IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
- ฮัทชิสัน พอร์ท จะลงทุน 20,000 ล้านบาทในท่าเทียบเรือชุด D โดยจะเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย
- หนึ่งในท่าเทียบเรือแห่งแรกๆ ของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบสำหรับปั้นจั่นหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางทั้งหมด โดยหนึ่งในเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สุดในโลกได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือชุด D มาแล้ว
- เมื่อเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือชุด D จะเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังราว 40 เปอร์เซ็นต์
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทยเปิดท่าเทียบเรือชุด D อย่างเป็นทางการ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี หนึ่งในเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้เข้าเทียบท่าท่าเทียบเรือชุด D มาแล้ว โดยท่าเทียบเรือชุดนี้จะติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล (Remote Control Technology) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน พร้อมยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าระดับโลก
ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือชุด D เป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับปั้นจั่นหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางทั้งหมด
โดยจะเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย พร้อมความสามารถในการรองรับบรรดาเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เฟสแรกของท่าเทียบเรือชุด D เปิดให้บริการแล้ว โดยมีความยาวหน้าท่า 400 เมตร ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Super Post Panamax Quay Cranes) จำนวน 3 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Cranes) จำนวน 10 คัน ซึ่งในการก่อสร้างขั้นต่อมา ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 3 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 10 คัน ได้ถูกขนส่งมายังท่าเทียบเรือในวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา และจะพร้อมใช้งานภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า
เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือชุด D จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร ประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ราว 3.5 ล้านทีอียูต่อปี (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) โดยเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเทียบเรือแหลมฉบังได้อีกราว 40 เปอร์เซ็นต์ หรือให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้ทั้งสิ้น 13 ล้านทีอียู ทั้งนี้ การเลือกใช้เทคโนโลยีการควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลจะเพิ่มความปลอดภัย ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ให้กับสายการเดินเรือ รวมถึงผู้ใช้งานท่าเทียบเรือรายอื่นๆ
ล่าสุด เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ได้ต้อนรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเข้าเทียบท่าในประเทศไทย ซึ่งท่าเทียบเรือชุด D เป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในประเทศไทยที่มีศักยภาพรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีความยาวรวมเกิน 350 เมตร โดยได้ต้อนรับเรือขนส่งสินค้า "ONE COLUMBA" ของสายการเดินเรือ โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (Ocean Network Express - ONE)
มร. สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในงานเปิดท่าเทียบเรือชุด D ณ ท่าเรือแหลมฉบังว่า "ขณะนี้ ท่าเทียบเรือชุด D ได้กลายเป็นความจริงแล้ว โดยเราได้รับหนึ่งในเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้าเทียบท่ามาแล้ว ท่าเทียบเรือชุดนี้พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยในระดับโลก ซึ่งจะช่วยยกระดับการปฏิบัติงานของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำนวนเม็ดเงินที่เราได้ลงทุนไปกับท่าเทียบเรือชุดนี้ คงได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ฮัทชิสัน พอร์ท พร้อมลงทุนระยะยาวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอย่างจริงจัง นี่นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่การขนส่งตู้สินค้าลงและขึ้นเรือทั้งหมดถูกปฏิบัติการด้วยปั้นจั่นที่ติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลหรือรีโมทคอนโทรลทั้งหมด ท่าเทียบเรือแห่ง ใหม่นี้ จะยังช่วยเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนในประเทศไทย ผ่านการสร้างโอกาสในการต่อยอดการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ตลอดจนการส่งเสริมวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างยั่งยืน"
เกี่ยวกับฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (Hutchison Ports Thailand - HPT) ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งตู้สินค้าของประเทศไทย บริษัทฯ ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนชายฝั่งของจังหวัดชลบุรีที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ลงมาเพียง 130 กิโลเมตร ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้บริการอำนวยความสะดวกเต็มรูปแบบ รวมถึง บริการสถานีขนถ่ายสินค้า ระบบรถไฟขนส่งรางคู่และมีเส้นทางเชื่อมต่อที่ดีกว่าสู่ทางหลวงสายหลักเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางในที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีจุดให้บริการในแหลมฉบังอยู่ที่ ท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1 D2 และ D3
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นสมาชิกของกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้ลงทุน พัฒนาและดำเนินกิจการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 51 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน เอเซีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ได้ขยายกิจการครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร บริการท่าอากาศยาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งด้วยระบบรางและอู่ซ่อมเรือ