December 03, 2024

ททท. ปั้นมหาโปรอะเมสซิ่งดึงไทยเที่ยวไทย วางเที่ยวเชิงสุขภาพดึงต่างชาติหลังโควิดคลี่คลาย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เร่งกระตุ้นตลาดในประเทศ กระจายวันเดินทาง-จุดหมาย เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัว รับตลาดต่างประเทศยังผันผวนสูง เร่งออกแคมเปญใหม่ๆ ตั้งเป้าไทยติดอันดับประเทศ 1 ใน 5 ของโลก ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวโลก คาดรายได้รวมปี 2564 แตะ 1.5 ล้านล้าน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.วางแผนปฏิบัติการส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำปี 2564 โดยมุ่งเป้ารักษาเชิงการแข่งขันให้ไทยยังสามารถครองอันดับประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 1 ใน 5 ของโลกให้ได้ พร้อมสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 7 แสนล้านบาท - 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ตลาดในประเทศราว 4-5 แสนล้านบาท และรายได้จากตลาดต่างประเทศราว 3 แสนล้าน - 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของตลาดในประเทศนั้นจะมุ่งกระตุ้นการเดินทางอย่างต่อเนื่อง

โดยได้กำหนดเป้าหมายของปี 2564 จากการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ คือ การฟื้นตัวปลายปี 2564 ภายใต้สมมติฐานหลักคือ ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • กรณีที่ 1.ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 66.03 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 26.8% และมีรายได้การท่องเที่ยว 3.79 แสนล้านบาท หดตัว 24%
  • กรณีที่ 2.ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เฉพาะบางจังหวัด คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 76.18 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 15.5% และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 4.58 แสนล้านบาท หดตัว 8.3%

ส่วนปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน สร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 170 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้รายได้ 1.2 ล้านล้านบาท จะทำให้รายได้รวม 2.5 ล้านล้านบาท ยอดใช้จ่ายต่อคนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 6.2 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป หรือคิดเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.7 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป ส่วนยอดใช้จ่ายสำหรับการในประเทศ เพิ่มเป็น 5 พันบาทต่อคนต่อทริป จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.7 พันบาทต่อคนต่อทริป สำหรับอนาคตภาคการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 เชื่อมั่นว่าจะกลับมา เหมือนนกฟีนิกซ์ ที่ฟื้นจากที่สลบไป ไม่ใช่ฟื้นจากความตาย และจะกลายเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นอมตะ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 2564 ผ่านการปรับตัวเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 ต่อไป

นายยุทธศักดิ์ กล่าวอีกว่า “ในขณะนี้ วัคซีนโควิด-19 เริ่มทยอยแจกจ่ายให้ประชากรในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย ทำให้ภาพการกลับมาของนักท่องเที่ยวเริ่มชัดเจนขึ้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้เตรียมแผนกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยการเสนอขายสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบ New Normal"

 เกิดเป็นโครงการ "มหาโปรเที่ยวไทย อะเมสซิ่ง ยิ่งกว่าเดิม" ภายใต้แนวคิด "เที่ยวเมืองไทย อะเมสซิ่ง ยิ่งกว่าเดิม" โดยร่วมกับพันธมิตร และผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) กว่า 100 ราย

"ในการร่วมมือกันจัดกิจกรรมการตลาดออนไลน์ กระตุ้นความถี่ในการเดินทางภายในประเทศ โดยรวบรวมส่วนลดมากมายไว้ในเว็บไซต์ เที่ยวไทยอะเมสซิ่งยิ่งกว่าเดิม โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใช้จ่ายกับกิจกรรมท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การเที่ยวเมืองไทยนั้น อะเมสซิ่ง ยิ่งกว่าเดิม"

โดยโปรเจคนี้ ได้รับความร่วมมือจาก 13 พันธมิตรสุดแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยราคาพิเศษจากสายการบิน ไทยไลอ้อนแอร์ รถเช่าเอวิส ไทยแลนด์ และนครชัยแอร์ บางจาก คอร์ปอเรชั่น มอบส่วนลดน้ำมันเครื่อง กิจกรรมท่องเที่ยวสุดเอ็กคลูซีฟในราคาสบายกระเป๋าจากเรือเจ้าพระยา ปริ้นเซส ทริปสุดประทับใจจากเลิฟ อันดามัน ทัวร์ราคาดี จาก ยูนิไทย ทราแวล รวมถึงที่พักราคาโดนใจ ที่ยกขบวนกันมาจากเครือโรงแรม บีทู เครือโรงแรม กะตะ กรุ๊ป เครือโรงแรม ดุสิตธานี เครือโรงแรม ยูโฮเทล แอน รีสอร์ต และเครือโรงแรม เอ็ม บี เค กรุ๊ป และสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าธนาคารกรุงเทพสามารถใช้บัตรเครดิตร่วมกับทุกพันธมิตรได้

ทั้งนี้ในส่วนของโปรโมชั่นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.) “555 มหาโปร” ฮอตดีลสุดพิเศษมีให้ชอปทุกวันที่ 5 เริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน – สิงหาคม 2564 และ 2.) “โปร ปัง เปย์” ส่วนลดพร้อมเสิร์ฟ ทุกเดือน ให้นักท่องเที่ยวได้วางแผนการเดินทางในราคาสบายกระเป๋า ชอปได้ตั้งแต่วันนี้ - กันยายน 2564 จองได้ทาง Website : เที่ยวไทยอะเมสซิ่งยิ่งกว่าเดิม ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม Facebook Page : มหาโปรเที่ยวไทยอะเมสซิ่งยิ่งกว่าเดิม

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้วางแผนเชิงรุกเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เตรียมความพร้อมให้เต็มที่ก่อนการเปิดประเทศ เร่งพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย เพื่อจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อออนไลน์และ ททท. สำนักงานต่างประเทศ ทั้ง 29 แห่ง โปรโมตประเทศไทยในฐานะเดสทิเนชั่นของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก

ด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับกับการเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจมารับบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ททท. ได้ดำเนินการสร้างสรรค์ข้อมูลสินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อเตรียมเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และ ททท. สำนักงานต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของ Medical Tourist ที่จะใช้ข้อมูลบนสื่อออนไลน์เป็นหลักในการตัดสินใจเดินทางไปใช้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในต่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าในขณะนี้ ประเทศคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ต่างประชาสัมพันธ์นำเสนอสินค้าท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบนสื่อออนไลน์ แม้จะยังมีข้อจำกัดในการเดินทางจากสถานการณ์โควิดก็ตาม

ทั้งนี้ ททท. ได้วางแผนแบ่งสินค้าและบริการของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนี้

  • สินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ Wellness Tourism
  • สินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/ การรักษา Medical Tourism
  • สินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุ
  • สินค้าและบริการท่องเที่ยวกัญชาเชิงสุขภาพ และกัญชาทางการแพทย์
  • สินค้าและบริการรทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เป็นนวัตกรรมใหม่ New Normal (Tele medicine)
  • สินค้าและบริการท่องเที่ยวทางการแพทย์ Alternative-state quarantine, โรงพยาบาลและแล็บตรวจ COVID-19

อนึ่ง ททท. ขอเชิญผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น สถานประกอบการเชิงการแพทย์/การรักษา สถานประกอบการเชิงสุขภาพและความงาม สถานประกอบการเชิงสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนวัตกรรมใหม่ New Normal สถานประกอบการกัญชาเชิงสุขภาพและกัญชาทางการแพทย์ สถานประกอบการ Alternative-state quarantine โรงพยาบาล และแล็บตรวจ COVID-19 ที่มีความพร้อมและสนใจเข้าร่วมส่งเสริมตลาดต่างประเทศ ร่วมลงทะเบียน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อ Line official: @healthcaredata-tat เพื่อดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลสินค้าบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และมีศักยภาพพร้อมเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป

นอกจากนี้ ททท.จะปรับปรุงมาตรการนี้ให้ภาคธุรกิจและเอกชนรายใหญ่เข้าร่วมใช้สิทธิ์ด้วย รวมถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเข้าร่วมโครงการ เช่น การอบรมสัมมนาของบริษัทให้มาร่วมมาตรการนี้เพื่อให้เกิดการเดินมากขึ้น ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้นักเดินทางต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามวิถีใหม่ หรือ New Normal โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ททท.ได้กำหนดตราสัญลักษณ์ความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวยุคปกติใหม่ คือ 'SHA' หรือ 'Amazing Thailand Safety & Health Administration' มีชื่อเต็มในภาษาไทยว่า 'โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย' ซึ่ง ททท. จะเป็นผู้ควบคุมการออกตราและ/หรือเพิกถอนตราสัญลักษณ์ในกรณีผู้ประกอบการไม่สามารถรักษามาตรฐานให้เป็นไปตามมาตรฐาน SHA ใว้ได้ เริ่มใช้และควบคุมตรวจสอบตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการประเทศไทย

อนึ่ง ผลสำรวจหัวข้ออนาคตการท่องเที่ยว โดยศูนย์วิจัยด้านการตลาด Ipsos ได้สำรวจความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยวกว่า 11,000 คน จาก 11 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย พบว่าคนไทยกว่า 85% มีแผนเดินทางท่องเที่ยวภายในปีนี้ และกว่า 84% อยากท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญของการท่องเที่ยวตามวิถีใหม่ในปัจจุบัน คือ การมีรถยนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้ทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและการออกเดินทางไปท่องเที่ยวกับครอบครัว



รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
เพิ่มเพื่อน

 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 21 April 2021 03:33
อมรรัตน์ รุ่งเรืองธนกิจสกุล

Author : เกาะติดข่าวท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร การกินการอยู่ ไลฟ์สไตล์ กอล์ฟและกีฬาอื่นๆ โยคะ การพักผ่อน การพักร้อน ข่าวสายการบิน ข่าวต่างประเทศ รวมไปถึงข่าวเอนเตอร์เทน ฯลฯ

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM