IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า “ได้รับทราบข่าวดีเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ ตามรายงาน Doing Business ในปี 2018 ของธนาคารโลกแล้วถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการประเมินอันดับสูงขึ้นใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 26 ดีขึ้น 20 อันดับ (จากลำดับที่ 46 ในปี 2017) ส่วนด้านการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) ปีนี้ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 36 ดีขึ้น 42 อันดับ (จากลำดับที่ 78 เมื่อปีที่แล้ว) โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และติดอันดับ Top Ten ในการพัฒนาที่ดีที่สุดรองจากประเทศบรูไน”
การประเมินความสะดวกในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนจากทั่วโลก ที่จะนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าไปลงทุนในประเทศนั้น ๆ หากการจัดอันดับดีนักลงทุนก็ย่อมเชื่อมั่น และอยากเข้ามาลงทุน ซึ่งอันดับที่จะออกมาจะเป็นตัวชี้วัด และบอกสถานะของประเทศถึงความพร้อมในการรองรับการลงทุน
ในส่วนของประเทศไทยนั้นรัฐบาลคาดหวังว่า อยากให้ไทยเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ง่ายต่อการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ เมื่ออันดับสูงขึ้นจะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจในไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) ได้กำชับให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการปรับปรุงการให้บริการเริ่มต้นธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของกรมสรรพากร ขึ้นทะเบียนนายจ้างของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน กรณีมีลูกจ้างมากกว่า 10 คนขึ้นไปของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ จุดเดียว (Single point) ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และล่าสุดได้เปิดให้บริการ จดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ซึ่งเป็นระบบช่วยอำนวยความสะดวกที่ชัดเจน มีระยะเวลากำหนดแน่นอน สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง อย่างครบวงจรตั้งแต่จัดตั้ง เปลี่ยนแปลง ตลอดจนเลิกกิจการ ช่วยปรับปรุงขั้นตอนการให้บริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจในลำดับต้น ๆ ตามการจัดอันดับของธนาคารโลกในปีต่อ ๆ ไปอีกด้วย”
“ก้าวต่อไปที่กรมฯ ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1) การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการยื่นจดทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้มีการใช้ระบบ e-Registration มากขึ้น 2) การรวมขั้นตอนการจองชื่อและการจดทะเบียนในระบบ e-Registration ให้เป็นขั้นตอนเดียวกัน และ 3) บูรณาการร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร และสำนักงาน ก.พ.ร. ให้มีการเชื่อมโยงระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) การขึ้นทะเบียนลูกจ้าง และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผ่านแพลทฟอร์ม (Platform) เดียวกัน โดยจะดำเนินการพร้อมกับการสร้างการรับรู้ให้กับภาคเอกชนในวงกว้างมากขึ้น เพื่อร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและสิ่งที่กำลังจะดำเนินการในแวดวงธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อนักลงทุนชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ