ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตฯ ยืนยันว่า การยื่นคำเสนอข้อพิพาทเป็นขั้นตอนปกติในขั้นแรกของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และถือเป็นเพียงการใช้สิทธิของบริษัทฯ ภายใต้ข้อตกลง TAFTA เท่านั้น ยังไม่ได้มีการตัดสินชี้ขาดแต่อย่างใด
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า ทางคิงส์เกตฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทแล้วในกรณีพิพาทกับราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ยืนยันว่า การยื่นคำเสนอข้อพิพาทเป็นขั้นตอนปกติในขั้นแรกของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และถือเป็นเพียงการใช้สิทธิของบริษัทฯ ภายใต้ข้อตกลง TAFTA เท่านั้น ยังไม่ได้มีการตัดสินชี้ขาดแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากนี้ไทยจะยื่นคำคัดค้านกลับไปที่อนุญาโตตุลาการ
ด้าน นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยและบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอย่างเต็มรูปแบบ และเริ่มนับหนึ่งแล้ว หลังจากนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 ปี โดยประเทศที่ 3 ที่ตัดสิน คือ สิงคโปร์
"ยอมรับว่า ที่ผ่านมาไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ มีความพยายามในการเจรจามาตลอด โดยทางคิงส์เกตฯ ได้ยื่นข้อเสนอมาหลายข้อ และไทยรับได้เพียงบางข้อ ดังนั้น การเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการจึงเป็นขั้นตอนที่ไทยพร้อมอยู่แล้ว และ กพร.ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยมีความมั่นใจว่าไทยจะชนะแน่นอน" นายวิษณุกล่าว

ทั้งนี้ ทาง กพร.ยังหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากล เพื่อจัดเตรียมแนวทางการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างรัดกุม โดยมีความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และมั่น ใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยเป็นมาตรการที่ถูกต้อง
สำหรับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนและคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทดังกล่าวมาเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่ในระยะยาว เป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ส่งผลให้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ตัดสินใจใช้สิทธิในการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ