IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมทางหลวง (ทล.) จัดทำผลการศึกษาโครงการทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) กรุงเทพฯ – ชลบุรี ระยะทาง 18.5 กม. เงินลงทุน 35,000 ล้านบาท ที่กรมทางหลวงว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท วิชั่น อี คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษานั้น
เบื้องต้น สจล.เห็นว่าโครงการนี้ไม่ได้แก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก โครงการดังกล่าวทำหน้าที่เพียงรับปริมาณรถจากสนามบินสุวรรณภูมิและจากภาคตะวันออกเพียงอย่างเดียว และไม่มีการเชื่อมโยงกับบริเวณอื่นๆ ที่มีปัญหาจราจร เพราะมีจุดขึ้นลงของรถแค่บริเวณต้นทาง คือ ถ.ศรีนครินทร์ช่วงกม.0+000 และปลายทางที่กม.ที่18+553 เท่านั้น บริเวณที่มีปัญหาจราจรคับคั่ง เช่น ถ.กาญจนาภิเษก, สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง (ICD), ถ.ฉลองกรุง จะยังไม่ได้รับการแก้ไขเหมือนเดิม
ขณะที่การเวนคืน ผลการศึกษานี้ระบุเพียงว่าจะเวนคืนเฉพาะจุดกลับรถสะพานเกือกม้าแค่ 5 เมตรเท่านั้น แต่เมื่อ สจล.ลงพื้นที่สำรวจจริงพบว่า จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่สองข้างทางริมรั้วเป็นจำนวนมาก
ซึ่งโครงการนี้โครงสร้างทั้งหมดจะอยู่บริเวณริมรั้วมอเตอร์เวย์ทั้งสองข้าง โดยทล.ให้เหตุผลว่า มีราคาถูกกว่าการก่อสร้างบริเวณกลางมอเตอร์เวย์
แต่เมื่อ สจล.นำผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ กลับพบว่า การก่อสร้างบริเวณกลางมอเตอร์เวย์จะทำให้ค่าก่อสร้างถูกลง 11,000 ล้านบาท เพราะไม่ต้องเวนคืน ไม่ต้องก่อสร้างระบบระบายน้ำทดแทน และไม่ต้องทำถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ใหม่ และหากในอนาคตจะมีโครงการอื่นมาเชื่อมต่อก็สามารถเชื่อมต่อได้ทันที โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนที่ดินของชาวบ้านที่อยู่ 2 ข้างริมรั้วมอเตอร์เวย์
“โครงการนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ทล.มีทางเลือกไม่ใช่ว่าไม่มี เอาแต่อ้างว่าถ้าสร้างตรงเกาะกลางจะกระทบการจราจรบนมอเตอร์เวย์ ถ้ากระทบก็ต้องกระทบ ปัจจุบันเทคโนโลยีก่อสร้างมีความก้าวหน้าที่สามารถลดปัญหาด้านระยะก่อสร้างได้ แต่ถ้าสร้างบริเวณริมรั้วมอเตอร์เวย์ทั้งสองข้าง ผลกระทบจะมีตลอดชาติ”
ดังนั้น สจล.จึงมีความเห็นว่า ควรจะศึกษาทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด เพราะงบประมาณก่อสร้างสูงถึง 35,000 ล้านบาท ไม่ควรจะมีประโยชน์เพียงแค่เอารถเข้าออกสนามบินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีประโยชน์มากกว่านี้ และควรบูรณาการการทำงานมากกว่านี้
โดยจะส่งข้อมูลและผลสรุปทั้งหมดไปให้กรมทางหลวง และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในเดือน ต.ค.นี้ โดยสจล.จะตั้งทีมศึกษาเฉพาะขึ้นมา เพื่อสำรวจความเห็นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้เพิ่มเติม
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ