January 24, 2025
THUMMA-Oil & Gas-Strip-Head

สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 3-7 ธ.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 10-14 ธ.ค. 61 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 52.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 62.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดีเซล ลดลง 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • ผลการประชุมของกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้ข้อสรุปว่าจะลดปริมาณการผลิตน้ำมัน 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สมาชิก OPEC ลด 800,000 บาร์เรลต่อวัน และ Non OPEC ลด 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 62) และกำหนดประชุมครั้งต่อไปเดือน เม.ย. 62 เพื่อประเมินสภาวะตลาด
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น มาอยู่ที่ 877 แท่น ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 59
  • Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ 33.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปริมาณการผลิตเดือนก่อน 150,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 59 ทั้งนี้ OPEC กลับมาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 
  • กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ 11.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 50,000 บาร์เรลต่อวัน 
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 443.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 129,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 11.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่
  • กาตาร์ประกาศถอนตัวจากกลุ่ม OPEC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 แม้กำลังการผลิตของกาตาร์อยู่ที่ระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 2% เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตของ OPEC ที่ระดับ 32-33 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ส่งผลทางจิตวิทยาถึงอิทธิพลของกลุ่มที่มาจากความร่วมมือตามภารกิจคือการรักษาเสถียรภาพตลาดน้ำมัน
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 32,046 สัญญา มาอยู่ที่ 136,466 สัญญา
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิลดลง จากสัปดาห์ก่อน 25,619 สัญญา มาอยู่ที่ 144,775 สัญญา ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 59

 

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันปิดตลาดวานนี้ปรับตัวลดลงกว่า 3% ตามแรงเทขายในตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน แม้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 61 OPEC และ Non-OPEC ตกลงร่วมลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตเดือน ต.ค. 61 เพื่อลดภาวะอุปทานล้นตลาด อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันประกอบไปด้วยหลากหลายความเสี่ยง โดยเฉพาะประเด็น Brexit ซึ่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นาง Theresa May ประกาศเลื่อนการลงมติในรัฐสภาอังกฤษต่อร่างข้อตกลงแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากความวิตกว่าการลงมติในตอนนี้อาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภากอปรกับประเด็นสงครามการค้าที่แม้จีนกับสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มประนีประนอมกันได้ แต่ล่าสุดสถานการณ์ความขัดแย้งมีแนวโน้มลุกลามจากกรณีการควบคุมตัวประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทหัวเว่ย ที่ทางการแคนาดาทำตามคำขอของสหรัฐฯ นอกจากนั้นให้จับตาปัญหาความไม่สงบภายในประเทศลิเบีย ล่าสุด (10 ธ.ค. 61) National Oil Corp. (NOC) ของลิเบีย ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ยกเลิกการส่งน้ำมันจากแหล่งผลิต El Sharara (กำลังการผลิต 315,000 บาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่บุกยึดแหล่งผลิตน้ำมัน ทั้งนี้ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel (กำลังการผลิต 73,000 บาร์เรลต่อวัน) ได้รับผลกระทบต้องหยุดการผลิตด้วย โดย NOC เผยว่าจะไม่มีการเจรจา และไม่มีการจ่ายเงินให้ผู้บุกรุกและยึดแหล่งผลิตน้ำมันดิบ หากข้อเสนอสุดท้ายในการเจรจาต่อรองโบนัสถูกปฏิเสธ ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 50.0-55.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.5-63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน ต.ค.61 ลดลงจากเดือนก่อน 10.7% และลดลงจากปีก่อน 7.5% อยู่ที่ 800,000 บาร์เรลต่อวัน และ International Enterprise Singapore (IES)รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.88 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม JBC Energy รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นจีน เดือน ธ.ค.61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 700,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะทางการเพิ่มโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 226.3 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.5-65.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคมีปริมาณมาก และมีแรงขายจาก อาทิ บริษัท Formosa ของไต้หวัน ส่งออกน้ำมันดีเซล 0.001% S ปริมาณ 750,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 20-24 ม.ค. 62 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 125.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน อย่างไรก็ตาม METI ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล เดือน ต.ค.61 ลดลงจากเดือนก่อน 20.7% และลดลงจากปีก่อน 8.5% อยู่ที่ 595,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ Reuters คาดการณ์ Arbitrage Diesel จากภูมิภาคตะวันออกกลาง และเอเชีย ไปยังยุโรป ในเดือน ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 15 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 150,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.62 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.5-76.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 12 December 2018 13:32
ธนชาติ ธาระคำ

Author : คอลัมนิสต์

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM