IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
บริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับเครื่องยนต์ในอากาศยานประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนเก้าอี้ และส่วนปีกในอากาศยาน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและการผลิต โดยล่าสุดได้ผนึกกำลังพันธมิตรและซัพพลายเออร์ร่วมพัฒนาสายการผลิตเครื่องบินโบอิ้ง Boeing Wing Rib ด้วยเครื่องจักรล้ำสมัย The Makino MAG3 5-axis จากบริษัท Sister Group โดยได้รับการติดตั้งและผ่านการอบรมการใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับกำลังการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน โดยล่าสุดบริษัทฯได้รับคัดเลือกจาก บริษัท เออห์ลินส์ เอเชีย จำกัด (Ohlins Asia) ให้ผลิตชิ้นส่วน OEM ซึ่งถือว่ามาจากกการดำเนินงานผลิตและการบริการอย่างใส่ใจของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มนวัตกรรมโรงงานผลิตชิ้นส่วนฯให้ทันสมัยยิ่งขึ้นถือเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการรองรับนโยบายรัฐดันไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของภูมิภาคเอเชีย
Senior Aerospace ประเทศไทยได้เริ่มความร่วมมือผู้จัดจําหน่ายด้านเทคนิคและการผลิตกับบริษัท Sister Group จากสหรัฐอเมริกาในโครงการความร่วมมือในการพัฒนาการผลิต Boeing Wing Rib โดยสาธิตวิธีการใช้งานโต๊ะ 3 เมตรของเครื่อง Makino MAG3 5 แกน ได้รับการถ่ายทอดเป็นอย่างดี
นอกจากนี้บริษัทฯได้ดำเนินการผลิตเพื่อสิ่งใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งล่าสุดได้ลดคาร์บอนจากการผลิตที่ 116,280 kg/CO2 ในปีนี้โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานผลิต เพื่อสร้างสรรค์พลังงานสะอาดและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 281,486 บาทอีกด้วย รวมถึงเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ว่าจะเป็นในด้านเครื่องจักรหรือการขยายโรงงาน มาตรฐานรับรองนั้นมีทั้ง AS 9100 , ISO 9001, ISO 45001:2018, NADCAP รวมทั้งใบรับรองจากคู่ค้าอย่างโรลส์-รอยซ์ ทำให้สินค้าที่ผลิตจากไทยเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย
การที่ไทยจะเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกนั้น คุณภาพในระดับมาตรฐานสากลเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดอากาศยานระดับโลก ซึ่งต้องมาจากแรงงานทักษะฝีมือดี ซึ่งแม้จะมีการลงทุนสูงแต่ก็คุ้มค่า
ทั้งนี้บริษัทฯมองว่าแม้ปัจจุบันศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอากาศยานอาเซียนจะอยู่ที่สิงคโปร์ แต่ไทยก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของภูมิภาคได้ภายใต้การส่งเสริมของรัฐบาลไทยและหน่วยงานอย่างบีโอไอ ที่พยายามสร้างแรงจูงใจทำให้ประเทศไทยน่าดึงดูดใจมากขึ้นในสายตานักลงทุนนานาชาติ การที่ไทยจะเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกนั้น คุณภาพในระดับมาตรฐานสากลเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดอากาศยานระดับโลก ซึ่งต้องมาจากแรงงานทักษะฝีมือดี ซึ่งแม้จะมีการลงทุนสูงแต่ก็คุ้มค่า เพราะหากได้ลูกค้าแล้วก็มักจะเป็นสัญญาระยะยาวที่จะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน
อนึ่ง ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเร่งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาประเทศที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นโมเดลของเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-Based Economy) และเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมการบิน โดยได้อนุมัติแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน โดยเฉพาะแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงและอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และการซ่อมบำรุงเครื่องบินของภูมิภาคหรือที่เรียกว่า “Aeropolis” บนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
โดย โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 มีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้ เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการขับเคลื่อน เศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพผ่านกลไกการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
นักศึกษากลุ่มแรกของ Senior Aerospace Thailand ที่มีวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาขั้นสูงด้านการผลิตชิ้นส่วนอวกาศรุ่นแรกกำลังสำเร็จการศึกษา และกำลังสร้างภาพยนตร์รับปริญญาสำหรับนักศึกษาเรื่องแรก โดยโปรเจคนี้ได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยเทคนิคไทย-ออสเตรีย และ Senior Aerospace Thailand ที่ได้ร่วมมือกันในโครงการประกาศนียบัตรนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการแรงงานทักษะสูงกับศูนย์กลางศูนย์ซ่อมอากาศยานของ EEC
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา สถาบันการบินพลเรือนได้ทำ MOU กับ บริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อร่วมพัฒนาบุคคลากรด้านการบินผ่าน 4 กรอบความร่วมมือ รับแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานในพื้นที่อีอีซี การลงนาม MOU ระหว่างสถาบันการบินพลเรือนและบริษัท Senior Aerospace (Thailand) ซึ่งบริษัทมีพันธกิจหลักในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีคุณภาพสูง เพื่อการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน และประสานความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการซ่อมบำรุงอากาศยาน
การลงนามดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่เร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ บริเวณพื้นที่ภายในสนามบินอู่ตะเภา ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน รวมถึงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทยให้ไปสู่ระดับโลกต่อไป