บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรจากประเทศญี่ปุ่นร่วมจัดแสดงและสาธิตการทำงานจริงในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเกษตรแบบแม่นยำสูง และทิศทางของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ไทยแลนด์ 4.0” และงาน “มหกรรมแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร 2017 @ลำตะคอง”
ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
พร้อมร่วมบรรยายเทคโนโลยีการทำเกษตรแม่นยำสูงเพื่อเพิ่มผลผลิต และลดการใช้แรงงานคนด้วยเครื่องจักรขับเคลื่อนอัตโนมัติ และจัดนิทรรศการแสดงผลงานด้านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูงของคูโบต้า
นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยเข้าสู่เกษตร 4.0 กระตุ้นให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำเกษตรกรรม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตนั้น สยามคูโบต้าในฐานะผู้นำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรได้มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลดีต่อทั้งตัวเกษตรกรเองและภาคการเกษตรของประเทศไทยด้วย
“สำหรับการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ สยามคูโบต้าได้มีการนำนวัตกรรมที่น่าสนใจจากคูโบต้าประเทศญี่ปุ่นมาสาธิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น แทรกเตอร์ ขนาด 170 แรงม้า รุ่น M7-171 ที่ติดตั้งระบบควบคุมทิศทางอัตโนมัติด้วย GPS (Auto Steer) ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น โดยผู้ใช้งานจะบังคับเฉพาะเวลากลับตัวรถเท่านั้น ถือเป็นรุ่นที่ครบครันเรื่องเทคโนโลยีของญี่ปุ่น มีการทำงานที่เชื่อมต่อกันระหว่างแทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงด้วย ISOBUS (มาตรฐานสากลของการสื่อสารระหว่างแทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง) โดยผู้ใช้สามารถสั่งงานผ่านหน้าจอได้ทันที เช่น การหว่านปุ๋ย สามารถปรับปริมาณการใส่ปุ๋ยตามความต้องการเฉพาะจุดได้อย่างอัตโนมัติ การพ่นสารโดยกำหนดพื้นที่ทำงานให้ใช้ปริมาณสารอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือการอัดฟางก้อนกลมที่สามารถควบคุมความเร็วของแทรกเตอร์ตามปริมาณฟางได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแทรกเตอร์ขนาด 135 แรงม้า รุ่น M135X ติดตั้งอุปกรณ์ปรับระดับพื้นดินด้วยเลเซอร์ เพื่อปรับระดับหน้าดินให้มีขนาดเท่ากันทั้งแปลง รวมถึง รถดำนานั่งขับ 6 แถว ที่มาพร้อมระบบควบคุมทิศทางตรงอัตโนมัติ นำทางด้วย GPS เช่นเดียวกับแทรกเตอร์รุ่น M7-171 ทำให้ควบคุมทิศทางได้ง่าย ช่วยลดปัญหาการปลูกข้าวไม่ตรงแนว แม้ผู้ใช้งานที่ไม่มีประสบการณ์ก็สามารถฝึกใช้งานได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และยังช่วยลดความตึงเครียดระหว่างการทำงานลงได้อีกด้วย นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น เรายังมีการจัดแสดงข้อมูลและวิดีโอสาธิตการทำงานของเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด นั่นคือ แทรกเตอร์ไร้คนขับ ที่เป็นจักรกลอัจฉริยะ สามารถควบคุมให้ทำงานในแปลงได้โดยโดยไม่ต้องมีผู้ปฏิบัติงานควบคุมอยู่บนตัวรถ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้เริ่มมีการใช้แล้วในประเทศญี่ปุ่น” นายโอภาศ กล่าว