IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายอเนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) และเยี่ยมชมพื้นที่เตรียมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินอล) หลังที่ 2 หลังจากมีเสียงวิจารณ์ว่าการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ไม่เป็นไปตามแผนแม่บทฯ ว่า ยืนยันว่า ทอท. ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแผนแม่บทฯ เพียงแต่ขอเพิ่มเติมการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเที่ยวบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตั้งแต่เปิดสนามบินมา 12 ปี ทอท.โดนผู้โดยสารต่อว่ามาตลอด เช่น แออัด เดินไกล ห้องน้ำน้อย ทำไมต้องนั่งรถไปขึ้นเครื่องบิน (Bus Gate) ได้ขึ้นเครื่องบินผ่านประตูเทียบเครื่องบิน (งวงช้าง) น้อยมาก
นายเอนก กล่าวต่อว่า ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ก็ต้องทำให้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด และให้บริการผู้โดยสารอย่างสมบูรณ์แบบ หากพัฒนาไม่ตรงเป้าหมายก็จะนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติ เพราะสนามบินสุวรรณภูมิถือเป็นประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ดังนั้นการจะลงทุนพัฒนา ทสภ. ต้องทำให้ได้ทั้งปริมาณ คุณภาพ และตอบโจทย์ผู้โดยสาร ซึ่งตั้งเป้าว่าเมื่อก่อสร้างเทอร์มินอล 2 แล้วเสร็จ จะทำให้ ทสภ. เป็น 1 ใน 10 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และหวังว่าสักวันหนึ่งจะติดอันดับ 1 ด้วย อย่างไรก็ตามเวลานี้จากผลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารในการใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ พบว่า อยู่ระดับ C หรือพอใจปานกลาง และมีแนวโน้มตกไปอยู่ระดับ Dหรือไม่พอใจ จึงตั้งเป้าว่าหากสร้างเทอร์มินอล 2ขึ้น จะทำให้ความพึงพอใจอยู่ในระดับ B หรือดี
นายเอนก กล่าวอีกว่า เทอร์มินอล 2 มีพื้นที่กว่า 3 แสนตารางเมตร อยู่ทางทิศเหนือของสนามบิน อาคารหลังนี้จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนลานจอดเครื่องบินระยะไกลเป็นประชิดอาคาร มี 14 หลุมจอด ผู้โดยสารเดินขึ้นเครื่องบินได้เลย ลดการใช้ Bus Gate และทำให้มีรถวิ่งในเขตการบินน้อยลง ช่วยลดอุบัติเหตุได้
นอกจากนี้ยังมีระบบขนส่งอัตโนมัติ (APM) ให้บริการเชื่อมต่อกับเทอร์มินอล 1ขณะเดียวกันการลำเลียงกระเป๋าก็เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้รถมารับกระเป๋า รวมทั้งการรอตรวจคนเข้าเมืองก็ไม่ต้องรอนาน พร้อมกันนี้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะห้องน้ำก็จะเพิ่มมากขึ้นจากเทอร์มินอล 1 เป็นเท่าตัว อย่างไรก็ตามอาคารหลังนี้รองรับผู้โดยสารได้ 30ล้านคนต่อปี เมื่อรวมการพัฒนาตามแผนแม่บทระยะที่ 1-3 ในปี 65 ทสภ.จะรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี แต่หากไม่มีการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 และทำตามแผนแม่บทเดิมจะรองรับผู้โดยสารได้เพียง 75 ล้านคนต่อปี
นายเอนก กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสนามบินทั่วโลกประมาณ 80-90% มีเทอร์มินอลหลายแห่ง และเชื่อมโยงกัน ไม่มีสนามบินไหนมีเทอร์มินอลเพียงแห่งเดียว ดังนั้นการที่ ทอท. จะสร้างเทอร์มินอล 2ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรผิดแปลกไปจากสนามบินทั่วโลก
อย่างไรก็ตามขณะนี้ ทอท. เสนอแผนพัฒนา ทสภ. ระยะที่ 3 วงเงินกว่า 7.26 หมื่นล้าน ประกอบด้วย การก่อสร้างทางวิ่ง(รันเวย์) เส้นที่ 3 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท,การก่อสร้างเทอร์มินอล 2 วงเงิน 4.2 หมื่นล้าน และการก่อสร้างส่วนตัวขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันตก วงเงิน 6.6 พันล้านบาท ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาวงเงินลงทุน และการปรับแบบแผนการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือน ม.ค.62 หลังจากนี้คงต้องรอให้ฝ่ายนโยบายเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ ทอท. ทำอย่างไร ซึ่ง ทอท.ก็พร้อมปฏิบัติตาม.
นอกจากนี้ ทอท.มีนโยบายจะศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดระยะเวลาดำเนินโครงการลงนอกจากนี้จะช่วยประหยัดค่าจ้างที่ปรึกษาและค่าจ้างออกแบบไปได้ 3.5%ของมูลค่าโครงการ ซึ่งแผนดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาได้มาก