IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
ย้ำโครงการดังกล่าวมีประเด็นปัญหาทางด้านวิชาการ ทั้งเรื่องการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงเวลาวิกฤติ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่ง
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA)เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อพัฒนาพื้นที่สองฝั่งใช้เป็นเส้นทางสัญจร รวมทั้งใช้สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการต่าง ๆ รวมระยะทางรวมทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการ ซึ่งจะนำร่องการก่อสร้างโครงการทั้ง 2 ฝั่งในช่วงแรกจากบริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า รวมระยะทางรวม 14 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในระหว่างการเริ่มประมูลการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมีประเด็นปัญหาทางด้านวิชาการหลายอย่าง ทั้งเรื่องการก่อสร้างซึ่งจะต้องรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งอาจจะเกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้แล้วอาจกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงเวลาวิกฤติ และอีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนฯลฯ
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะองค์กรวิชาชีพที่มีพันธกิจด้านเมืองและสิ่งแวดล้อม จึงมีความประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะเรื่อง “ทางเลียบเจ้าพระยาสร้างสรรค์หรือทำลาย”เพื่อเปิดรับฟังข้อคิดเห็นอย่างรอบด้านจากทั้งองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ-เอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับการจัดกิจกรรมเสวนาเพื่อเปิดเวทีสาธารณะในครั้งนี้สมาคมฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ อาทิ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อ.ขวัญสรวง อติโพธิ อ. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ นายยศพล บุญสม
รวมถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมชลประทาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สถาบันอาศรมศิลป์ สมาคมสถาปนิกผังเมือง มูลนิธิสถาบันการเดินและจักรยานไทย สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กรมส่งเสริมสุขภาพ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานเขตบางพลัด พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญๆ เช่น การรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การระบายน้ำในช่วงเวลาวิกฤติ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนริมน้ำ ฯลฯ