December 18, 2024

ILINK ไตรมาส 2 กำไรโตสวนกระแส ลุยแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ปั้นธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ

ILINK มั่นใจรายได้ปี 2563 โตต่อเนื่อง หลังตัวเลขไตรมาส 2/63 กำไรทะลัก 2 เท่า โต 101% วางเป้าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2563-2567) ดันธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ, ธุรกิจโทรคมนาคม พร้อมลุยธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ โดย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เล็งกลุ่มเทคโนโลยีวิศวกรรม

นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและ ผู้นำเข้าและค้าส่ง อุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ (Networking) เปิดเผยว่า “ผลประกอบการไตรมาส 2/63 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีรายได้รวมจำนวน 1,263.80 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 2.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 1,290.41 ล้านบาท

ในขณะที่กำไรสุทธิจากการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีจำนวน 92.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีกำไร 45.65 ล้านบาท

มั่นใจรายได้ปีนี้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2563-2567) ที่วางไว้ โดยเป้าหมายทั้งปี 2563 อยู่ที่ 5,950 ล้านบาท หลังมุ่งเน้นการทำกำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทฯ พร้อมควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ลดลง และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความผันผวนและท้าทาย อีกทั้งยังคงสามารถเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด

ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ มีรายได้ลดลงเล็กน้อย จึงออกแคมเปญ “คุณสั่ง เราส่ง” เพื่อกระตุ้นยอดขาย

สำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) ไตรมาส 2/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 451.76 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเพียง 0.15% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ดีลเลอร์และผู้รับเหมา ชะลอการสั่งซื้อสินค้าไปบ้าง บริษัทฯ จึงออกแคมเปญ “คุณสั่ง เราส่ง” กระตุ้นยอดขาย ส่งสินค้าตรงถึงมือผู้ใช้งาน (End User) ของลูกค้าทุกราย สร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทฯ ยังเดินหน้ารุกตลาดสินค้ากลุ่มอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ (Networking) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทฯ เพื่อมุ่งตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ายุค New Normal และรองรับเทคโนโลยี 5G โดยยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้เติบโตขึ้น 31% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว สินค้าที่น่าจับตามอง คือ อุปกรณ์สวิตช์ ซึ่งสามารถทำรายได้สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วถึง 115% ในขณะเดียวกันธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการกระชับต้นทุนสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีและมีต้นทุนขายลดลง 0.27% ทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาสมดุลยอดขายและกำไรของธุรกิจจัดจำหน่ายไว้ได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในสถานการณ์ปกติ และมั่นใจว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็จะสามารถรุกต่อไปได้ทันที

“ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้นำจุดแข็งของการที่บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปต่อยอด โดยได้ก่อตั้งบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ซึ่งเป็นบริษัทลูก ด้วยการนำสายสัญญาณที่จำหน่ายไปก่อสร้างเป็นโครงข่ายใยแก้วนำแสง เพื่อให้บริการธุรกิจด้านโทรคมนาคมและได้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคมกับ กสทช. โดยสร้างโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงไปทั่วประเทศไทยและเปิดให้บริการเชื่อมโยงข้อมูล (Data Service) และสร้างศูนย์เก็บข้อมูล (Data Center) เพื่อให้บริการลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าที่มีสาขา โดยเน้นการให้บริการที่ดีกว่าและรับประกัน SLA99.99% (Service Level Agreement)” นายสมบัติกล่าว

นายณัฐนัย อนันตรัมพร (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด(มหาชน) หรือ ITEL ผู้ให้บริการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม และนายประสิทธิชัย วีระยุทธวิไล (ซ้ายสุด) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจวิศวกรรมและโครงการพิเศษ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ (ที่ 3 จากขวา) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในงานแถลงข่าวเยี่ยมชมศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ หรือเน็ตประชารัฐ(USO NET)

สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) ไตรมาส 2/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 438.89 ล้านบาท โดยมีรายได้หลักจากการให้บริการและติดตั้งโครงข่าย และการให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธินั้น มีผลมาจากการทยอยรับรู้รายได้การให้บริการโครงข่ายของโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (USO Phase 1 และ Phase 2) อีกทั้งบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการกระชับต้นทุนการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการลดลง 30.94% และปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างรอผลประกวดราคางานโครงการติดตั้งสายใยแก้วนำแสงให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 240 ล้านบาท และเตรียมเข้าเสนองานด้านโซลูชั่นให้บริการการศึกษาผ่านทางไกลเพื่อรองรับเทรนด์การเรียนการสอนออนไลน์ โดยจะอาศัยศูนย์บริการ USONET ของบริษัทฯ ที่อยู่ตามพื้นที่ห่างไกลและมีระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้พร้อมรองรับนักเรียนที่จะมาใช้บริการ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ILINK จัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) มูลค่า 2,100 ล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ในการจัดหาระบบรถไฟฟ้ารุ่น Airval สำหรับใช้เชื่อมต่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคารเทียบเครื่องบินรอง โดยขบวนแรกถูกจัดส่งมาถึงประเทศไทยแล้ว

สำหรับธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ (Engineering) ไตรมาส 2/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 345.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.53% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 243.79 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นของรายได้มีผลมาจากการรับรู้รายได้ของงานโครงการ ได้แก่ 

  • โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่บริษัทฯ ได้ส่งมอบรถไฟฟ้าไร้คนขับขบวนแรก (จำนวน 2 โบกี้) ให้กับ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา และคาดจะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้าครบทั้ง 6 ขบวน ภายในสิ้นปี 2563 นี้
  • โครงการก่อสร้างสายส่งเคเบิลใต้ดิน ระบบ 115 เควี มูลค่า 187.5 ล้านบาท ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 2 จำนวน 4 วงจร และงานก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า 22 เควี ช่วงลอดใต้แม่น้ำปิง บริเวณสะพานป่าตัน จังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปีนี้
  • โครงการงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอวชิรบารมี มูลค่างานรวม 282 ล้านบาท ซึ่งสามารถดำเนินงานไปตามแผนงานที่วางไว้ ประกอบกับภาครัฐเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายๆ หน่วยงานภาครัฐเริ่มกลับมาดำเนินโครงการที่ชะลอไว้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี การลงทุนของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงนี้ หากมีโครงการขนาดใหญ่ บริษัทฯ พร้อมเข้าประมูลทันที

นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลงนามร่วมกับ นายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  โครงการจ้างก่อสร้างสายส่งระบบ  115  เควี สถานีไฟฟ้าปัว-สถานีไฟฟ้าทุ่งช้าง จังหวัดน่าน มูลค่างาน 122,100,000 บาท โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานได้ภายใน 360 วัน นับจากวันลงนามในสัญญาณวันนี้ ( 2 กันยายน 2563) ณ.โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ ของบริษัทลูก บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (Interlink Power & Engineering Co., Ltd.) กลุ่มธุรกิจ ILINK กำลังปั้นให้เติบโต เป็นการเพิ่มไลน์ธุรกิจให้สร้างรายได้อีกทาง เพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจเดิม และสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม ILINK มากขึ้น ซึ่งบริษัทตั้งเป้ารับงานด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีและอินโนเวชั่นเป็นหลัก โดย ธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ นี้ถือกำเนิดมาจากธุรกิจวิศวกรรมของกลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยอุดมการณ์ในการที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย ทำให้กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับงานด้านวิศวกรรม โดยได้ลงทุนทั้งบุคลากรด้านวิศวกรรม และเครื่องมือ เครื่องทดลอง ตลอดจนมีการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีผลงานระดับโลก ทำให้ในปัจจุบันธุรกิจวิศวกรรมโครงการภายใต้การนำของบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ก่อสร้างงานโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากมาย



รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
เพิ่มเพื่อน

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Tuesday, 15 November 2022 07:13
อดิพันธ์ อภิชาติทนงกุล

Author : เกาะติดข่าวในอุตสาหกรรมยานยนต์ Automotive อากาศยาน อิเล็กทรอนิกส์ แม่พิมพ์ เครื่องจักร การแปรรูปโลหะ วิศวกรรม เครื่องมือแพทย์ และหุ่นยนต์

รวมถึงเทคโนโลยีในด้านนั้นๆ

Latest from อดิพันธ์ อภิชาติทนงกุล

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM