January 19, 2025

หมอมะเร็งร้องขอเบิกตรง OCPA เพื่อโปร่งใส ให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา

หมอมะเร็งร้องขอกรมบัญชีกลางเปิดเผยหลักเกณฑ์การอนุมัติเบิกตรง OCPA เพื่อความโปร่งใส ให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาและยาได้อย่างเหมาะสม

แพทย์มะเร็งและสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการขานรับประกาศเพิ่มเติมยามะเร็งเข้าบัญชี OCPA ล่าสุดอีก 3 รายการ เดินหน้าร้องขอกรมบัญชีกลางแสดงความโปร่งใส เปิดเผยขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติยาในบัญชี OCPA เพราะการขออนุมัติใช้ยานอกบัญชี OCPA เป็นอุปสรรคต่อการให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเสนอให้พิจารณาเพิ่มรายการยาที่ตอนนี้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายตรงได้ ให้สามารถเบิกจ่ายตรงได้ รวมทั้งเพิ่มข้อบ่งชี้การใช้ยาที่มีอยู่ในบัญชียา OCPA ให้ครอบคลุมการรักษาที่กว้างขึ้น 

เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตจากโรคมะเร็งบางชนิดได้ถึงเท่าตัวเมื่อเทียบกับการรักษาเดิม

ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นับเป็นข่าวดีที่กรมบัญชีกลางได้มีการพิจารณาเพิ่มรายการยาพร้อมข้อบ่งใช้เข้าสู่บัญชียาใน OCPA ซึ่งดีในแง่ของการควบคุมการใช้ให้สมเหตุสมผล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยาใหม่ๆ หลายตัวมีข้อบ่งชี้ที่พิสูจน์แล้วว่า สามารถใช้ได้ในโรคมะเร็งหลายชนิด แต่หากยาชนิดนั้นถูกจัดให้อยู่ใน OCPA ตามข้อบ่งชี้ใดแล้ว จะไม่สามารถนำไปใช้ในโรคมะเร็งชนิดอื่นได้ แม้จะเป็นการรักษาตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ก็ตาม ทั้งนี้ แม้ว่ากรมบัญชีกลางได้เปิดโอกาสให้สถานพยาบาลสามารถขออนุมัติใช้ยาตามดุลพินิจของแพทย์เป็นรายๆ ไป แต่ในทางปฏิบัติ ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนในเรื่องของรูปแบบหนังสือขออนุมัติหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงยานวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 ก็จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในทุกกรณี

“การกำหนดข้อบ่งชี้ของยาบางตัวก็ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของคนไข้เป็นหลัก และไม่เป็นไปตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทั่วโลกยอมรับ เนื่องจากเป็นการกำหนดการใช้ยาตามขั้นตอน แพทย์ไม่สามารถเลือกใช้ยาที่ให้ผลการรักษาสูงสุด หรือตอบสนองต่อคนไข้ดีที่สุดตั้งแต่ในขั้นตอนแรกๆ เพราะยานั้นๆ ได้ถูกกำหนดไว้ในช่วงท้ายๆ ของการรักษา ทำให้คนไข้ได้รับประโยชน์น้อย โรคมีโอกาสลุกลามมาก จนคนไข้อาจไม่มีโอกาสได้ใช้ยาดีที่ถูกกำหนดไว้ในสูตรต่อเนื่องเลย” ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าวและเสริมว่า “เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากลุ่มนวัตกรรมได้ตามความเหมาะสมในการรักษา จึงขอเสนอให้กรมบัญชีกลางพิจารณาปรับปรุงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเข้าถึงยานวัตกรรม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตลอดจนเปิดเผยรายชื่อคณะทำงานที่ทำหน้าที่พิจารณายาเพื่อเข้าบัญชี OCPA ซึ่งนอกจากควรประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรคมะเร็งแล้ว ยังควรมีตัวแทนจากหน่วยงาน สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เพื่อการพิจารณาที่ครอบคลุมทุกมิติ และสร้างเชื่อมั่นของคณะทำงานต่อสาธารณชน


 
ศ.ดร.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ สาขาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวให้ความเห็นว่า โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยากว่า 70% ต้องใช้การรักษาด้วยยาหลายชนิดพร้อมกัน ซึ่งช่วยผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคได้แม้โรคมะเร็งจะลุกลามไปทั่วร่างกายแล้ว ผู้ป่วยหลายรายจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่จำเป็นต้องใช้ยานวัตกรรมราคาสูงร่วมด้วย เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น แต่หลายครั้ง ยาที่เหมาะสมกลับไม่ได้รับการอนุมัติทั้งที่เป็นยาในบัญชี OCPA เพราะมีการจำกัดข้อบ่งชี้ในการใช้อย่างเคร่งครัดตรงตามตัวอักษรเท่านั้น จึงไม่สามารถใช้ยากับผู้ป่วยบางรายหากผิดจากข้อบ่งชี้ที่เขียนไว้แม้เพียงเล็กน้อย แม้ว่าการใช้ยานั้นจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยก็ตาม  รวมทั้งการยื่นขอใช้ยานอกบัญชีที่แม้กรมบัญชีกลางจะเปิดกว้างให้สถานพยาบาลสามารถยื่นขออนุมัติใช้ยาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่สามารถสำรองเงินออกไปก่อนได้ ก็อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติ หรือใช้เวลานานกว่าจะรู้ผลว่าอนุมัติหรือไม่ ทำให้คนไข้เสียโอกาสในการรักษาด้วยยาที่เหมาะสม
 
“วงการแพทย์ตระหนักว่า ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็ง ได้พัฒนาไปสู่การรักษาแบบจำเพาะบุคคลมากขึ้น เพราะผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ตรงจุดและเห็นผลเร็วขึ้น การรักษาด้วยยานวัตกรรมเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีกว่า และส่งผลข้างเคียงน้อยกว่า เพราะเป็นยาที่ทำลายมะเร็งโดยตรงและไม่ทำลายเซลล์ปกติ นอกจากนี้ การใช้ยานวัตกรรมในมะเร็งบางชนิดยังสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อีกเท่าตัวเมื่อเทียบกับการรักษาแบบเดิม และอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว ซึ่งถ้าการขออนุมัติมีกรอบเวลาขั้นตอนการพิจารณาที่ชัดเจน ก็จะช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที” ศ.ดร.นพ.พลภัทร กล่าว

ด้านพลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากการติดตามผลประกาศจากกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการแก้ไขการเบิกค่าใช้จ่ายตรงในการรักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยข้าราชการ กรณีให้สถานพยาบาล ขออนุมัติเป็นแต่ละกรณีไป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมานั้น พบว่า นโยบายที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ ทำให้การขออนุมัติเป็นกรณีแทบจะไม่เกิดขึ้น และระหว่างรอผลอนุมัติ ก็ไม่มีความชัดเจนว่า กรมบัญชีกลางจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาและตอบกลับนานเท่าใด ทำให้มีการชะลอการรักษาผู้ป่วยจนกว่าโรงพยาบาลจะมั่นใจว่าได้รับการอนุมัติค่ารักษาพยาบาล ผู้ป่วยจึงต้องรอนานหรืออาจไม่ได้รับยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา ทำให้เสียโอกาสที่จะมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความเสี่ยงที่โรคจะลุกลามจนรักษาได้ยากขึ้น สมาคมฯ จึงอยากขอให้กรมบัญชีกลางพิจารณาให้ยาที่ไม่สามารถเบิกจ่ายตรงได้ สามารถเบิกได้ และกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และแพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกี่ยวกับสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ
สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ (Official Rights Watch Association - ORWA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2555 ในชื่อชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ โดยพลตรีหญิง พูลศรี เปาวรัตน์ (ซึ่งภายหลังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ) ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการในปี 2557 โดยความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสิทธิของข้าราชการเมื่อเริ่มต้นเข้ารับราชการโดยตรง พันธกิจหลักของสมาคมฯ คือ ● ดูแลรักษาสิทธิและประโยชน์ของข้าราชการที่พึงมีพึงได้ ให้เป็นไปตามพันธะสัญญาการเข้ารับราชการ ● เป็นองค์กรตัวแทนในการชี้แจง ให้ข้อแนะนำ หารือ และร้องเรียน เพื่อรักษาความเป็นธรรมตามสิทธิสวัสดิการของผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการข้าราชการ ●  และเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการต่างๆ รวมถึงข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกของสมาคมฯ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและความเคลื่อนไหวของสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการได้ที่ www.facebook.com/ORWApage


 
เกี่ยวกับโครงการจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา (Oncology Prior-authorization System: OCPA)
โครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา (OCPA) เริ่มประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นสวัสดิการสำหรับข้าราชการทั่วประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยที่มีสิทธิตามโครงการ OCPA แพทย์ผู้รักษาและสถานพยาบาลจะต้องใช้ยาตามกลุ่มโรคและเงื่อนไข (ข้อบ่งใช้) ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ไม่สามารถใช้ยาในบัญชี OCPA สำหรับการรักษานอกกลุ่มโรคมะเร็งที่ระบุ หรือไม่สามารถใช้ยาอื่น ซึ่งไม่อยู่ในรายการของ OCPA มาเป็นทางเลือกในการรักษากลุ่มโรคที่ระบุใน OCPA ได้ ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของระบบ OCPA ที่ยังคงเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน  แม้ว่าเมื่อปลายปี 2561 จะมีการผ่อนปรนให้สถานพยาบาลสามารถทำเรื่องขออนุมัติการใช้ยานอกบัญชี OCPA เป็นรายกรณีก็ตาม

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 29 March 2019 09:22
ปทุมพร  น้อยชาลี

Author : เกาะติดข่าวด้านการศึกษา, สุขภาพและความงาม, แฟชั่น, เครื่องประดับ, สัตว์เลี้ยง, อาหารและเครื่องดื่ม, สื่อและความบันเทิง, โรงพยาบาล, การรักษา, เครื่องมือแพทย์, โยคะ, สปา ฯลฯ

Latest from ปทุมพร น้อยชาลี

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM