IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
Q : ในไทยเริ่มทำกำไรได้แล้ว
ตลาดไทยผลตอบรับดี ยังมีโอกาสโตเรื่อย ๆ เพราะยังมีผู้บริโภคหลายคนไม่รู้จัก FoodPanda ไม่รู้จักบริการแบบนี้ คนจะนึกถึงการสั่งอาหารคือต้องโทรศัพท์สั่ง ก็จะเอดูเคตลูกค้าให้สั่งผ่านแอปพลิเคชั่นของเราแทน
ถ้าเทียบกับทั้งภูมิภาคแล้วตลาดไทยเติบโตสูงพอสมควร แต่จะก้าวต่อไปต้องพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเปิดในไทย
ปี 2555 ก็เริ่มทำกำไรตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่การทำกำไรก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับการสร้างบริการที่ดีให้ลูกค้า ซึ่งจะทำให้อยู่ในธุรกิจนี้ได้ในระยะยาว
Q : ถือเป็นเบอร์ 1 ในตลาด
FoodPanda จะมีส่วนแบ่งตลาดเท่าไรคงไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลของคู่แข่งทั้งหมด แต่เชื่อว่าเป็นที่ 1 ในแง่ของมูลค่าการสั่งแต่ละออร์เดอร์ของลูกค้า
ส่วนอาหารที่ลูกค้าไทยนิยมคือ พิซซ่า เบอร์เกอร์ แล้วก็เมนูไก่ อย่างบอนชอน โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในกรุงเทพฯ อย่างในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สั่งไก่บอนชอนเป็นอันดับ 1 ขณะที่ยอดสั่งอาหารผ่าน FoodPanda ของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบปีก่อน
Q : แผนขยายลูกค้า-ร้านค้า
เปิดเผยจำนวนลูกค้าไม่ได้ตามกฎของบริษัท แต่มีร้านอาหารในระบบ 3,500 ร้าน และจะขยายให้ถึง 7,000 ร้านค้าในสิ้นปีนี้ ให้มีอาหารหลากหลายสัญชาติมากขึ้น อย่างอาหารเกาหลี และได้เพิ่มสตรีตฟู้ดเข้ามาด้วย เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในพอร์ตคู่ค้า ตามความชอบของลูกค้า เพิ่มจากเดิมที่มักจะเป็นร้านอาหารดังร้านอาหารตามห้างและเป็นไปได้ที่จะพัฒนารูปแบบการส่งอาหารให้สั่งจากร้านดังในจังหวัดอื่นได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ช่วยทำลายข้อจำกัด ก็อาจจะได้เห็นในปีสองปีนี้มีแผนจะขยายไปให้บริการในขอนแก่น อุดรฯ โคราช ภายในสิ้นปี จากเดิมมีในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต พยายามไปเมืองใหญ่ให้ครบ
Q : ดีลิเวอรี่แข่งเดือด
ก็เริ่มเห็นหลายเจ้าขยายบริการเข้ามาครอบคลุมฟู้ดดีลิเวอรี่ด้วย แต่ยังไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งเพราะเพิ่งเริ่มต้น แต่มีเจ้าใหญ่ ๆ หลายรายที่เป็นคู่แข่งโดยตรง อย่าง LINE MAN หรือ Grab ซึ่งด้านหนึ่งก็มาช่วยเอดูเคตตลาด เพียงแต่ว่าหลายรายเข้ามาแล้วก็จากไป
ตลาดไทยแข่งขันรุนแรง แต่เชื่อว่าแต่ละบริษัทมีจุดแข็งต่างกัน โดย FoodPanda ได้พัฒนาบริการให้ลูกค้าใช้งานง่ายทำทุกอย่างเป็นออโตเมชั่น ผ่านแอปพลิเคชั่น ไม่ต้องมีการโทร.ติดต่อกับคนส่งอาหารเอง ยังคงความเป็นส่วนตัวของลูกค้าไว้ และขยายบริการให้ไม่ว่าจะเดินทางไปจังหวัดไหนก็ยังใช้ได้ รวมถึงมีเพย์เมนต์ที่หลากหลาย หรือจ่ายเงินสดเมื่อได้รับอาหารก็ได้
Q : ถึงขั้นต้องตัดราคาค่าคอมมิสชั่น
ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่จะเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มในการเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา ช่วยสนับสนุนในแง่การทำตลาด หรือการสรุปรายงานสถิติต่าง ๆ ของร้าน เพื่อให้นำไปปรับปรุงคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้นได้ ซึ่งสิ่งสำคัญกับธุรกิจร้านอาหาร เพื่อให้รู้ว่าเขาเป็นอย่างไรในสายตาของลูกค้าและเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการซื้อซ้ำ ไม่ใช่มาซื้อเมื่อมีโปรโมชั่นเท่านั้น ฉะนั้น การมีข้อมูลที่จะรักษาลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญของร้านค้าด้วย
เมื่อร้านได้เห็นว่าทุกค่าคอมมิสชั่น ได้ความคุ้มค่ากลับไป เขาก็ยินดีจะจ่าย
Q : ตลาดไทยต่างจากประเทศอื่น
เป็นตลาดที่พิเศษมาก คนไทยเปิดกว้างในการรับสิ่งใหม่ ๆ มีความยูนิคทั้งในด้านของผู้คนและอาหาร ขณะที่ช่องทางในการทำตลาดก็จะแตกต่างกว่าประเทศอื่น คือ LINE เป็นช่องทางสื่อสารและส่งคอนเทนต์ให้ถึงผู้บริโภคได้ดีกว่า Yahoo ที่ได้ผลดีมากในไต้หวัน ส่วนคอนเทนต์คนไทยก็จะชอบอะไรที่ตลก ๆ แต่ก็มีบางเรื่องที่เซนซิทีฟมาก บางเรื่องห้ามแตะ บริษัทจึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอด
ยุคนี้ทุกคนต้องการความเร็วยิ่งเป็นการสั่งอาหาร ยิ่งหิวยิ่งอยากให้มาส่งให้เร็วที่สุด จึงท้าทายที่จะต้องเร่งพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ต้องมองกระบวนการว่าจะทำอย่างไรส่งถึงมือลูกค้าได้เวลาเป๊ะที่สุด
Q : ยุคนี้ใคร ๆ ก็จะเป็นซูเปอร์แอป
เรายังไม่คิดจะก้าวไปถึงบริการอื่นนอกจากที่เกี่ยวกับฟู้ด ฟู้ดยังเป็นโฟกัสหลักของธุรกิจเพื่อทำให้ดีที่สุด เพียงแต่อาจจะมองไปในส่วนอื่นที่จะช่วยให้พาร์ตเนอร์ของเราส่งอาหารให้ถึงมือลูกค้าได้เร็วขึ้น อาทิ การขยายห้องครัวเพื่อรองรับพาร์ตเนอร์ของเราที่มีออร์เดอร์เยอะจนครัวของร้านทำไม่ทัน ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้าของเราได้รับอาหารช้าลงไปด้วย เพราะเราเป็นคนส่งอาหาร หรืออาจจะขยายไปเกี่ยวกับอาหารสำหรับการจัดเลี้ยง คือการขยายบริการยังโฟกัสที่ฟู้ดเป็นหลัก ยังไม่คิดถึงเรื่องซูเปอร์แอป
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ