IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการจราจรในถนนรามคำแหงอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และถนนลาดพร้าวที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่ได้มีการจัดเส้นทางรถ ขสมก.ขึ้นทางด่วนเพื่อเลี่ยงแนวก่อสร้าง
ซึ่งคณะทำงานติดตามผลบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มี พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ ได้ติดตามและหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของ สนข.ได้มีแนวคิดเพิ่มเติมในการเพิ่มเส้นทางเดินเรือเพื่อเชื่อมการเดินทางจากคลองย่อย ที่เชื่อมกับคลองแสนแสบ และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า MRT และ BTS ได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้าและเย็น เพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงที่รถไฟฟ้ายังก่อสร้างไม่เสร็จ
โดย สนข.จะศึกษาลำคลองย่านลาดพร้าว รามคำแหง มีนบุรี และบางกะปิ ที่มีศักยภาพเหมาะสม และมีชุมชน หมู่บ้านริมคลอง เพื่อจัดทำเส้นทางเดินเรือขนส่งประชาชนในย่านลาดพร้าว รามคำแหง มีนบุรี และบางกะปิ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 เดือน จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะทำงานติดตามผลบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากสามารถดำเนินการได้จะทดลองเดินเรือก่อน
ทั้งนี้ ต้องหารือกับกรมเจ้าท่า (จท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการกำหนดจุดท่าเรือรับส่งผู้โดยสาร จัดหาของเรือที่มีความปลอดภัย และอาจจะเป็นการให้บริการฟรีในช่วงแรกเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า หากได้รับการตอบรับจะพัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้เรือโดยสารเดินทางต่อไป
“ช่วงแรกอาจจะเป็นเรื่องของความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ใช้เรือที่อยู่ในการช่วยเหลือน้ำท่วมของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มาให้บริการหรือใช้เรือท้องแบน หรือใช้เรือทหารมาช่วย เป็นต้น เพราะเป็นการขนประชาชนที่อาศัยตามหมู่บ้านในคลองย่อยมาส่งยังท่าเรือ เพื่อต่อเรือขนาดใหญ่ รูปแบบจะเป็นเหมือนชัตเทิลโบ๊ต ซึ่งจะส่งเสริมการเดินทางที่ไร้รอยต่อได้เป็นอย่างดี“