November 21, 2024

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

รฟม.ชี้ปรับแบบ LRT คงยาก เสนอไม่ทุบสะพานสีมาธานี

ผู้ว่าฯโคราชเผย “LRT” ยังปรับแบบได้ตลอดเวลา ขณะนี้แค่ศึกษาไม่ได้ลงรายละเอียด รถไฟทางคู่เสนอไม่ทุบสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานี ด้าน “นกแอร์” สนใจบินโคราช-เชียงใหม่ พร้อมเสนอราคา 300,000 บาทต่อเที่ยว ส่วนโคราช-คุนหมิง บินปลายปีแน่นอน 

สืบเนื่องจาก ในการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และความคืบหน้าเรื่องสายการบินที่มีการติดต่อว่าจะมาเปิดเส้นทางการบินระหว่าง โคราช-เชียงใหม่ แบบเช่าเหมาลำ โดยเป็นเครื่องบินขนาด ๘๖ ที่นั่ง กำหนดวันที่จะเปิดทำการบินในวันอังคาร, พฤหัสบดี และเสาร์-อาทิตย์นั้น

ล่าสุด“โคราชคนอีสาน” ติดต่อไปยังนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอสัมภาษณ์เรื่องสายการบินที่เสนอขอบินในเส้นทาง โคราช-เชียงใหม่ แบบเช่าเหมาลำ และเรื่องความคืบหน้าและการปรับแบบโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ที่เทศบาลนครนครราช สีมา มีการเสนอขอปรับแบบใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ 

“LRT” ยังปรับแบบได้เสมอ

       สำหรับในประเด็นของการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น  นายวิเชียรแจ้งต่อที่ประชุมกรมการจังหวัดฯ ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดจังหวัดนคร ราชสีมา ภายในปี ๒๕๖๑ จะได้ผู้รับจ้างที่ออกแบบในรายละเอียด เพื่อจะเตรียมการก่อสร้าง และจะได้ก่อสร้างจริงภายในปี ๒๕๖๔

       “โคราชคนอีสาน” จึงสอบถามความเห็นนายวิเชียร จันทรโณทัย กรณีที่เทศบาลนครนคร ราชสีมา โดยการนำของนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรี ออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า จะมีการเสนอปรับแบบการก่อสร้าง LRT ให้เป็นการยกระดับจากพื้นดินด้วย โดยอ้างว่า เกรงจะเกิดปัญหาจราจรด้านหน้าโรงเรียนมารีย์วิทยา รวมทั้งหากมีการทุบสะพานยกระดับบริเวณโรงแรมสีมาธานี ก็ควรจะสร้างเป็นทางลอดนั้น นายวิเชียร ตอบว่า  “เรื่องการปรับแบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ขณะนี้แบบที่ใช้ยังเป็นแบบที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และเป็นเพียงแบบเบื้องต้นเท่านั้น โดยหลังจากศึกษาแล้วจะมีการออกแบบ Detail Design หรือการออกแบบในรายละเอียดต่างๆ โดยในช่วงการออกแบบ Detail Design จะมีการปรับรายละเอียดต่างๆ เช่น เส้นทางจะเลี้ยวหรือจะขึ้นลงตรงไหนบ้าง

 แต่เมื่อถึงเวลานั้นทุกภาคส่วนต้องมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย และเนื่องจากโครงการ LRT เป็นโครงการใหญ่ โดยแบบที่กำลังศึกษาอยู่นั้นเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ดังนั้น ยังสามารถปรับแบบได้ตลอดเวลา

โดยช่วงสิ้นปีนี้ ทาง รฟม.จะเริ่มดำเนินการหาบริษัทที่ปรึกษามารับศึกษารายละเอียดของโครงการฯ และหลังจากนั้นบริษัทที่ปรึกษาจะใช้ระยะเวลาประมาณ ๑ ปี ในการลงพื้นที่และศึกษาเส้นทางตามแบบที่เสนอมา พร้อมกับเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ส่วนแบบที่มีการเสนอมาในขณะนี้ ต่างมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป และเมื่อถึงเวลาศึกษารายละเอียด ต้องนำทุกแบบมาให้บริษัทที่ปรึกษาพิจารณาต่อไป”

ไม่ทุบสะพานหน้าสีมาธานี

       นอกจากนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงกรณีที่จะมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอว่าต้องมีการทุบสะพานยกระดับบริเวณหน้าโรงแรมสีมาธานี ว่า “ล่าสุดคณะผู้ศึกษารถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ได้ติดต่อมาหาผม และเสนอว่าไม่จำเป็นต้องทุบสะพานข้ามหน้าโรงแรมสีมาธานีแล้ว จะทำเป็นทางลอดใต้สะพานแทน โดยจะใช้ทางเรียบแค่ช่วงที่ลอดใต้สะพานเท่านั้น หลังจากนั้นจะยกระดับเหมือนเดิมเพื่อเข้าสู่สถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อลดปัญหาการจราจร นอกจากนี้ สถานีรถไฟไทย-จีน ได้ขยับสถานีรถไฟใหม่ออกไปอีก ๑๖๐ เมตร จากสถานีรถไฟเดิมด้วย” 

       ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ยังให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดประชุมหารือร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา เรื่องงานจ้างปรับแบบรายละเอียดบริเวณอำเภอสีคิ้วและตัวเมืองนครราช สีมา โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ โดยมี ดร.ศิรดล ศิริธร อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ชี้แจงและนำเสนอรายละเอียดว่า 

       เนื่องด้วยการจราจรบริเวณสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานี มีปริมาณการจราจรที่สูงมาก และยังเป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางไปสู่จังหวัดอื่นๆ หากมีการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟโดยการรื้อสะพานดังกล่าว จะส่งผลกระทบให้เกิดการจราจรติดขัดอย่างมาก ประกอบกับโครงการรถไฟไทย-จีน ได้มีการเลื่อนตำแหน่งสถานีนครราชสีมาออกไปทางสถานีจิระ ๑๖๐ เมตร ซึ่งทำให้การออกแบบแนวเส้นทางรถไฟสามารถไต่ระดับเข้าสู่สถานีนครราชสีมาโดยลอดสะพานดังกล่าวได้ ซึ่งสะพานบริเวณหน้าโรงแรมสีมาธานีมี ๖ ช่องจราจร (ไป-กลับ) บริษัทที่ปรึกษาเสนอให้ดำเนินการรื้อสะพานเป็น ๓ ระยะ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ๓๐ เดือน โดยจะรื้อสะพานทีละ ๒ ช่องจราจร แล้วสร้างถนนระดับพื้นทดแทน ๒ ช่องจราจรให้แล้วเสร็จ แล้วค่อยดำเนินการรื้อสะพานส่วนที่เหลือและสร้างถนนระดับพื้นทดแทน 

การจราจรคับคั่ง

       อย่างไรก็ตาม มีการนำเสนอข้อมูลการจราจรบนทางหลวงหมายเลข ๒ พบว่า ถนนมิตรภาพเป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางสู่จังหวัดอื่นๆ ของภาคอีสาน มีการเชื่อมโยงการเดินทางสู่ตัวเมืองนครราชสีมา โดยมีการพาดผ่านแหล่งเศรษฐกิจการค้า สถานศึกษา และสถานีขนส่งผู้โดยสาร และปัจจุบันมีปริมาณการจราจร ๑๑๘,๒๕๙ คัน/วัน ซึ่งหากมีการรื้อสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานี จะมีผลกระทบดังนี้ ๑.เกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินทางสู่ตัวเมือง ๒.โครงข่ายถนนสายรองภายในตัวเมืองต้องรองรับปริมาณจราจรที่เปลี่ยนเส้นทางมาจากถนนมิตรภาพสายหลัก ๓.ส่งผลกระทบต่อความยาวแถวคอยและระยะเวลาแถวคอยสะสม ๔.ถนนมิตรภาพรองรับปริมาณจราจรได้ลดลงกว่า ๓ เท่า ๕.ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในเมืองนครราชสีมาอย่างรุนแรง และ ๖.เกิดปัญหาจราจรประมาณ ๓๐ เดือน ซึ่งที่ปรึกษาด้านจราจร “สนับสนุนแนวทางที่ไม่ต้องรื้อสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานี” เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาและอุปสรรคด้านการจราจรที่จะต้องขึ้นในอนาคต หากการออกแบบทางวิศวกรรมสามารถดำเนินงานได้

ให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็น

       สำหรับงานออกแบบแนวเส้นทางบริเวณสถานีนครราชสีมา มีการออกแบบให้มีถนนลอดทางรถไฟ ๘ จุด (ท่อเหลี่ยม) ได้แก่ ถนนซอย จำนวน ๓ ช่อง, ถนนมุขมนตรีซอย ๒๓ จำนวน ๑ ช่อง, ซอยมิตรภาพ ๒๐ จำนวน ๑ ช่อง, ซอยทรายเงิน ๑ ช่อง, ถนนไชยณรงค์ ๑ ช่อง และซอยเบญจรงค์ ๑ ช่อง โดยสถานีสีคิ้ว จะมีสะพานรถไฟ ช่วง กม.๒๒๓+๗๔๐–๒๕๕+๒๔๐ (๑,๕๐๐) และยกระดับทางรถไฟ ช่วง กม.๒๒๓+๗๔๐–๒๒๕+๗๔๐ (๑,๘๕๐) นอกจากนี้ การแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟมีอยู่ ๒ รูปแบบด้วยกัน คือ ๑.รูปแบบทางลอดบริเวณสะพานรถไฟ (Railway Bridge) บริเวณที่คันทางรถไฟมีการยกระดับต่อเนื่องและเกิดจุดตัดกับถนนระดับพื้น ซึ่งที่ปรึกษาจะพิจารณาตำแหน่งที่มีความเหมาะสมที่จะสร้างสะพานรถไฟและเป็นถนนลอดระกับพื้นไปพร้อมกัน ๒.รูปแบบทางบริการ (Service Road) กรณีที่ถนนท้องถิ่นไม่ห่างกัน ซึ่งที่ปรึกษาจะพิจารณาเส้นทางที่มีปริมาณรถผ่านมากกว่าเป็นทางหลัก และใช้ทางบริการเป็นทางเชื่อมระหว่างถนนที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามาใช้ทางลอดจุดเดียวกัน

       ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวอีกว่า จะมีการปรับแบบ จะทุบหรือไม่ทุบสะพานทางแยกบริเวณโรงแรมสีมาธานีหรือไม่นั้น ตนต้องการให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็น จึงจะจัดเวทีขึ้นในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ 

เริ่ม LRT สีเขียวเข้ม

       จากการติดตามข่าวของ “โคราชคนอีสาน” พบว่า นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เคยเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า อยู่ระหว่างเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.นครราชสีมา เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้จะมอบอำนาจให้ รฟม. สามารถลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) ใน จ.นครราชสีมาได้ ซึ่งเดือนตุลาคมนี้จะออกประกาศจัดซื้อจัดจ้างที่ปรึกษาในวงเงิน ๑๐๐ ล้านบาท เพื่อศึกษารายละเอียด ความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้ารางเบา สีเขียวเข้ม เริ่มจากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง ๑๑.๑๗ กิโลเมตร รวม ๑๘ สถานี งบประมาณลงทุน ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท เป็นเส้นทางแรกจากทั้งหมด ๓ เส้นทาง คือ สายสีส้ม และสายสีม่วง ซึ่งรฟม.จะสร้างสายสีเขียวเข้มก่อน คาดว่าจะใช้เวลาคัดเลือกที่ปรึกษา ๓ เดือน ศึกษารายละเอียดอีก ๑๐ เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการพร้อมๆ กับรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ คือในช่วงปี ๒๕๖๙-๒๕๗๐

ยกระดับ LRT คงยาก

      ส่วนกรณีที่เทศบาลนครนครราชสีมาต้อง การให้รถไฟฟ้าเป็นทางยกระดับ โดยใช้รางร่วมกับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น นายภคพงศ์ กล่าวว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะ รฟท.ออกแบบทางไว้สำหรับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ซึ่งเป็นรถไฟเชื่อมระหว่างจังหวัดกับจังหวัดแตกต่างกับรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเป็นรถไฟภายในตัวเมืองนครราชสีมา

       อนึ่ง ในส่วนของการดำเนินการรถไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ นั้น มีข่าวจากผู้บริหาร สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) ว่า สนข.ศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ ๕ จังหวัดเสร็จแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก วงเงินลงทุน ๒๐๘,๘๒๑ ล้านบาท กรอบพัฒนา ๑๐ ปี โดยรัฐและเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ๓๐-๔๐-๕๐ ปี เพราะรัฐบาลต้องการให้เอกชนกระจายการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งระบบที่เหมาะสมจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบาแบบ Light Rail และ Tram โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษารูปแบบ PPP และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ๒ จังหวัดคือ ภูเก็ตจังหวัดแรกและเชียงใหม่ ส่วนโคราชจะเสนอ ครม.ในเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่ จ.ขอนแก่นและพิษณุโลก ต้องรอพิจารณาจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานเดิมกำหนดประชุมวันที่ ๑๙ กันยายนที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ซึ่งที่ จ.พิษณุโลก มอบให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนขอนแก่นต้องการดำเนินการเอง หาก คจร.เห็นชอบจะส่งแผนแม่บทให้จังหวัดดำเนินการต่อไป ส่วนการลงทุนจะเป็นแบบ PPP หรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของจังหวัด โดยรถไฟฟ้าขอนแก่นเป็นครั้งแรกที่ ๕ เทศบาลของจังหวัดจะทำเอง ถ้าลงทุนแบบ PPP ต้องศึกษารูปแบบที่เหมาะสมจะเป็น PPP net cost หรือ PPP gross cost ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.๒๕๕๖

          สำหรับจังหวัดนครราชสีมา เป็นรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail วงเงิน ๓๒,๖๐๐ ล้านบาท มี ๓ ระยะ ระยะที่ ๑ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ วงเงิน ๑๓,๖๐๐ ล้านบาท มีสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ๙.๘๑ กม. ๑๗ สถานี วงเงิน ๘,๔๐๐ ล้านบาท และสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๑.๑๗ กม. ๑๘ สถานี วงเงิน ๕,๒๐๐ ล้านบาท, ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘ วงเงิน ๔,๘๐๐ ล้านบาท มีสายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๑.๙๒ กม. ๙ สถานี และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง วงเงิน ๑๔,๒๐๐ ล้านบาท รฟม.จะจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบ PPP คู่ขนานไปกับ EIA

ขอนแก่นพร้อมทำ LRT เอง

       ในขณะที่ LRT ขอนแก่นนั้น เป็นโครงการที่จัดทำโดยบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) ซึ่ง ๕ เทศบาลของขอนแก่นร่วมจัดตั้ง ซึ่งมีการหารือกระทรวงการคลังถึงรูปแบบการลงทุนที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยส่งเอกสารให้พิจารณาแล้ว หาก คจร.เห็นชอบจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จากนั้นจะประกาศเป็นวาระจังหวัด แล้วเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางศิลาฤกษ์ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ซึ่งปัจจุบัน การดำเนินงานอยู่ใน ๓ ขั้นตอนสุดท้าย คือ ๑.เข้าที่ประชุม สนข. ๒.เร่งเรื่องการแลกเปลี่ยนที่ดินของเทศบาลกับกรมการข้าว ซึ่งเป็นที่ดินศูนย์สถานีวิจัยข้าว อยู่ตรงข้ามเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น เนื้อที่ ๒๑๖ ไร่ โดยขอใช้ ๒๐๐ ไร่ ทำศูนย์ซ่อมบำรุง และพื้นที่พัฒนาเพื่อหารายได้ (TOD) หากไม่ทำ TOD ค่าโดยสารอยู่ที่ ๒๕ บาท แต่ถ้าทำ ค่าโดยสารเพียง ๑๕ บาท และ ๓.พิจารณาว่าโครงการนี้ขัดกฎหมายอะไรหรือไม่

       โดยในประเด็นของจังหวัดขอนแก่น นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้บริหาร บริษัท ขอน แก่นพัฒนาเมือง จำกัด เคยให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่า LRT ขอนแก่น ไม่ได้ต้องการรับการอุดหนุน งบฯ จากรัฐบาล แต่ต้องการให้ คจร.อนุมัติให้เทศบาลทั้ง ๕ แห่ง เป็นผู้ดูแลและดำเนินโครงการรถไฟรางเบา คาดว่าใช้งบฯ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท คืนทุนใน ๑๒ ปี แบ่งเป็นเงินระดมทุนจากชาวขอนแก่น ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ล้านบาท ที่เหลือกู้ต่างประเทศ ได้แก่ จีน และประเทศในแถบยุโรป โดยมีแผนให้ KKTS เข้าตลาด หลักทรัพย์ฯ ใน ๕-๗ ปีข้างหน้า และจะให้สิทธิ์เกษตรกรที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกว่า ๘๐๐,๐๐๐ คนในขอนแก่น ซื้อหุ้นในราคาพาร์ โดยให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลที่แม้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ LRT โดยตรง ได้รับประโยชน์จากเงินปันผล รวมถึงที่ดิน ๒๐๐ ไร่ ที่จะแลกกับ กรมการข้าว จะแบ่งส่วนพัฒนาเป็นคอนโดฯ สำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้มีโอกาสได้อยู่กลางเมือง  เดินทางได้สะดวก

ที่มา : โคราชคนอีสาน

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 01 December 2018 07:34

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM