January 19, 2025

คลอดเกณฑ์ PPP สัปดาห์หน้า เปิดเอกชนลงทุนรถไฟ-ท่าเรือในอีอีซี

รัฐประกาศเกณฑ์ PPP สัปดาห์หน้า ให้เอกชนลงทุน 100% พร้อมเร่งร่าง TOR 4 โครงการยักษ์ สนามบินอู่ตะเภา-รถไฟความเร็วสูง-ท่าเรือมาบตาพุด-ท่าเรือแหลมฉบังให้เสร็จปลายปีนี้ ขณะที่เอกชนจี้รัฐเคลียร์ 19 ขั้นตอน “ผังเมือง” ให้ชัด

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า

คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าระเบียบกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (PPP) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เตรียมจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเผยแพร่หลักเกณฑ์ เงื่อนไข รายละเอียดที่ชัดเจนได้ โดยจะเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนได้เต็ม 100%

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนลงทุนของ PPP จะขึ้นอยู่กับการเสนอแผนลงทุนเข้ามาตามความสามารถ และตามศักยภาพของแต่ละรายว่าจะลงในสัดส่วนเท่าไร โดยยังคงอยู่ที่ กรศ. เป็นผู้พิจารณาถึงผลตอบแทนและความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเริ่มร่างขอบเขตงาน (TOR) ในปลายปี 2560 และเปิดประมูลต้นปี 2561

ในส่วนของพื้นที่ที่จะประกาศเป็น “เขตส่งเสริมพิเศษ” ที่เอกชนรอลงทุนนั้น ปัจจุบันมี 4 แห่งแล้ว คือ 1.สนามบินอู่ตะเภา 2.เขตนวัตกรรมระเบียง เศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง 3.เขตนวัตกรรมดิจิทัล (Eastern Economic Corridor of Digital Park : EECd) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 4.สมาร์ทพาร์ค ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รูปแบบของ PPP อยู่ระหว่างการศึกษาในทุกโครงการ ที่อาจให้ในรูปแบบของสัมปทาน รูปแบบของสัดส่วนการลงทุนเต็ม 100% รูปแบบของกิจการร่วมค้า (joint venture) รวมถึงรูปแบบที่ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างแล้วส่งต่อให้รัฐบริหารดูแล เป็นต้น โดยจะนำปัจจัยต่าง ๆ ทั้งผลตอบแทน ความเสี่ยง ความสามารถเข้ามาเป็นองค์ประกอบการพิจารณาทั้งหมด

“ในแต่ละโครงการจำเป็นต้องหารูปแบบและทางเลือกที่ดีที่สุด เช่น สนามบินอู่ตะเภา รัฐลงทุนตัวโครงการหลัก ๆ ส่วนโครงการย่อย ๆ มีอีกหลายโครงการ อย่างศูนย์ซ่อมจะเป็นการบินไทยกับแอร์บัส หรือโครงการที่ กนอ.รับผิดชอบอย่างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดเฟส 3 อยู่ระหว่างหารูปแบบการทำ PPP ที่เหมาะสมกับโครงการ และจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (market consultation) ว่าสนใจมากน้อยเพียงใด จากนั้นเสนอเข้าบอร์ด ทำการวิเคราะห์ภายในปลายปี 2560 นี้ คงจะชัดเจนแล้วว่าจะต้อง PPP ในรูปแบบใด”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา “เช็กเครื่องยนต์ EEC พร้อมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0” ว่า EEC มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเดิมของประเทศที่เคยมีฐานการลงทุนอยู่แล้วให้มีการขยายการลงทุน นับว่ารัฐบาลมาถูกทาง เป็นข้อได้เปรียบสำหรับประเทศไทย ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมใหม่จะเข้ามาช่วยพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจะเห็นการขยายการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) มากกว่าการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจาก 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-curve) เนื่องจากนักลงทุนรายเดิมมีแผนลงทุนเพิ่มอยู่แล้วเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เริ่มจากการประกอบรถยนต์ hybrid ของโตโยต้า และค่ายอื่น ๆ ก่อน ส่วนอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่ม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ต่อยอดจากจุดแข็ง การขยายสนามบินอู่ตะเภา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่ม อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีหลายบริษัทลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) แล้ว

ส่วน 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) มีเพียงอุตสาหกรรมการบินและการขนส่ง อย่างศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) ที่จะมีโอกาสลงทุนมากที่สุด เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการขนส่งทางอากาศ และจะได้แรงหนุนจากการขยายสนามบินอู่ตะเภา ส่วนอุตสาหกรรมที่เหลือมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ เอกชนไทยจะชี้แนะให้รัฐบาลนำบทเรียนจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเมื่อ 35 ปีที่แล้วมาเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้ประเทศคู่แข่งช่วงชิงโอกาสดึงนักลงทุนไปจากไทย เช่น หากไทยต้องการอุตสาหกรรมยา การแพทย์ครบวงจร ต้องกำหนดแผน คือให้มหาวิทยาลัยอย่างมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันทำงานวิจัยกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมีอีก 3 สถาบันการศึกษาสร้างบุคลากรมาป้อนอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงจะเป็นแผนที่ไม่ใช่เพียงดึงการลงทุนเข้ามา แต่คือการเพิ่มขีดความสามารถแบบครบวงจร

“นักลงทุนจะเลือกพื้นที่ไหนต้องดูว่าอุตสาหกรรมที่จะไปลงทุนนั้นมีฐานเดิมอยู่หรือไม่ ซึ่งไทยมีฐานเดิมอยู่แล้ว นี่คือจุดแข็งที่ไทยสร้างคลัสเตอร์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ขึ้นได้ ขณะที่ไทยชัดเจนเรื่องนโยบาย การดีไซน์แพ็กเกจที่พร้อมและตอบโจทย์นักลงทุน เมื่อเรามาถูกทางก็ต้องดึงอะไรที่ตรงกับเป้าหมายเรามา อะไรที่ยากอย่างสถาบันระดับโลก ถ้าดึงสหรัฐมายาก ก็ดึงระดับสถาบันในเอเชีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ได้”

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติรอเพียง 2 เรื่อง คือ 1.พ.ร.บ.EEC 2.การกำหนดเขตส่งเสริมพิเศษ เมื่อใดชัดเจนจะเห็นการลงทุนจริง แต่ขณะนี้รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.EEC กลับไม่มีอะไรชัดที่เป็นทางปฏิบัติจริง เช่น ผังเมืองที่ให้อำนาจคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน แต่ไม่มีรายละเอียด ส่งผลให้ภาพรวมของ EEC มีความเสี่ยง และมีความไม่ไว้วางใจจากภาคเอกชนและประชาชน เอกชนจึงขอให้รัฐชี้แจงกระบวนการผังเมืองทั้ง 19 ขั้นตอน และการปลดล็อกผังเมืองภายในต้นปี 2561

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 23 October 2018 11:49
สุรเชษฐ์ บุญพิทักษ์

Author : จบสาขาวิชาเทคโนโลยีก่อสร้าง เกาะติดข่าวก่อสร้าง โยธา อาคาร บ้าน ตึก ถนน รถไฟความเร็วสูง อภิมหาโปรเจค ฯลฯ รวมไปถึงเทคโนโลยีเครื่องจักร นวัตกรรมการก่อสร้าง และเทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่ 

Related items

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM