IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
สืบเนื่องจากตลาดระบบนำทางในยานยนต์ที่มาถึงจุดอิ่มตัว และคาดการณ์ว่าจะไม่มีการเติบโตของยอดขายอย่างก้าวกระโดดอีกต่อไป ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตเริ่มเบนเข็มไปยังการพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) และ Connected Car มาแทนที่
Pioneer ปรับโครงสร้าง สู้การชะลอตัว
ปัจจุบัน Pioneer ประสบปัญหารายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลกำไรจากการผลิตระบบนำทางในยานยนต์แบบ OEM ให้กับผู้ผลิตยานยนต์ในไตรมาสแรกปี 2018 ที่ย่ำแย่ลงอย่างมาก ส่งผลให้บริษัทขาดทุนติดกันเป็นปีที่ 2
ด้วยเหตุนี้เอง Pioneer จึงทำการปรับโครงสร้างบริหารใหม่ในเดือนมิถุนายน ภายใต้การนำของประธาน Koichi Moriya ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณายุติธุรกิจการผลิตแบบ OEM ให้แก่บริษัทอื่น ซึ่งจะทำการประกาศแนวทางใหม่เร็ว ๆ นี้ ซึ่งในการประชุมสรุปผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ได้ข้อสรุปว่า การปรับผังธุรกิจของ Pioneer เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว
อีกสาเหตุที่ทำให้ผลกำไรของ Pioneer ลดลง เกิดจากการบานปลายของงบประมาณการพัฒนาระบบนำทางยานยนต์ ซึ่งเริ่มผลิตจำนวนมากเมื่อไตรมาสแรกปี 2017 ในช่วงแรกนั้น ระบบไม่ได้ถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันในการทำงานร่วมกับ Connected Car อย่างไรก็ตาม ลูกค้าได้ระบุความต้องการข้อนี้เพิ่มเข้ามาระหว่างการพัฒนา ซึ่งประธาน Moriya ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “ทำให้เราต้องใช้งบประมาณมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ในช่วง 5 ปีมานี้ ผู้ผลิตยานยนต์ต่างใช้เทคโนโลยี Connected Car เป็นกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยานยนต์ของค่ายตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Pioneer คาดการณ์เอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทกลับไม่สามารถเตรียมโครงการธุรกิจสำหรับรองรับไม่ทันกับความก้าวหน้าในเชิง IT ของยานยนต์ ส่งผลให้สถานการณ์ของบริษัทยิ่งย่ำแย่ลงมากกว่าเดิม
Calsonic Kansei อีกบริษัทในฐานะ OEM ที่ต้องกล่าวถึง
ในปี 2017 Calsonic Kansei ซึ่งแต่เดิมอยู่ในเครือ Nissan Automotive ได้ย้ายไปอยู่ในเครือของ Kohlberg Kravis Roberts (KKR) แทนที่
Calsonic Kansei แสดงความต้องการพัฒนาธุรกิจของตนไปในทิศทางใหม่ ด้วยการมองไปยังช่องทางการค้าขายอื่นนอกเหนือจาก Nissan Automotive และโฟกัสการพัฒนาระบบห้องขับแห่งอนาคตเพิ่ม ซึ่ง Calsonic Kansei ได้แสดงความเห็นว่า คอนเน็กชันและเทคโนโลยีที่ Pioneer มีอยู่ในขณะนี้ คือสิ่งที่จะกลายเป็นจุดแข็งได้
ผู้ผลิตระบบนำทางยานยนต์รายอื่น
สถานการณ์ในปัจจุบันของ Pioneer เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว สืบเนื่องจากความต้องการระบบนำทางยานยนต์ที่ลดลงจากความแพร่หลายของสมาร์ทโฟนที่มากขึ้น และคลื่นลูกใหม่อย่างเทคโนโลยี CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) ที่กำลังมาแรง ทำให้ผู้ผลิตระบบนำทางยานยนต์มองว่า จำเป็นต้องหาช่องทางธุรกิจใหม่ จึงจะสามารถเอาตัวรอดในตลาดได้
โดยบริษัทที่เริ่มเคลื่อนไหวแล้ว เช่น Alps Electric บริษัทในเครือ Alpine Electronics ซึ่งตัดสินใจดำเนินการรวมธุรกิจในเดือนมกราคมปี 2019 เพื่อเสริมศักยภาพในการพัฒนาและจัดหา เพื่อให้บริษัทสามารถทำกำไรในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มากขึ้น
รายถัดมาคือ Clarion ซึ่งได้ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ด้วยการมอบงานส่วนของการพัฒนาฟังก์ชันระบบนำทางไปไว้ที่จีนแทนญี่ปุ่น รวมถึงการลดจำนวนและโยกย้ายพนักงานใหม่
นอกจากผู้ผลิตระบบนำทางยานยนต์โดยตรงแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวอื่นที่น่าสนใจคือ Samsung Electronics ซึ่งได้เข้าซื้อกิจการของ Harman International Industries เพื่อรุกตลาดอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และ Denso ที่เปลี่ยน Denso Ten ให้กลายเป็นบริษัทลูก และอยู่ระหว่างการพิจารณาความร่วมมือในธุรกิจระบบนำทางรถยนต์, กล่อง ECU (Electronic Control Unit), และ Millimeter Wave Radar
ส่วนทางด้าน Toyota Group นั้น มีแนวโน้มว่า AISIN AW ซึ่งรับผิดชอบส่วนธุรกิจระบบนำทางยานยนต์อาจเกิดการปรับโครงสร้างในอนาคตก็เป็นได้
ในทางตรงกันข้าม การปรับโครงสร้างธุรกิจ OEM ของ Pioneer อาจส่งผลกระทบต่อ Mitsubishi Electric ซึ่งร่วมมือกับ Pioneer มาตั้งแต่ช่วงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดก็เป็นได้
ปรับตัวสู่ยุคใหม่ ด้วยระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) และ Connected Car
หลายบริษัท เล็งเห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติ, Connected Car, และเทคโนโลยีอื่น ๆ สำหรับยานยนต์ในยุคถัดไป ซึ่งกำลังได้รับความสนใจ และมีเม็ดเงินหมุนเวียนสูงในขณะนี้ คือช่องทางในการทำรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต
Pioneer ได้พิจารณาธุรกิจเซ็นเซอร์ยานยนต์ของตนใหม่ มุ่งสร้างความแตกต่างระหว่างตนและบริษัทอื่นในท้องตลาดด้วย “3D LiDAR” เรดาร์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยละเอียดด้วยเลเซอร์ มีขนาดราวฝ่ามือ และมีราคาเพียงประมาณ 10,000 เยน ซึ่งในปี 2017 Pioneer ได้ร่วมทุนกับ HERE Technologies บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เพื่อจัดทำแผนที่ความละเอียดสูงสำหรับยานยนต์ เสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการขับขี่ให้สะดวกขึ้น
Clarion เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยีประมวลภาพประสิทธิภาพสูง สำหรับวิเคราะห์ภาพจากกล้องติดตั้งยานยนต์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้ในกล่อง ECU ของ Nissan Leaf เมื่อไม่นานมานี้ และตั้งเป้ากระชับความสัมพันธ์ระหว่างตนกับ Hitachi Automotive Systems เพื่อพัฒนา “Remote Parking System” ระบบควบคุมรถให้เข้าจอดให้สามารถใช้งานจริงได้
จะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตระบบนำทางยานยนต์แต่ละราย ต่างมีเทคโนโลยีอันเป็นจุดแข็งซึ่งสามารถนำมาต่อยอดสู่ระบบขับขี่อัตโนมัติ และ Connected Car ได้ เช่น ซอฟต์แวร์, อิเล็กทรอนิกส์, ระบบประมวลผลภาพและเสียง และอื่น ๆ เนื่องจากไม่ว่ายานยนต์จะพัฒนาไปเพียงใด อินเตอร์เฟซสำหรับผู้ขับขี่ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และอาจจะพัฒนาจากห้องขับขี่ ไปเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สะดวกสบายในอนาคตก็เป็นได้
Mr. Masao Nomura ผู้อำนวยการ JVC Kenwood Holdings กล่าวแสดงความเห็นว่า “ผู้ผลิตยานยนต์ จะถามหาเทคโนโลยีที่ดึงดูดมากยิ่งขึ้น” ซึ่ง JVC Kenwood กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี HUD ที่สามารถแสดงข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้ขับใช้งานได้โดยง่าย โดยอาศัยจุดแข็งของบริษัทดีไซน์ในเครือซึ่งมีพนักงานกว่า 100 คน ทำให้อนาคตของผู้ผลิตระบบอัตโนมัติขึ้นอยู่กับว่า จะสามารถนำเทคโนโลยีที่ตนมี มาเร่งพัฒนาต่อยอด เพื่อดึงดูดผู้พัฒนายานยนต์ได้หรือไม่นั่นเอง
ที่มา : mreport