December 18, 2024

ปภ.แนะวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้

ปภ. แนะนำประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนและอพยพ ออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย เตือนภัยฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีความเสี่ยง ต่อการเกิดอัคคีภัยสูง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย แนะวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย โดยตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น หากเพลิงไหม้เล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้น หากเพลิงไหม้รุนแรง ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ โดยใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด

 

ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร ห้ามใช้ลิฟต์และบันไดในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดอับของอาคาร ไม่หนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ ไม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าออก ห้ามวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้น กรณีติดอยู่ในอาคาร ให้โทรศัพท์แจ้งเหตุ พร้อมระบุตำแหน่งที่ติดอยู่ ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟคลอกหรือโครงสร้างอาคารที่อาจพังถล่มลงมาได้

 

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า 

ฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีความเสี่ยง ต่อการเกิดอัคคีภัยสูง ซึ่งเมื่อเกิดอัคคีภัยผู้เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่เกิดจากการสำลักควัน เนื่องจากไม่มีความรู้ ในการอพยพหนีไฟอย่างถูกวิธี

เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ดังนี้ การปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น หากเพลิงไหม้เล็กน้อย ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง หากเพลิงไหม้รุนแรง ตะโกนบอกหรือกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เพื่อแจ้งให้ผู้อื่นทราบ

 

พร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ และโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิงก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อน ให้เปิดประตูออกไปช้าๆ และอพยพตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย หากมีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะอยู่ในวงล้อมของกองเพลิง ให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ พร้อมโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ การอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้

 

ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ เข้าสู่ร่างกาย ทำให้หมดสติและเสียชีวิตหมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต เพื่ออพยพไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยขึ้นมาปกคลุม จึงเสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิต

 

ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ ข้อควรรู้ในการอพยพหนีไฟ ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ไม่หนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้ ไม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้

 

กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าหรือใช้วิธีนอนราบกับพื้นและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ ห้ามวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้น ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เพราะอาจถูกไฟคลอกหรือได้รับอันตรายจากโครงสร้างอาคารที่อาจพังถล่มลงมา ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนและอพยพหนีไฟอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ทำให้สามารถเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างปลอดภัย

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Tuesday, 12 March 2019 04:23
กำจัด ชื่นคชลักษณ์

Author : เกาะติดทุกข่าวในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ สถาปัตยกรรม ออกแบบตกแต่ง วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง อาคารเขียว  วิศวกรรม กฏหมายก่อสร้าง ข่าวสถาปนิก ฯลฯ

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM