IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และดูแลงานการเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG (SET:SCC) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2565 นี้ บริษัทฯยังคงงบประมาณการลงทุนไว้ประมาณ 65,000-85,000 ล้านบาท โดยหลักๆ จะใช้ลงทุนในโครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP 1) ประเทศเวียดนาม พร้อมกันนี้ยังคงมองหาโอกาสการเติบโตผ่านการลงทุนใหม่ๆ โดยคาดรายได้จากการขายทั้งปี 2565 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2564 พร้อมกันนี้บริษัทยังคงมุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าบางกลุ่มให้สะท้อนต้นทุนพลังงานที่เร่งตัวขึ้น ควบคู่กับมุ่งเน้นผลิตและจำหน่ายสินค้ากลุ่มนวัตกรรม เพื่อรักษาอัตรากำไรขั้นต้น (Margin) ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
Sirplaste in Portugal
ซึ่งหลังจากบริษัทฯได้เข้าซื้อกิจการในสัดส่วน 70% ใน Sirplaste-Sociedade Industrial de Recuperados de Plástico, S.A. (Sirplaste) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (Recycled Polymers or Post-Consumer Resin - PCR) รายใหญ่ที่สุดในประเทศโปรตุเกส โดยบริษัทมีแผนเข้าไปขยายกำลังการผลิตอีก 25% รองรับความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในทวีปยุโรป ที่คาดมีความต้องการมากถึง 3.7 ล้านตันต่อปี และเติบโตระดับ 10% ต่อไป ในอีก 5 ปีข้างหน้า
คาดว่าสิ้นปีนี้บริษัทจะมีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลคิดเป็น 50% ของการใช้พลังงานจากปัจจุบันใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอยู่ที่ 30% โดยบริษัทได้มีการปรับเทคโนโลยีเพื่อรอบรับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก
ล่าสุด SCG ยกทัพนวัตกรรมแอ่วเหนือ ภายใต้แนวคิด “ESG 4 Plus เพื่อเรา เพื่อโลก” จัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมสุดล้ำ และโซลูชันรักษ์โลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี แก้ปัญหาโลกร้อน และการหมุนเวียนทรัพยากร อาทิ SCG Green Choice ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคดูแลโลก ปูนงานโครงสร้างเอสซีจี สูตรไฮบริด ลดการปล่อยคาร์บอน SCG GREEN POLYMER™ โซลูชันนวัตกรรมพลาสติก SCGP Recycle โซลูชันช่วยจัดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง OptiBreath® ถุงสำหรับยืดอายุผักและผลไม้ ช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าส่งออก เป็นต้น พร้อมชูแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมสิ่งแวดล้อมยั่งยืน มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 และโครงการพัฒนาอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ภายในงาน FTI Expo 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ เชียงใหม่
"เอสซีจี ได้ดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาทรัพยากรขาดแคลน และความเหลื่อมล้ำในสังคมจากวิกฤตเศรษฐกิจตามแนวคิด ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ” โดยยึดหลักเชื่อมั่น และโปร่งใส ซึ่งเป็น PATHWAY ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมาย ESG ที่ยั่งยืน มุ่งเป้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ควบคู่กับการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการผลิต นวัตกรรม สินค้า บริการ และโซลูชัน โดยได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ตลอดกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้พลังงานในกระบวนการผลิตให้น้อยลง ในขณะที่ยังคงคุณสมบัติของสินค้าให้มีประสิทธิภาพดีกว่าหรือเท่าเดิม มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ เช่น SCG Green Choice ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมดูแลโลก ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด เพื่อเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน CO2 ภายในปี 2565 SCG Floating Solar Solutions ทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รายแรกของประเทศไทย เป็นต้น" นายธรรมศักดิ์ กล่าว
เอสซีจี ห่วงใยในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนไม่เท่ากัน จึงได้เร่งพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ เพื่อสร้างรายได้มั่นคงให้ชุมชนและผู้ว่างงาน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งเป้าพัฒนาอาชีพ 20,000 คน ในปี 2568 ตัวอย่างโครงการ อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์ “คิวช่าง Q-CHANG” เพื่อเป็นจุดนัดพบช่างฝีมือดีทั่วไทยให้บริการเจ้าของบ้าน และร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานฝึกทักษะให้ช่างท้องถิ่น ช่วยสร้างรายได้ให้ช่างรายย่อยกว่า 40 ล้านบาท โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ เพื่อสร้างสุภาพบุรุษนักขับและถนนปลอดภัย โครงการพลังชุมชน สอนแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพยั่งยืนใน 11 จังหวัด เป็นต้น
“เอสซีจี ตระหนักดีกว่า เพียงองค์กรเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เอสซีจี จึงเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศ ระดับอาเซียน และระดับโลก ขับเคลื่อน ESG เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพื่อโลกของเราที่น่าอยู่ และส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
สำหรับการคาดการณ์รายได้ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากอานิสงค์การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ, การเปิดประเทศเต็มรูปแบบของไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน, และราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการสินค้ากลุ่มปูนซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้างเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยภาพรวมผลการดำเนินงานบริษัทในไตรมาส 2/2565 ที่ผ่านมา ยังเติบโตต่อเนื่องทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเคมิคอลส์.ธุรกิจแพกเกจจิ้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งมีความต้องการมากดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่ฟื้นตัวดีขึ้นอีกด้วย
เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass)
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นปัญหาใหญ่ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้านี้ แม้ว่าจะมีส่วนช่วยในการปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นได้บางส่วน แต่การปรับขึ้นราคาสินค้าต้องเป็นไปตามกลไกตลาด รวมทั้งภาพรวมตลาดสามารถปรับขึ้นได้แค่ไหน รวมทั้งทำให้กำลังซื้อลดลง ดังนั้นบริษัทหันมาเน้นการปรับลดต้นทุนการผลิตลง โดยหันไปใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอย่างพลังงานชีวมวลแทนการใช้ถ่านหิน คาดว่าสิ้นปีนี้บริษัทจะมีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลคิดเป็น 50% ของการใช้พลังงานจากปัจจุบันใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอยู่ที่ 30% โดยบริษัทได้มีการปรับเทคโนโลยีเพื่อรอบรับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก จึงเป็นความเข้มแข็งระยะยาวของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP1) ประเทศเวียดนาม การดำเนินการคืบหน้าแล้วกว่า 93% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงครึ่งแรกปีแรกของปี 2566 ได้ตามแผน โดยโครงการ LSP1สามารถปรับใช้พลังงานได้ทั้งแก๊ส และ แนฟทา (Naphtha) จึงสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยบริษัทยังคงมั่นใจว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่จะทยอยออกสู่ตลาดในระยะ 3 ปีข้างหน้ายังมีน้อย รวมถึงมีการกดดันจากการปรับลดแผนการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งกรณีที่สภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ผู้ประกอบการปิโตรเคมีภายในจีนชะลอการผลิต จึงยังคงมีความต้องการผลิตภัณฑ์โพลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) อาทิ SPP, PP อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทได้ปรับกลยุทธ์การตลาด มุ่งเน้นตลาดที่ยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์โพลิโอเลฟินส์คุณภาพสูง อาทิ ทวีปยุโรป, แอฟริกา ฯลฯ
“ตอนนี้จีนมีนโยบาย Zero Covid ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกเม็ดพลาสติกไปยังประเทศจีน ดังนั้นบริษัทได้หันไปส่งออกเม็ดพลาสติกไปยังยุโรปและแอฟริกาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมาร์จิ้นเม็ดพลาสติกพีวีซีก็ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากการผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีจากถ่านหินในประเทศจีนลดกำลังการผลิตลงด้วย ส่งผลดีต่อบริษัทอีกด้วย” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG เปิดเผยว่า จากราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานโดยภาพรวมของบริษัทปรับตัวขึ้นประมาณ 15-20% และส่งผลกระทบแต่ละกลุ่มธุรกิจแตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ที่มีต้นทุนพลังงานสูงถึง 70-80%, ส่วนกลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้างซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 20% YoY, และกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ได้รับผลกระทบเพียงประมาณ 5-10% ซึ่งบริษัทสามารถปรับราคาขายบางกลุ่มสินค้าให้สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มกรีน ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้น (Margin) ที่ดี และเริ่มเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ดังนั้นจึงยังคงเป้าหมายยอดขายรวมทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้น 10%เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ผลิตภัณฑ์กลุ่มกรีน (SCG Green Choice)
โดยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคและประเทศไม่เท่ากัน บริษัทฯจึงต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ โดยจะมุ่งเน้นกระจายสินค้าเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งยังมีความต้องการสินค้าในระดับสูง ซึ่งบริษัทฯได้ปรับกลยุทธ์ระยะสั้น ด้วยการมุ่งบริหารจัดการ 3 ความเสี่ยง คือ
- ทำสัญญาซื้อขายพลังงานล่วงหน้า
- บริหารจัดการวัตถุดิบในทุกห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
- พยายามบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้สอดคล้องกับความต้องการ ควบคู่กับการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเร่งลงทุนตามโครงการ ESG มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition) ให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว
“วิกฤติด้านพลังงานเป็นวิกฤติระยะสั้น บริษัทจึงมุ่งเน้นการกระจายความเสี่ยงผ่านการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่มากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าหากความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกรุนแรงขึ้น บริษัทจะสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้ และทำอย่างไรให้ต้นทุนยังสามารถบริหารจัดการได้ จากการใช้เครื่องมือด้านการเงินในรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม มองว่าไทย หรืออาเซียน ยังอยู่ห่างจากสถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าว ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก” นายรุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย