December 18, 2024

เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ เสริมแกร่งไทยสู่ “ฮับโลจิสติกส์”

โลจิสติกส์ เป็นธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องและเริ่มมีผู้เล่นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น “startup” ก้าวเข้ามาแข่งขัน e-Commerce มากขึ้น โดยรัฐบาลมุ่งผลักดันไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ (logistic hub) ในอาเซียน “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงแนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์จาก “นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” CEO บมจ.ลีโอ โกลบอลโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA)

ไทยเบอร์ 2 อาเซียน

จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทยฉบับที่ 3 ต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การบริการและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค

โดยมีดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (logistics performance index-LPI) โดย World Bank ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับที่ 32 จาก 160 ประเทศ และถือเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และอันดับ 7ในเอเชีย ชี้เห็นได้ชัดว่า โลจิสติกส์ไทยมีทิศทางการเติบโตที่สูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการเชื่อมโยงสู่การค้าในระดับภูมิภาคแนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ปีนี้

บริษัทของผมเองปีนี้โต 14% จากครึ่งปีแรกของปีก่อนหน้าที่ลดลงด้วยซ้ำ ปีนี้ภาพรวมดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของสหรัฐ ส่งออกดี กำลังการซื้อต่อเนื่องเพราะสหรัฐเป็นผู้ซื้ออันดับต้น ๆ

ส่วนสงครามการค้ายังไม่น่าเป็นห่วง ใครก็ต้องชักอาวุธของตัวเองขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้วนิสัยทรัมป์พยายามหาข้อต่อรองมากกว่า สุดท้ายก็ compromise (ประนีประนอม) กันได้

ภาพรวมปีนี้ถ้าในแง่ธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ น่าจะโตอย่างน้อย 15% เห็นได้แน่นอน เพราะดูจากครึ่งปีเราทำได้ 14% แล้ว ปกติการส่งออกช่วงไตรมาส 2-3 มากกว่าอยู่แล้วดังนั้นจะเห็นภาพค่อนข้างดีมากในปีนี้

สะท้อนนโยบายรัฐ 

ตอนนี้รัฐบาลมาถูกทาง และดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะเกิดขึ้นจะช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ แต่ยังมีจุดอ่อนขั้นตอนการขอใบอนุญาต ภาครัฐต้องไปศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ ซึ่งกำหนดให้การส่งสินค้าผ่านแดนใช้เอกสารใบเดียว ก็สามารถผ่านพิธีการได้เลย แต่ไทยถึงแม้จะประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วก็ยังต้องใช้แผนดำเนินการเอกสารนานมากและมีข้อจำกัด หากแก้ได้ทุกอย่างลื่นไหลลดขั้นตอนจะดีมาก

และจริง ๆ ภาครัฐควรจะตั้งเป้าไว้เลยว่าประเทศไทยควรจะมีรายได้จากภาคโลจิสติกส์เป็นอีกหนึ่งเสาหลักของจีดีพีประเทศ เหมือนธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยวต่าง ๆ เหมือนอย่างสิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่ตั้งเป้ารายได้จากโลจิสติกส์ด้วย

ถ้าเราตั้งเป้าจะเป็น hub ต้องตั้งเป้าหมายให้ท้าทาย รายได้จากส่วนนี้สำคัญมาก เพราะภูมิศาสตร์เหมาะสมที่สุด อีกทั้งพยายามสนับสนุนให้เราสามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่มีอยู่ให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเข่น ศรีลังกาที่พยายามแข่งกับดูไบและสิงคโปร์ โดยพัฒนาเป็นที่พักเพื่อส่งสินค้าต่อไปยังที่อื่น ๆ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าสิงคโปร์ 60% หรือถูกกว่าดูไบ 30% ขณะที่ต้นทุนประเทศไทยยังสูง มีการเก็บภาษี VAT 7% ถือว่าสูงมาก แล้วจะเอาอะไรไปแข่งกับเขาได้ โลจิสติกส์ด้านการเดินเรือส่วนใหญ่ของประเทศไทย 90% ของสายเดินเรือผู้ส่งออกเป็นสายเดินเรือต่างประเทศ

ส่วนสายเดินเรือของประเทศไทยมีเพียง 10% ถือว่าค่อนข้างน้อย เพราะสายเดินเรือคนไทยจะอยู่แถบภูมิภาคเอเชีย

ขณะเดียวกันไทยเราเป็นจุดศูนย์กลางตัวเชื่อมสำหรับการขนส่งไปยังประเทศต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้การขนส่งผ่านประเทศไทยถือเป็นจุดอ่อนมาก สาเหตุสำคัญคงจะเป็นเรื่อง VAT ผมพยายามประสานเรื่องนี้ หากสำเร็จประเทศจะมีรายได้ไม่ต่ำปีละ 2 แสนล้านบาท

ภาพการลงทุนพื้นที่อีอีซี

ค่อนข้างดี น่าจับตา สิ่งหนึ่งที่ส่งสัญญาณให้เห็นชัดในปีนี้เลยคือการเข้ามาของ แจ็ก หม่า อาลีบาบา อนาคตโลจิสติกส์เราจะเป็นโมเดล e-Commerce ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจากจีนและอาเซียนเอง ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้มองว่าเราไม่แพ้ใครเพียงแต่อาจจะยังไม่อยากทำงานในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มมีไอเดียมากขึ้น ในอีก 10 ปีข้างหน้าคนรุ่นใหม่ที่จะกลับมาพัฒนาตรงนี้ เพราะอย่าลืมว่า e-Commerce มาแรง เชื่อว่าศักยภาพเราไปได้อีกมาก ถ้ามองในกลุ่มอาเซียนเราอาจเป็นรองสิงคโปร์ในเรื่องภาษา แต่ถ้าเรื่องความรู้ ความขยันไม่แพ้ใคร

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 23 October 2018 14:00
บุษบากร เลิศปกรณ์โยธา

Author : เกาะติดข่าวโรงงาน, ข่าวธุรกิจรักษาความปลอดภัย, ธุรกิจบัญชีและการตรอบสอบต่างๆ, ข่าวจากภาครัฐ, สัตว์เลี้ยง, อาหารสัตว์, เทคโนโลยีการเกษตร, ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ฯลฯ

Related items

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM