสามารถลดขยะในครัวเรือนแล้วโดยการนำไปเป็นอาหารให้ไส้เดือนแล้ว ยังสร้างรายได้ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย
"ฝนตกก็กรีดยางไม่ได้ เกิดภัยแล้งก็กรีดยางไม่ได้ กลายเป็นปัญหา รายได้จะมาจากไหน แต่ถ้าเราเลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงไส้เดือนจะได้ผลประโยชน์สองทาง เกิดทั้งรายได้ และได้ปุ๋ยมาใส่ผักผลไม้ ลดรายจ่ายอีกด้วย" ณัฐพงศ์อธิบาย
ณัฐพงศ์เองมีรายได้จากทั้งการขายปุ๋ยมูลไส้เดือนและขายแม่พันธุ์ไส้เดือนเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อ อีกทั้งยังเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยไส้เดือนไปทั่วภาคใต้ หลายคนในหมู่บ้านที่ซื้อปุ๋ยมูลไส้เดือนจากณัฐพงศ์ไปใส่พืชผักผลไม้และยางพาราแล้วได้ผลดีมาก เพราะลดรายจ่ายได้ทันที จึงสนใจเข้ารับการฝึกเลี้ยงและแบ่งพันธุ์ไส้เดือนไปเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย
สวนบ้านน้องกุ๊ก ในหมู่บ้านควนยวนเป็นสวนผลไม้ที่เลี้ยงผึ้งด้วย นุจรีและชาญชัย หนูชู แห่งบ้านน้องกุ๊ก ที่ปลูกผัก ผลไม้ และเลี้ยงผึ้งเป็นรายได้ของครอบครัว ได้แก่เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และจำปาดะ สามารถสร้างรายได้ในร่วมแสนบาทต่อปีก็ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ผลิตในชุมชนเป็นปุ๋ยแทนปุ๋ยเคมีที่ใช้อยู่
"ผลผลิตไม่ลดลงเลย เคยใช้ปุ๋ยเคมี ต้องใส่บ่อยๆ และต้องเพิ่มปริมาณเรื่อยๆ แต่พอใช้มูลไส้เดือน ใส่แค่ปีละสองครั้ง ประหยัดกว่าด้วย แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม ดีทั้งผลไม้และผึ้ง" ชาญชัย และนุจรี หนูชู ช่วยกันเล่าหลังจากทดลองใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนมาสองปี
เกษตรกรในหมู่บ้านอีกคนหนึ่งซึ่งสามารถประยุกต์หลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้อย่างดีคือ ประคอง จินาเหงียบ แกนนำชุมชน ที่ปลูกผักและเพาะต้นพันธุ์ไม้ขายเป็นรายได้เสริม จากการศึกษาเรียนรู้แลกเปลี่ยนในชุมชน ป้าประคองสามารถผลิตปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชจากของเหลือในครัวเรือนแบบปลอดภัยไร้สารพิษ มีชาวบ้านมาขอซื้อต้นพันธุ์ถึงที่ และสามารถนำผลผลิตออกจำหน่ายยังตลาดสร้างรายได้เป็นอย่างดี
การน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับชีวิต เริ่มจากการพึ่งตนเอง ทำบัญชีครัวเรือน ปลูกผัก ผลไม้ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ได้มีการทำกันได้สำเร็จและแพร่หลายไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แม้ต่างชาติก็ยังสนใจนำหลักการไปประยุกต์ใช้และได้รับผลสำเร็จดีเยี่ยมชาวบ้านลดรายจ่ายได้จริง มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพแถมยังได้ออกกำลังกาย อีกทั้งยังเกิดกิจกรรมสานสัมพันธ์ในชุมชน
แต่สำหรับชาวบ้านควนยวน ไม่เพียงแค่นั้น ผลผลิตที่ส่งออกขายได้จริงไม่ว่าผลไม้ น้ำผึ้ง จิ้งหรีด และมูลไส้เดือนล้วนแล้วแต่ผลิตไม่ทันไม่พอขาย และนอกจากนั้นชาวบ้านควนยวนยังสามารถเปิดพื้นที่ขายผลผลิตที่ได้ที่ ตลาดนัดชุมชนวัดควนยวน แม้ว่าชาวบ้านควนยวนเองปลูกพืชผักกินเองแทบทุกครัวเรือน แต่ผลผลิตจำพวกพืชผักสามารถนำมาวางขายได้ที่ตลาดนัดชุมชนวัดควนยวนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงมาซื้อสินค้าและมีแม่ค้ามาเหมารับซื้อผลผลิตไปขายอีกด้วย นับเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ได้อย่างดี
โครงการชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านควนยวน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง นับเป็นต้นแบบการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนวิถีของคนในชุมชน จนนำไปสู่สุขภาวะของชุมชนทั้งสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดความสุขขึ้นในชุมชนและสังคมโดยรอบ อันเกิดขึ้นจากความสามารถในการจัดการองค์ความรู้และสร้างกลไกการจัดการในชุมชนด้วยตัวเอง นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในมิติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี