December 22, 2024

เดินหน้า โครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ปี 6 ชูเป้าหมาย “เอามื้อ” ในพื้นที่โครงการตามแนวพระราชดำริฯ ขยายผลจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า ตามศาสตร์พระราชา

เดินทางก้าวสู่ปีที่  6 อย่างต่อเนื่อง กับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ตั้งเป้าจัด 4 กิจกรรมเอามื้อ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการในพระราชดำริฯ มากำหนดพื้นที่เป้าหมาย เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงแสดงความห่วงใยประชาชนต่อปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง พร้อมสานต่อแนวทางศาสตร์พระราชาด้านบริหารจัดการดิน-น้ำ-ป่าอย่างยั่งยืน

ปีนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยังคงขับเคลื่อนตามแนวคิด     “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ด้วยการส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จของผู้นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม พร้อมขยายผลสำเร็จของโครงการฯ จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย สู่การแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “โครงการฯ นี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมของคนที่นำแนวทางศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติ ส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นั่นนับเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ  ส่วนแนวทางการขับเคลื่อน   คือการสร้างและพัฒนาคนให้มีคุณภาพมีองค์ความรู้เป็น      ‘คนมีใจ’ ที่เมื่อรวมตัวกันก็จะเป็น ‘เครือข่ายที่เข้มแข็ง’ นำไปสู่การสร้าง ‘ศูนย์เรียนรู้’ 

เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ สร้างคนมีใจต่อไปไม่สิ้นสุด จนบรรลุผล หยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย ซึ่งโครงการฯ ในปัจจุบันได้ขยายผลออกไปถึง 24 ลุ่มน้ำแล้ว

“ปีนี้เป็นปีสุดท้ายของระยะที่ 2 คือ การขยายผลในระดับทวีคูณ หรือ แตกตัว เพื่อสร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือยกระดับศูนย์เรียนรู้สู่การศึกษาตลอดชีวิต (บ้าน วัด โรงเรียน) โครงการฯ จึงยังคงดำเนินงานต่อเนื่องด้วยแนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ เพื่อชี้ให้เห็นตัวอย่างการ ‘แตกตัว’ ขยายผลจากลุ่มน้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำอื่นๆ โดยนำกลยุทธ์การ ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือ การลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน เพื่อประสานความสามัคคีเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน โดยในปีหน้าที่จะผลักดันให้ไปสู่การขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สู่เป้าหมายการขยายผลจากลุ่มน้ำป่าสักครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วในประเทศไทย” อ.ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และตัวแทนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายภาควิชาการกล่าว

“เชฟรอนให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้ว เนื่องจากตรงกับแนวคิดการทำโครงการเพื่อสังคมของเรา ที่มุ่งเน้นการสร้างคน องค์ความรู้ และจิตสำนึก ส่วนใหญ่จึงทำกันในระยะยาว โครงการนี้ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และสอดคล้องกับนโยบายเพื่อสังคมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ที่ช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นั่นคือการฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า และด้านการส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ซึ่งพนักงานเราได้เข้าร่วมกิจกรรมในทุกๆ ปีเป็นจำนวนหลายร้อยคน เหนือสิ่งอื่นใดคือความมุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานต่อไป” นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แกนนำภาคเอกชน กล่าว

“ตามแนวคิดของปีนี้ โครงการฯ จึงกระจายตัวจัดกิจกรรมใน 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ จันทบุรี สระบุรี และน่าน โดยนำเสนอผ่าน ‘คนต้นแบบ’ ที่ใช้ศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จ เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นต่อๆ ไป” นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โครงการฯ เริ่มกิจกรรมแรกที่ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9 กรุงเทพฯ เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชากลางเมืองหลวง ก่อนเดินทางไปอีก 3 แห่งในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริฯ ได้แก่ จ.สระบุรี ซึ่งอยู่ใน ลุ่มน้ำป่าสัก อันเป็นลุ่มที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใย เพราะมีความลาดชันสูงทำให้จัดการได้ยากที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ถัดมาที่ อ.ท่าใหม่ จ. จันทบุรี   ด้วยแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของสมเด็จ            พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ทรงห่วงใยประชาชนในจันทบุรีจากภัยแล้งและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค และกิจกรรมสุดท้ายที่ จ. น่าน ในลุ่มน้ำน่าน       ด้วยแรงบันดาลใจจากโครงการในพระราชดำริหลายโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องด้วยทรงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ให้คืนสู่สมดุลโดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน

“การออกแบบในแต่ละพื้นที่ต้องคำนึงถึงหลักภูมิสังคม คือ ตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพดิน รวมไปถึงความต้องการ กำลังทุนทรัพย์และกำลังกายของเจ้าของพื้นที่ กิจกรรมแรกที่กรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ กลางเมืองหลวง จึงมีการออกแบบหลักสูตรการอบรมและกิจกรรมให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนเมืองที่มีพื้นที่น้อยและมีเวลาน้อย” ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล.  หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าว

ขณะที่พื้นที่ จ.จันทบุรี เป็นเมืองแห่งผลไม้ที่ต้องต่อสู้อย่างหนักกับเรื่องการใช้สารเคมี และการขาดแคลนน้ำ โครงการฯ จะนำองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ไปเผยแพร่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทั้งผู้ปลูกและผู้กิน พร้อมกับการสร้างหลุมขนมครกเพื่อเก็บกักน้ำ

ถัดมาที่ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มคนเมือง 13 ราย ที่ไปรวมตัวกันสร้างเป็นชุมชนขึ้น การออกแบบจึงไม่ใช่แปลงใครแปลงมัน แต่ออกแบบเป็นภาพรวมของชุมชนกสิกรรมวิถี เป็นตัวอย่างของการเกื้อกูลพึ่งพา และร่วมพัฒนาเกษตรตามศาสตร์พระราชาไปด้วยกัน

พื้นที่สุดท้ายคือ จ.น่าน เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ แนวคิดหลัก คือการสร้าง       หลุมขนมครกบนพื้นที่สูงในพื้นที่จำกัด เพื่อพิสูจน์ให้เห็ว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และเปลี่ยนผู้บุกรุกเป็น  ผู้พิทักษ์ป่า

สำหรับพื้นที่ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9 นายพิเชษฐ  โตนิติวงศ์ ผู้จัดการธรรมธุรกิจ เล่าว่า “หลังจากธุรกิจโรงสีล้มละลาย ก็ได้เข้าร่วมอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และได้พูดคุยกับ อ.ยักษ์(ดร.วิวัฒน์    ศัลยกำธร) และพี่โจน (โจน จันใด) จนเข้าใจในศาสตร์พระราชาที่ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตร แต่เป็นแนวทางการใช้ชีวิต จึงจัดตั้งโครงการ ‘ฐานธรรมธุรกิจ’ เพื่อเป็นตลาดกลางกระจายสินค้าของเครือข่ายทั่วประเทศ ในราคาเป็นธรรมต่อผู้ซื้อและผู้ผลิต เดิมเราหมุนเวียนจัดทำตลาดนัดธรรมชาติไปในที่ต่างๆ จนได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จากเจ้าของโรงเรียนชาญวิทย์เก่าจึงได้ปักหลักที่เดียว นอกจากนั้น เรายังจัดเวิร์คช้อปต่างๆ ให้คนได้เรียนรู้จากการลงมือทำ   ซึ่งต่อไปวางแผนว่าจะทำร้านอาหารเพื่อแปรรูปผลผลิตจากเครือข่ายที่เหลือจากการขาย ตอบโจทย์คนเมืองที่ไม่ค่อยทำกับข้าวกินเอง เน้นเรื่องอาหารและสุขภาพเป็นหลัก กิจกรรมในวันนี้  จึงเกี่ยวกับการย่ำก้อนดิน เพื่อสร้างบ้านดินสำหรับร้านอาหารแปรรูป สอนเพาะเมล็ดพันธุ์กล้าไม้และทำแปลงผักในภาชนะต่างๆ แบบคนเมือง และเรียนรู้การปรุงดิน ทำปุ๋ย และสร้างโมเดล โคก หนอง นา ขนาดเล็กในพื้นที่ให้เป็นตัวอย่างสำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัด ในอนาคต ก็การวางแผนจะขยายงานไปที่เชียงใหม่ และบ้านศรีฐาน ยโสธรด้วย”

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 23 October 2018 13:08
ปรียานุช ทองไธสง

Author : เกาะติดข่าวการเงิน การธนาคาร หนี้ กองทุน พันธบัตร ตราสาร ทองคำ การประกันชวิต การประกันภัย การลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย ภาษี การบริหารการเงินและการลงทุน ฯลฯ

Related items

MNr-วิถีพอเพียง-Sidebar1
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM