IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ผู้ให้บริการธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เปิดเผยภายหลังการพานักลงทุนในนิคม 30 บริษัทเข้าพบรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ว่า นักลงทุนต้องการทราบทิศทางเรื่องอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพราะจากการสำรวจความพร้อมของนักลงทุนในนิคมจำนวน 800 บริษัทพบว่า กว่า 400 บริษัทเตรียมปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในกระบวนการผลิต (transformation) คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เช่น บริษัทฟอร์ด, ฮิตาชิ และซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเริ่มทยอยลงทุนจริงปี 2561 ขณะที่บริษัท เอนก้า แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกค้าเพียงรายเดียวในนิคมที่ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ เตรียมขยายการลงทุนเพิ่มภายใต้มาตรการสนับสนุนที่รัฐประกาศ
ตอนนี้ WHA ได้เสนอนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 8 แห่งในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ทยอยเป็นพื้นที่เขตส่งเสริม เพื่อเตรียมไว้รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เพราะมีพื้นที่พร้อมขายถึงประมาณ 10,000 ไร่ ปีนี้คาดยอดขายคงถึง 13,000 ล้านบาท พื้นที่ 1,400 ไร่ และในวันที่ 23 พ.ย. 2560 นี้ได้เตรียมลงพื้นที่นิคม เหมราช จ.ระยอง พร้อมคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพบปะกับนักลงทุนโดยตรง เพื่อสร้างความมั่นใจ
“มาตรการของรัฐช่วยจูงใจในการสร้าง ความต้องการ (demand) ของระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตในขั้นเริ่มต้นก่อน ทั้งมาตรการทางภาษี มาตรการทางการเงิน มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การสร้างบุคลากร เช่น การหักค่าใช้จ่ายหรือหักค่าเสื่อมอัตราเร่ง/หักค่าเสื่อมเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อซื้อระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ (ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40%) และหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับการอบรมบุคลากร หรือมาตรการทางการเงินจะช่วยประสานสถาบันการเงินในการจัดสรรวงเงินสินเชื่อในการปรับปรุงกระบวนการผลิต, มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากบีโอไอ ยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี สัดส่วน 50% ของเงินลงทุน และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เมื่อภาพรวม 5 ปีเป็นไปตามเป้าจากนั้นจึงจะเข้าสู่การสร้าง supply”
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้มีเอกชนจำนวน 30 บริษัท เป็นเอกชนไทยประมาณ 60% และต่างชาติ 40% ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นต้น มีความพร้อมที่จะลงทุนปรับเปลี่ยนลงทุนเครื่องจักร โดยขั้นแรกในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนอยู่แล้วในพื้นที่ EEC จึงถือว่าเป็นการขยายการลงทุน และมีอีก 8 บริษัทที่เคยลงนามไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่าการลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งปรับปรุงเครื่องจักรเช่นกันและมีบางบริษัทพร้อมลงทุนผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ และประกอบหุ่นยนต์ในประเทศไทย
“วันนี้เอกชนเข้ามาหารือกับเรา บีโอไอ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กรมศุลกากร โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมฯจากรัฐที่ออกมาเป็นแพ็กเกจส่งเสริม เพราะมีทั้งการกระตุ้นการใช้ทั้ง demand และ supply มาตรการการเงินที่จะช่วย SMEs ต่าง ๆ แต่ยังไม่สามารถประเมินเงินลงทุนจริงได้ แผนเชิงปฏิบัติครั้งนี้จะทำช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไทยและให้เกิดการลงทุนในประเทศ จากนี้เชื่อว่าจะมีเอกชนอีกหลายกลุ่มเข้ามาหารือแสดงความพร้อมเรื่องลงทุนเพิ่มอีก”
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวะนี้นับว่าเป็นช่วงที่เหมาะสมของบริษัทเอกชนทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรให้เป็นระบบอัตโนมัติหรือใช้หุ่นยนต์ในโรงงานผลิต เพราะรัฐมีมาตรการสนับสนุนอยู่แล้วจึงไม่ยากที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องแข่งขันในตอนนี้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ