January 19, 2025

"จอมทรัพย์ โลจายะ" ผู้ประสบความสำเร็จ ที่เคยล้มเหลวมาก่อน !!

การเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การเรียนรู้จากวิกฤติของตัวเอง คนที่ประสบความสำเร็จ มักเป็นคนที่เคยผ่านความล้มเหลว ผ่านวิกฤติมาก่อน

“คนที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่เคยผ่านความล้มเหลวมาก่อน การที่คนเราผ่านวิกฤติมาได้ย่อมทำให้เกิดการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งไม่มีตำราเรียนเล่มไหนเคยบอกไว้” คำพูดของ “จอมทรัพย์ โลจายะ” ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) ซึ่งเขายืดอกบอกอย่างไม่อายว่าเคยล้มเหลวมาก่อน
                 แม้เขาจะไม่ได้พูดเต็มปากเต็มคำว่าวันนี้เขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่การที่บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก ซึ่งปัจจุบันทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก กลับมายืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง ก็น่าจะเรียกเช่นนั้นได้
“จอมทรัพย์” นักธุรกิจวัย 48 ปี ผ่านจุดวิกฤติที่สุดในทางธุรกิจ เมื่อครั้งที่บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก ยังทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายอิฐมวลเบา โดยเขาบอกว่าอยู่ในภาวะ “มืด 8 ด้าน” อยู่ 8 ปี
                 ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทซุปเปอร์บล๊อกฯ เล่าประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของเขา ว่า เขาต้องไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เพราะพ่อแม่แยกทางกัน นั่นถือเป็น “จุดเปลี่ยนในชีวิต”จากเดิมที่อยู่ในครอบครัวที่ค่อนข้างสบาย มีคนรับใช้ในบ้าน เปลี่ยนเป็นต้องทำทุกอย่างเอง ต้องช่วยแม่ทำงานเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว 
                 พอไปสหรัฐอเมริกา แม่ก็ไปเปิดร้านขายของ “จอมทรัพย์” ซึ่งเป็นน้องเล็กของครอบครัวในบรรดาพี่น้องชายล้วน 3 คน ก็ต้องช่วยทำงานด้วย 
                 “ชีวิตเปลี่ยนไปเลยจากที่เล่นไปวันๆ ก็มีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่กวาดพื้น ถูพื้น จัดของ ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าไม่อยากให้แม่เหนื่อย เพราะรักแม่ จึงทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้”
                 “จอมทรัพย์” เล่าว่า การทำธุรกิจร้านค้าของแม่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไปตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน ซึ่งมีข้อจำกัดว่าห้ามขายเหล้าขายเบียร์ ขณะที่ของที่ขายดีที่สุดของร้านค้าคือเหล้าเบียร์ เมื่อขายไม่ได้ก็เจ๊ง ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเรื่อง “ทำเล” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจะทำธุรกิจเปิดร้านขายของ
                 ตอนหลังแม่จึงเปลี่ยนไปทำร้านอาหาร ซึ่ง “จอมทรัพย์” ในวัยสิบกว่าขวบก็มีหน้าที่เข้าครัวทำอาหาร
                 “ตอนนั้นก็ไม่รู้สึกเหนื่อยนะ เพราะเรามีความตั้งใจอยากจะช่วยแม่ เราทำโดยไม่ได้ถูกบังคับและก็ทำในฐานะที่เราเป็นเจ้าของธุรกิจ” จอมทรัพย์เล่าอย่างภาคภูมิใจ และบอกว่าในช่วงนั้นเขาก็ได้เรียนรู้หลายๆอย่างจากการทำธุรกิจของแม่ ได้เรียนรู้การทำงานกับคนอื่น รวมถึงบางครั้งที่แม่ถูกโกง ซึ่งเขาบอกว่ามันคือ การเรียนรู้จากการทำ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้เห็นการขึ้นลงของธุรกิจ ซึ่งไม่มีในทฤษฎี

"จอมทรัพย์ โลจายะ" ผู้ประสบความสำเร็จ ที่เคยล้มเหลวมาก่อน !!

                 “จอมทรัพย์” ดีกรีเป็น “ดอกเตอร์” ด้านนิติศาสตร์ แต่เขาบอกว่าชีวิตเขาอยู่กับการทำธุรกิจมาตลอด
                 หลังอยู่อเมริกาได้ 21 ปี เขาก็กลับมาเมืองไทยเพราะพ่อป่วยหนัก ต้องกลับมาดูแลพ่อ มาอยู่ได้ 3-4 เดือนพ่อก็เสียชีวิต ตอนนั้นเป็นช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง งานแรกที่ทำในเมืองไทยคือ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ด้วยคอนเน็กชั่นกับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย เพราะพี่ชายของเขาเป็นลูกเขย “มีชัย” ทำให้เขาได้ไปรู้จักกับบริษัทสมประสงค์แลนด์ เจ้าของซุปเปอร์บล๊อกที่ทำธุรกิจอิฐมวลเบา ซึ่งประสบปัญหาอยู่และต้องการขายธุรกิจ ครอบครัว “โลจายะ” จึงซื้อมา แล้วปรับโครงสร้างหนี้
                 “หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี เราก็เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ช่วงแรกธุรกิจไปได้ดีมาก เรียกว่าเป็นธุรกิจในฝันเลย เพราะอิฐมวลเบาเป็นที่ต้องการมาก ใครจะซื้อต้องสั่งจองและจ่ายเงินล่วงหน้า 3-4 เดือน ตอนนั้นราคาอิฐมวลเบาพุ่งไปถึง 260 บาทต่อตารางเมตร”
                 แต่แล้วจุดพลิกผันก็เกิดขึ้น เมื่อบริษัทตัดสินใจขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่คู่แข่งซึ่งมีอยู่รายเดียวก็ขยายโรงงานด้วย ทำให้เกิดภาวะสินค้าล้น เกินความต้องการ ราคาตกลงมาอยู่ที่ 110 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 130 บาท 
                 "จอมทรัพย์" เล่าว่า บริษัทซุปเปอร์บล๊อก อยู่ในภาวะลำบากในขั้นที่เขาเรียกว่าถึงขั้น “วิกฤติ” อยู่ 8 ปี ยิ่งขายดีก็ยิ่งขาดทุน ตอนนั้นคิดอยู่ว่าจะทำอะไร อย่างไร พยายามหาหนทางทำธุรกิจอื่น แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้มาก พยายามประคองตัวอยู่ ขณะที่บริษัทคู่แข่งก็สู้ไม่ไหวเหมือนกัน จึงขายธุรกิจให้ “ปูนใหญ่” คือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย
                 จนกระทั่งเกิดจุดพลิกผันอีกครั้งเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 วิกฤติประเทศครั้งนั้นกลายเป็นโอกาสของบริษทซุปเปอร์บล๊อก เพราะโรงงานของคู่แข่งจมน้ำผลิตสินค้าไม่ได้ ขณะที่ของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบเลย
                 หลังจากฟื้นกลับมาได้ ครอบครัว “โลจายะ” ตัดสินใจขายโรงงานให้ “ปูนกลาง” คือ บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง เพราะคิดว่าหากขืนทำต่อไปก็สู้ไม่ไหว เพราะตอนนั้นคู่แข่งคือ “ปูนใหญ่” ประเมินตัวเองแล้วยังไงก็ไม่สามารถสู้ได้ จึงต้องยอมถอย
                 “ช่วงนั้นต้องทำใจเยอะมาก จำได้ตอนนั้นเอาลูกชายซึ่งอายุประมาณ 3-4 ขวบไปถ่ายรูปกับโรงงานเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ให้เขารู้ว่าเราเคยเป็นเจ้าของ ต้องทำใจเยอะมาก เพราะมันเหมือนกับแพ้ แต่ผมว่าบางทีเราก็ต้องยอมถอยเพื่อจะชนะ เพราะสู้ไปเราไม่ชนะแน่ เราก็ต้องรู้จักถอย”

                 “จอมทรัพย์” บอกว่า ตอนนั้นบริษัทขายไปเฉพาะตัวโรงงาน ไม่ได้ขายชื่อบริษัทไปด้วย ขายได้ 500 ล้าน เคลียร์หนี้แล้วเหลือ 200 ล้าน จึงใช้เป็นทุนเบนเข็มมาทำธุรกิจด้านพลังงานทดแทนในชื่อบริษัทเดิม แน่นอนคราวนี้ “จอมทรัพย์” บอกว่าเขาศึกษาและวางแผนมาอย่างดี ต่างจากการกระโดดเข้าเป็นทำธุรกิจอิฐมวลเบาในครั้งแรก ซึ่งเขาบอกว่าตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์ มีแต่ความคิดว่าอยากทำธุรกิจเท่านั้น
                 ประธานกรรมการบริษัทซุปเปอร์บล๊อก บอกว่า เขามีการสรุปบทเรียนความล้มเหลวในการทำธุรกิจแรก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำกับธุรกิจใหม่ ซึ่งพบว่าการทำธุรกิจเดิมมีปัญหาอยู่ 4 อย่าง คือ 1.มีการแข่งขันด้านราคา 2.การเก็บเงิน บางครั้งขายแล้วเก็บเงินไม่ได้ 3.ต้องมีสต็อกสินค้า ซึ่งหมายถึงเงินลงทุน 4.ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก และตอนหลังเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน
                 “ธุรกิจพลังงานทดแทนของเราแก้ปัญหาทั้ง 4 ข้อได้หมด ไม่มีการแข่งขันราคา เพราะรัฐรับซื้อในราคาเดียวกันทั้งหมด ไม่มีปัญหาเรื่องการเก็บเงิน เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้เงินตรงเวลา ไม่ต้องสต็อกสินค้า เพราะผลิตไฟฟ้าได้เท่าไรก็ส่งขายเลย และไม่ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก มีแค่ทีมวิศวกรไม่กี่คน นอกนั้นใช้วิธีจ้างทีมงานข้างนอกทั้งหมด”
                 ช่วง 3 ปีที่ก้าวเข้ามาทำธุรกิจพลังงานทดแทน บริษัทซุปเปอร์บล๊อกมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด จากจุดเริ่มที่ไปซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 13 เมกะวัตต์ วันนี้บริษัทได้สัมปทานผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลมากเป็นอันดับ 1 คือเกือบ 800 เมกะวัตต์ หากไม่หาเพิ่ม เขาก็จะยังมีรายได้ไปอีก 25 ปี คือ ตลอดอายุสัมปทาน
                 บริษัทซุปเปอร์บล๊อกยังขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศเพื่อขยายฐานลูกค้าด้วย ตอนนี้มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จีน 20 เมกะวัตต์ และกำลังไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังลมที่เวียดนาม และมีแผนไปลงทุนเพิ่มในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วย

 

"จอมทรัพย์ โลจายะ" ผู้ประสบความสำเร็จ ที่เคยล้มเหลวมาก่อน !!


                 แต่ก่อนที่จะตั้งหลักได้ว่าควรขยายการลงทุนในภูมิภาคนี้ “จอมทรัพย์” บอกว่า เขาก็เสียเวลาหลงทางไป 3-4 เดือน โดยตอนแรกเห็นว่าตลาดใหญ่ที่สุดนอกจากจีนก็มีที่สหรัฐอเมริกา แต่ตอนหลังก็พบว่า การที่จะต้องลงทุนเดินทางไปไกลขนาดนั้น และต้องเดินทางบ่อยๆ มันไม่คุ้ม จึงหันกลับมาปักหลักในภูมิภาคนี้
                 หากจะเรียกว่านี่คือความสำเร็จก็ต้องบอกว่าเป็นความสำเร็จที่ผ่านจุดวิกฤติ ต้องเรียนรู้จากการเดินผิดเดินถูกมาหลายรอบ ซึ่ง “จอมทรัพย์” บอกว่าที่มีวันนี้ได้เพราะเขาเป็นคนไม่ยอมแพ้ และที่สำคัญมีความ “กระหายอยาก” ที่จะประสบความสำเร็จ !!

 

เรื่องโดย  สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์  

ที่มา : komchadluek

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 09 November 2018 18:50

Tweet Feed

Post Gallery

Zoomlion จัดงานมินิโรดโชว์ลำปาง 18-22 ธันวาคม 2567 พร้อมโปรโมชันดีส่งท้ายปี

Taiwan Excellence นำเสนอมิติใหม่แห่งวงการอุตสาหกรรมโลหการ  ชูวิสัยทัศน์เด่น "Innovate for Green Metalwork"  ที่ Metalex 2024

ไต้หวัน เดินหน้านโยบายมุ่งใต้ใหม่ ยกระดับความร่วมมือไทย-ไต้หวัน พร้อมโชว์นวัตกรรมอัจฉริยะ ในงาน TAIWAN EXPO 2024

“เมทัลเล็กซ์ 2024” พร้อมโชว์ผลงานชิ้นเอกจาก 3,000 แบรนด์ จัดเต็มพื้นที่ศูนย์ไบเทคเตรียมรับนักอุตสาหกรรมจาก 50 ประเทศ

Taiwan Excellence ยกขบวนนวัตกรรมเครื่องจักรสุดล้ำ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ Net-Zero

Taiwan Expo 2024 พร้อมมอบโอกาสทางธุรกิจให้คนไทยอีกครั้ง 21-23 พ.ย. นี้ อัพเดทเทรนด์ ชมนวัตกรรม เทคโนโลยี โซลูชัน ที่ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม

AP THAILAND – CPAC  ผนึกกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพื่อการอยู่อาศัยไทยสู่ความยั่งยืน  ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยคอนกรีตคาร์บอนต่ำ และรถโม่เล็กซีแพค

“บางกอกเคเบิ้ล” ฉลองเส้นทางผู้นำธุรกิจสายไฟ 60 ปี มุ่งพลิกโฉมความปลอดภัย-อนาคตเมือง พัฒนา Smart Factory-รุกตลาดพลังงานสะอาด รับความต้องการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกโต 3 เท่า

นวพลาสติก คว้ารางวัล Thailand Kaizen Award 2024 ตอกย้ำองค์กรที่มุ่งมั่นด้านการลดการใช้พลังงาน และตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM