December 22, 2024

Intelligent Building ด้วยระบบ MEP และเทคโนโลยี

โดย : บริษัท เคทีเอ็น เอ็มแอนด์อี จำกัด KTN M&E COMPANY LIMITED

ทุกวันนี้สิ่งที่จะพบเห็นอยู่เสมอตามถนนหนทางก็คือ ตึกระฟ้า หรือไม่ก็อาคารรูปทรงแปลก ซึ่งอาคารที่พบเห็นเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมภายนอกเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ซึ่งความทันสมัยในด้านเทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารอีกด้วย ซึ่งอาคารในลักษณะนี้มักมีชื่อเรียกได้หลายชื่อตั้งแต่ “ตึกฉลาด” (Smart Building) “อาคารเทคโนโลยีชั้นสูง” (High Tech Building, High Tech Real Estate) แต่ชื่อที่ฮิตที่สุดที่ถูกเรียกคงจะเป็น “อาคารอัจฉริยะ” (Intelligent Building)

“Intelligent Building” หรือ “อาคารอัจฉริยะ” ตามนิยามของคำนี้หมายถึง อาคารที่ได้รับการออกแบบโดยใช้เทคนิคการก่อสร้างที่ก้าวหน้า มีความแตกต่างจากอาคารธรรมดาในทุกๆ แง่ มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่รับรู้ข้อมูลต่างๆ ของอาคาร โดยมีการนำเอาระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์มาเป็นสมองส่วนกลางควบคุมระบบต่างๆ ภายในอาคารให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ และเชื่อมโยงการทำงานของอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในอาคารให้ทำงานเชื่อมประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด มีระบบประสาทที่เป็นสายไฟฟ้า และสายสัญญาณ พร้อมอุปกรณ์ตรวจจับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Sensors) อยู่ตามบริเวณต่างๆ ทั่วอาคาร คอยเป็นหูเป็นตาให้กับระบบคอมพิวเตอร์ที่จะสามารถตรวจสอบ, รายงานและควบคุมอุปกรณ์ของอาคารได้ตลอดเวลา ทั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบลิฟต์ ระบบปรับอากาศ ระบบเตือนภัย ระบบดับเพลิง และระบบอื่นๆ เพื่อความคล่องตัวในการใช้อาคาร ซึ่งรวมไปถึงการที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเป็นพิเศษกว่าอาคารทั่วๆ ไป

อาคารทำงานได้คล้ายสิ่งมีชีวิต มีการรับรู้และสามารถตอบสนองกับสิ่งเร้าทั้งจากภายในและภายนอก อีกทั้ง สามารถปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตนเองมีการใช้ชีวิตได้อย่างปรกติสุขนั่นเอง

 

Intelligent Building มีดีที่ดีไซน์มากด้วยฟังก์ชั่น

การจัดลำดับความเป็นอาคารอัจฉริยะ

การกำหนดความฉลาดของมนุษย์นั้นเราใช้วิธีวัดเป็น ไอคิว ส่วนความฉลาดของอาคารอัจฉริยะนั้นเราสามารถ แบ่งระดับความฉลาดของอาคารออกเป็น 5 ระดับ (Level)โดยอ้างอิงจากหนังสือ “The Intelligent Building Sourcebook” มีรายละเอียดของแต่ละระดับดังนี้

ระดับที่ 0 (Level 0)

เป็นอาคารที่ถือว่าไม่มีความฉลาดเลย ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการใช้พลังงานและระบบลิฟต์ และอาจไม่มีระบบควบคุมความปลอดภัยอาคารระดับนี้ไม่ถือว่าเป็นอาคารอัจฉริยะ

ระดับที่ 1 (Level 1)

อาคารในระดับนี้ จะมีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยควบคุมการใช้พลังงานของระบบปรับอากาศ ระบบลิฟต์ ระบบรักษาความปลอดภัย

ระดับที่ 2 (Level 2)

เหมือนในระดับที่ 1 แต่เพิ่มการให้บริการส่วนกลางต่างๆ เช่น ห้องประชุม ระบบทำสำเนาเอกสารกลาง และมีบริการระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานจากส่วนกลาง

ระดับที่ 3 (Level 3)

เหมือนระดับที่ 2 แต่เพิ่มระบบสื่อสาร ระบบสื่อสารทางไกลด้านข้อมูลและเสียง และระบบโทรศัพท์ที่มีมาตรฐาน

ระดับที่ 4 (Level 4)

เหมือนระดับที่ 3 แต่เพิ่มระบบสำนักงานอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบ เช่น คอมพิวเตอร์ในสำนักงาน ระบบสื่อสารที่ทันสมัย การประชุมทางวีดีโอทางไกล ระบบสื่อสารทางไกลความเร็วสูงที่สามารถส่งข้อมูลและเสียง ระบบอินเตอร์เน็ต

ตัวอย่างอาคารอัจฉริยะในประเทศไทยที่ไม่ได้มีดีแค่ความฉลาดเพื่อสนองการใช้สอยของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ คุณสมบัติ และฟังก์ชั่นด้านต่างๆ มากมาย พร้อมทั้งยังมีดีไซน์ที่สวยงามล้ำสมัย แถมมีรางวัลการันตีจากหน่วยงานที่เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design : LEED) ของสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council : USGBC)พ่วงมาด้วย โดย LEED มีเกณฑ์วัดระดับความเป็นมิตรของอาคาร แบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ Certified ,Silver, Gold และ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ไปดูกันซิว่าอาคารเหล่านี้มีหน้าตารูปทรงอย่างไร และใช้สิ่งใดเป็นแนวความคิดการออกแบบ และก่อสร้างบ้าง

ปาร์คเวนเชอร์ ดิ อีโคเพล็กซ์ (Park Ventures - The Ecoplex)

       เริ่มกันที่แห่งแรกกับ ปาร์คเวนเชอร์ ดิ อีโคเพล็กซ์ (Park Ventures – The Ecoplex) อาคารที่มีดีกรีรางวัลระดับสูงสุดจาก LEED ในการเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน สำหรับอาคารผสมผสาน (ระหว่างสำนักงาน โรงแรม และร้านค้า) “The first LEED® Platinum Mixed-use Building in Thailand” จึงเป็นอาคารอเนกประสงค์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน อาคารเขียวระดับสูงสุด LEED Platinum แห่งแรกในประเทศไทย เป็นโครงการอนุรักษ์พลังงานใจกลางเพลินจิตซิตี้ บนพื้นที่กว่า 5 ไร่ ความสูง 34 ชั้น มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 81,400 ตร.ม. แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ สำนักงานให้เช่าระดับพรีเมี่ยม ตั้งแต่ชั้น 8-22 โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว สัญชาติญี่ปุ่นชั้นนำของโลก ‘ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ’ ชั้น 23-34 และพื้นที่ร้านค้า ชั้น 1-2 นับเป็นอาคารที่มีการออกแบบอันโดดเด่นด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมภายใต้การออกแบบอย่างยั่งยืน ที่เรียกกันว่า Green Design ทั้งนี้แนวความคิดโดยรวมตั้งแต่ต้น ไปจนถึงองค์ประกอบต่างๆ ในการออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเน้นการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่ามากที่สุดเป็นที่ตั้ง เพื่อตอบโจทย์ของการเป็นอาคารสมัยใหม่ และอาคารประหยัดพลังงานเข้าไว้ด้วยกัน

ปาร์คเวนเชอร์ ดิ อีโคเพล็กซ์ (Park Ventures - The Ecoplex)

 สำหรับโครงการนี้มีการออกแบบอันโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจ จากการประนมมือไหว้ และดอกบัว สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอันงดงาม แฝงด้วยความทันสมัยและมีระดับ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ผสมผสานกันของบริบททางสังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม โครงการปาร์คเวนเชอร์จึงเสมือนเป็นตัวแทนของอาคารแบบ Ecoplex ที่รวมเอาความเป็นธรรมชาติมาไว้ในการออกแบบภูมิทัศน์อย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งคุณสมบัติของปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ที่ทำให้แตกต่างจากอาคารทั่วไป จนผ่านมาตรฐาน LEED ระดับสูงสุด คือ

ปาร์คเวนเชอร์ ดิ อีโคเพล็กซ์ (Park Ventures - The Ecoplex)

 

• พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ภายในโครงการ

• ทำเลที่ตั้งโครงการ เชื่อมตรงจากรถไฟฟ้าสถานีเพลินจิต ช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ของผู้อยู่อาศัย อีกทั้งยังสนับสนุนการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยที่จอดรถพิเศษสำหรับผู้ใช้รถยนต์อีโคคาร์และรถจักรยาน

• กระจกอนุรักษ์พลังงาน เป็นกระจก 3 ชั้น (Laminated and Insulated Glass with Low E Coating) ที่มีช่องอากาศอยู่ระหว่างกลาง และเคลือบสารพิเศษที่มีคุณสมบัติช่วยลดปริมาณเสียง แสงแดด และความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร

• ระบบปรับอากาศที่ออกแบบเพื่อควบคุมปริมาณลมเย็นให้พอเพียงกับความร้อนในแต่ละพื้นที่ (Variable Air Volume Control System) จึงช่วยลดการใช้พลังงานของระบบทำความเย็นได้มากขึ้น และช่วยให้ผู้อาศัยในอาคารรู้สึกสบายกับอุณหภูมิที่คงที่ทุกพื้นที่

เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (Energy Complex : Enco)

• ระบบควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร และลดมลพิษของอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality) โดยการติดตั้ง CO2 Sensor เซ็นเซอร์ตรวจจับค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ต่างๆ หากมีค่ามากเกินไป พัดลมจะทำการดูดอากาศบริสุทธิ์ให้เข้ามาหมุนเวียนภายในพื้นที่อาคาร

• ระบบปรับระดับแสงภายในอาคารให้เหมาะสมกับแสงสว่างธรรมชาติ (Automatic Dimmer) จะช่วยหรี่แสงสว่างของไฟภายในตัวอาคารที่มากเกินความจำเป็นโดยอัตโนมัติ

• ระบบบำบัดน้ำที่สามารถนำน้ำที่ใช้แล้วภายในอาคาร มาบำบัดและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Gray Water Reuse) รวมถึงรดน้ำต้นไม้ภายในโครงการ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำประปา

• ระบบอาคารอัตโนมัติ (Building Automatic System) ที่เชื่อมต่อ ควบคุม และบริหารจัดการทางวิศวกรรม งานระบบต่างๆ ภายในอาคาร รวมถึงช่วยในการตรวจวัด และควมคุมการใช้พลังงาน

• ระบบลิฟท์อัจฉริยะ (Intelligent Lift System) ที่จะช่วยบริหารจัดการ ให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังชั้นที่ต้องการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึงร้อยละ 30 จากระบบปกติ

เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (Energy Complex : Enco)

เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (Energy Complex : Enco) เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานที่ได้ใบรับรองมาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือ LEED ประเภท Core & Shell Version 2.0 ในระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามเกณฑ์ LEED และยังเป็นอาคารแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงยังเป็นกลุ่มอาคารสำนักงานและพาณิชย์ (Office and Commercial Multiple Building Complex) แห่งแรกนอกสหรัฐอเมริกาที่ได้รับมาตรฐานนี้อีกด้วย (ได้รับการรับรองเมื่อ 17 กรกฎาคม 2553) เป็นอาคารสำนักงานของกลุ่มบริษัทปตท. ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 29 ไร่ หลังอาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. มีขนาดโครงการทั้งหมดประมาณ 30,000 ตร.ม. ประกอบด้วยอาคารสำนักงานจำนวน 2 อาคาร โดยอาคาร A เป็นอาคารสำนักงานของบริษัทในกุล่มปตท. และบริษัทในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนอาคาร B เป็นอาคารสำนักงานของกระทรวงพลังงาน

Energy Complex : Enco

แนวคิดในการออกแบบอาคารที่มีปลายยอดแหลมมาจากรูปทรงของเปลวไฟในลักษณะที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า สื่อถึงความเจริญก้าวหน้าและความโชติช่วงขององค์กร รวมถึงผังของอาคารที่เป็นรูปทรงหยดน้ำมัน 2 หยดหันเข้าหากัน ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรด้านพลังงาน ทั้งยังตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพราะผนังอาคารมีผิวโค้งตามหลักอากาศพลศาสตร์ ช่วยลดความร้อนด้านนอกอาคาร ทำให้เกิดภาวะสบายต่อผู้ใช้อาคาร ทั้งยังคำนึงถึงความมั่นคงและปลอดภัยของอาคาร โดยนำผลการทดสอบอุโมงค์ลมที่ทดสอบแรงดันลมที่จุดต่าง ๆ ของผิวโค้งของอาคารในทุกทิศทางมาใช้ในการออกแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์มีแนวคิดหลักในการออกแบบ คือ การเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการออกแบบและสร้างสรรค์ให้เป็นทั้งอาคารยั่งยืน (Sustainable Building) อาคารอัจฉริยะ (Intelligent Building) มีความปลอดภัยสูง มีสภาพแวดล้อมที่ดี รวมทั้งเป็นอาคารเขียว (Green Building) ตามมาตรฐาน LEED และมาตรฐาน ASHRAE 90.1 Version 2004 ที่ใช้เทคโนโลยีและการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมเพื่อช่วยประหยัดพลังงานสูงสุด โดยออกแบบให้ใช้พลังงานไม่เกิน 100 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี (100 kWh/m2/yr.) และยังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีลักษณะเด่น ดังนี้

Energy Complex : Enco

• นวัตกรรมการออกแบบที่สามารถใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้มีพื้นที่โล่งนอกอาคารสูงกว่าข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่กำหนดให้ต้องมีพื้นที่โล่งไม่ต่ำกว่า 10% ของพื้นที่ แต่ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์มีพื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียวรวมสูงกว่าที่กำหนดถึง 287%

• ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาร่วมบริหารจัดการทุกระบบของอาคาร นอกจากนี้โครงสร้างอาคารยังได้รับการออกแบบตามมาตรฐานสากล ให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์-สเกล จากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี

• ระบบตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 Sensor ถูกนำมาติดตั้งที่ท่อส่งลมกลับ (Return Air Duct) โดยทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อพบว่ามีปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะสั่งให้ระบบช่องรับอากาศเข้า (Fresh Air Intake Damper) เปิดรับอากาศบริสุทธิ์เข้ามา เพื่อให้เกิดสภาวะอากาศที่สบายและเหมาะกับการทำงานให้กับผู้ใช้อาคาร

• ระบบแลกเปลี่ยนความร้อนจากอากาศที่ใช้แล้วจากอากาศสู่อากาศ (Air to-Air Heat Exchanger) เพื่อนำอากาศเย็นที่ใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการลดภาระของระบบปรับอากาศได้ดี จึงช่วยลดการใช้พลังงานและสามารถลดขนาดของเครื่องปรับอากาศลงได้ ตลอดจนช่วยลดพื้นที่ติดตั้งสำหรับอุปกรณ์จ่ายความเย็น (Air Handling Equipment) อีกด้วย

• หลังคาสีเขียว ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนธรรมชาติ เพิ่มอากาศบริสุทธิ์และสร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงาม

• รีไซเคิลระบบประปาและสุขาภิบาล มีการนำน้ำที่ใช้แล้วมาปรับคุณภาพ เพื่อใช้ซ้ำกับระบบสุขภัณฑ์ต่างๆ มีระบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อใช้รดน้ำต้นไม้ และเลือกใช้พันธุ์ไม้พื้นเมืองที่ต้องการน้ำน้อย ทำให้สามารถนำน้ำมาใช้ซ้ำได้กว่า 90% และประหยัดการใช้น้ำประปาได้ถึง 55.3%

• ศูนย์อาหารภายใน เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จะใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนก๊าซหุงต้มในการประกอบอาหาร ซึ่งถือเป็นตัวอย่างแห่งแรกของการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีด้านการสร้างตึกอัจฉริยะจะก้าวไกลไปสักเพียงใด ก็ยังคงหนีไม่พ้นการดำเนินงานโดยคน เครื่องจักรอาจคิดแทนคนได้ แต่หากเมื่อเกิดความเสียหายมันคงยังซ่อมตัวเองไม่ได้ ต้องใช้คนดูแลซ่อมแซมให้อยู่ดี ทั้งนี้ อุปกรณ์จะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การดูแลรักษาอาคารให้มีความสมบูรณ์พร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด

บริษัท เคทีเอ็น เอ็มแอนด์อี จำกัด (KTN M&E COMPANY LIMITED ก่อตั้งโดยกลุ่มวิศวกรที่มีความชํานาญเฉพาะทางด้านธุรกิจรับเหมาติดต้ังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลและงานวิศวกรรมระบบสาธารณูปโภคประกอบอาคาร หรือที่รวมเรียกว่า MEP (Mechanical, Electrical and Plumbing Engineering) โดยบริษัทฯเป็นผู้ให้บริการรับเหมาติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (MEP) โดยขอบเขตการให้บริการของบริษัทฯจะครอบคลุมตั้งแต่ งานรายละเอียดทางวิศวกรรม (Detailed Engineering) การจัดหาวัตถุดิบ (Procurement) และงานรับเหมาติดต้ังระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร,ระบบสุขาภิบาลและระบบ ป้องกันอัคคีภัย และระบบปรับอากาศ (Construction) โดยมีลูกค้าหลักอยู่ใน กลุ่มห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก กลุ่มอาคาร ห้องชุดเพื่อการพักอาศัย อาคารสํานักงาน กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มมหาวิทยาลัย และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน

เราเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของลูกค้า เราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าโดยเสมอมา อันแสดงถึงความเชื่อมั่น ในความรับผิดชอบ ต่องานที่ได้รับมอบหมาย เราพึงตระหนักถึงความไว้วางใจนี้ และมุ่งมั่นที่จะรักษาคุณภาพการบริการให้ยั่งยืนตลอดไป เราซื่อสัตย์และซื่อตรง บริการลูกค้าด้วยความจริงใจเสมอมา

บริษัท เคทีเอ็น เอ็มแอนด์อี จำกัด
KTN M&E COMPANY LIMITED
1056/111 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
094-653-5919,081-7690128

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 04 October 2019 04:47
อัญชลี ปรีชาธนพันธ์

Author : ประสบการณ์งานข่าวภาคสนามร่วมสิบปี เชี่ยวชาญงานข่าวสด งานสัมภาษณ์ สอบถาม เข้าร่วมฟังในที่ประชุมแถลงข่าว การสัมมนา ติดตามเหตุการณ์ คดีต่างๆ หรือปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายให้ทำข่าว

Tweet Feed

Post Gallery

Zoomlion จัดงานมินิโรดโชว์ลำปาง 18-22 ธันวาคม 2567 พร้อมโปรโมชันดีส่งท้ายปี

Taiwan Excellence นำเสนอมิติใหม่แห่งวงการอุตสาหกรรมโลหการ  ชูวิสัยทัศน์เด่น "Innovate for Green Metalwork"  ที่ Metalex 2024

ไต้หวัน เดินหน้านโยบายมุ่งใต้ใหม่ ยกระดับความร่วมมือไทย-ไต้หวัน พร้อมโชว์นวัตกรรมอัจฉริยะ ในงาน TAIWAN EXPO 2024

“เมทัลเล็กซ์ 2024” พร้อมโชว์ผลงานชิ้นเอกจาก 3,000 แบรนด์ จัดเต็มพื้นที่ศูนย์ไบเทคเตรียมรับนักอุตสาหกรรมจาก 50 ประเทศ

Taiwan Excellence ยกขบวนนวัตกรรมเครื่องจักรสุดล้ำ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ Net-Zero

Taiwan Expo 2024 พร้อมมอบโอกาสทางธุรกิจให้คนไทยอีกครั้ง 21-23 พ.ย. นี้ อัพเดทเทรนด์ ชมนวัตกรรม เทคโนโลยี โซลูชัน ที่ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม

AP THAILAND – CPAC  ผนึกกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพื่อการอยู่อาศัยไทยสู่ความยั่งยืน  ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยคอนกรีตคาร์บอนต่ำ และรถโม่เล็กซีแพค

“บางกอกเคเบิ้ล” ฉลองเส้นทางผู้นำธุรกิจสายไฟ 60 ปี มุ่งพลิกโฉมความปลอดภัย-อนาคตเมือง พัฒนา Smart Factory-รุกตลาดพลังงานสะอาด รับความต้องการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกโต 3 เท่า

นวพลาสติก คว้ารางวัล Thailand Kaizen Award 2024 ตอกย้ำองค์กรที่มุ่งมั่นด้านการลดการใช้พลังงาน และตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM